ความสำเร็จของซีพีในธุรกิจผลิตอาหารไก่ และโอกาสของภาคเอกชนไทยในอินเดีย
อินเดียเป็นประเทศใหญ่ มีศักยภาพสูงมาก ถ้าคนอินเดียรับประทานไก่ร้อยละ 10 ก็จะเป็นตลาดขนาดใหญ่ รวมประมาณ 120 ล้านคนเลยทีเดียว
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีในชื่อย่อว่า ซีพี เห็นโอกาสดังกล่าว จึงได้เข้ามาลงทุนสร้างหลักปักฐานในอินเดียก่อนใคร นับจนถึงทุกวันนี้ ก็รวมเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว
ดิฉันได้มีโอกาสพบหารือกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ อินเดีย หรือซีพีอินเดียหลายครั้ง ทราบว่า บริษัทซีพีอินเดียเข้ามาลงทุนในหลายสาขา เช่น ธุรกิจอาหารสัตว์บก สัตว์น้ำ เมล็ดพันธุ์ รวมถึงการทำฟาร์มเลี้ยงไก่ โรงฟักไข่
โดยในส่วนของธุรกิจสัตว์บกหรือผลิตอาหารไก่นั้น ซีพีอินเดียได้เริ่มกิจการธุรกิจที่เมืองเจนไนเป็นแห่งแรกเมื่อปี 2540 โดยสร้างโรงงานอาหารไก่ และฟาร์มไก่เนื้อระบบ contract farming ซึ่งมีกำลังการผลิต 40,000 ตัวต่อสัปดาห์
ต่อมาเมื่อกิจการลงตัวจึงได้ขยายกิจการไปยังรัฐต่างๆ โดยได้สร้างฟาร์มไก่พันธุ์และโรงฟักที่เมืองบังคาลอร์ เมื่อปี 2541 และเมื่อปี 2542 ได้ย้ายโรงงานอาหารไก่มาที่เมืองบังคาลอร์
หลังจากนั้น บริษัทซีพีอินเดียได้ขยายกิจการอย่างต่อเนื่องโดยตั้งโรงงานอาหารสัตว์แห่งที่ 2 ที่เมือง Vijayawada รัฐอานธรประเทศ เมื่อปี 2546 และขยายกิจการไก่เนื้อ ไก่พันธุ์และโรงฟักไปที่เมืองปูเณ่ รัฐมหาราษฏระ เมื่อปี 2550 และ 2552
และล่าสุด เมื่อปี 2553 ซีพีอินเดียได้จัดตั้งโรงงานอาหารสัตว์ที่ทันสมัยที่สุดขึ้นที่เมือง Chittoor รัฐอานธรประเทศ และสร้างโรงฟักไข่ที่เมือง Vellore รัฐทมิฬนาฑู และเมื่อปี 2554 ได้สร้างโรงงานอาหารสัตว์ที่เมืองปูเณ่
ผู้บริหารของซีพีอินเดียท่านหนึ่งที่เมืองบังคาลอร์เคยเล่าให้ฟังว่า การจัดตั้งโรงงานของบริษัทที่ได้กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ของอินเดียนั้น ส่วนใหญ่จะคำนึงถึงความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ รวมทั้งการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบเพื่อการผลิตด้วย
บริษัทซีพีอินเดียมีเป้าหมายที่จะดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร คือ ดำเนินธุรกิจโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มไก่พันธุ์ โรงฟักไข่ ฟาร์มไก่เนื้อ และโรงงานชำแหละและแปรรูป
นอกจากนี้ ซีพีอินเดียยังได้เริ่มรุกธุรกิจอาหาร โดยเปิด Outlet ในชื่อไก่ทอดห้าดาว ซึ่งเป็นของบริษัทรวม 8 ร้าน และมีร้าน franchise รวม 135 ร้าน และร้าน 5 Star Cafe 1 ร้าน โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีโรงหมักไก่และร้านไก่ทอดห้าดาวกระจายตัวอยู่ที่เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู รัฐเกรละและรัฐกัว
การที่บริษัทซีพีอินเดียสนใจเข้ามาลงทุนทางใต้ของอินเดีย ก็เนื่องจากชาวอินเดียทางตอนใต้บริโภคเนื้อสัตว์มากกว่าทางภาคเหนือเกือบเท่าตัว โดยปัจจุบันคนอินเดียบริโภคไก่ประมาณ 2 ก.ก./คน/ปี ขณะที่คนไทยบริโภคไก่ 15 ก.ก./คน/ปี ซึ่งยังมีปริมาณไม่มาก แต่อินเดียเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ และซีพีอินเดียเองก็เชื่อว่าจะมีโอกาสในการขยายกิจการอีกมาก
ในส่วนของการตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์นั้น ผู้บริหารของซีพีอินเดียเล่าว่า เลือกที่จะตั้งในภาคใต้ โดยเฉพาะที่รัฐอานธรประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด และกากถั่ว
นอกจากนี้ เกษตรกรอินเดียยังมีความสามารถในการเลี้ยงไก่ โดยการเลี้ยงไก่ส่วนใหญ่ในระบบ contract farming
โดยปกติของบริษัทจะเลี้ยงไก่ในโรงเรือนแบบปิด ซึ่งต่างจากการเลี้ยงไก่ทั่วไปในอินเดียที่เป็นแบบเปิด โดยเมื่อเกษตรกรเลี้ยงไก่ได้ระยะเวลาและขนาดที่เหมาะสมแล้ว ก็จะนำไก่มาจำหน่ายให้บริษัท สำหรับราคาไก่นั้น เป็นไปตามราคาตลาดที่ขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานตามที่สมาคมผู้เลี้ยงไก่จะได้ประกาศในแต่ละวัน ปัจจุบัน บริษัทซีพีอินเดียมีส่วนแบ่งการตลาดไก่สดอยู่ในลำดับ 3 ของอินเดียหรือประมาณร้อยละ 10
ผู้บริหารของซีพีอินเดียอีกท่านหนึ่ง ได้บอกเล่าถึงโอกาสการลงทุนในอินเดียเผื่อจะเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนท่านอื่นๆ ว่า ปัจจุบันอินเดียเปิดกว้างให้เข้ามาลงทุน โดยกิจการบางสาขาสามารถเข้ามาลงทุนได้ 100% และตามนโยบาย Make in India ของรัฐบาลนายโมดี ก็มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกให้การลงทุนในอินเดียง่ายขึ้นกว่าเดิม
สิ่งที่นักธุรกิจไทยต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนก็คือ การช่วยส่งเสริมภาคเอกชนไทยให้เป็นที่รู้จักของคนอินเดียมากขึ้น เพื่อเสริม profile ของนักลงทุนจากประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ฝากข้อคิดเพิ่มเติมว่า การมาลงทุนในอินเดีย ภาคเอกชนไทยควรเตรียมตัวศึกษากฏระเบียบต่างๆ ให้ละเอียดรอบคอบ ทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในระดับรัฐบาลกลางและระดับรัฐ ทั้งในส่วนของกฎหมายจัดตั้งโรงงาน การขอใบอนุญาต และโครงสร้างภาษีที่มีความซับซ้อน และแตกต่างกันในแต่ละรัฐ
รวมทั้งควรจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นของอินเดีย เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงคนอินเดียซึ่งอาจมีความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและมุมมองด้านการทำงานจากประเทศไทย โดยเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำงานในอินเดียที่จะต้องปรับตัวให้ได้ แทนที่จะเรียกร้องให้คนอินเดียเป็นฝ่ายปรับตัวเพียง ด้านเดียว นอกจากนี้ การเข้ามาทำตลาดอินเดีย ต้องใช้ระยะเวลา และความอดทนสูง
ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมาย คือ ความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า ผู้บริหารของซีพีอินเดีย จึงต้องยึดหลักการทำงานในอินเดียว่า “ต้องมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ” โดยในวันนี้ เวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี หลักการดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ภาคเอกชนไทยทำได้!!!
*******************************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน