อภิมหาโครงการในรัฐคุชราต ไทยมาช้ายังดีกว่าไม่มา
ผู้บริหารระดับสูงรัฐคุชราตเชิญเอกชนไทยใช้โอกาสลงทุนในอภิมหาโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับการพัฒนารัฐให้ขึ้นมาอยู่แนวหน้าของอินเดียและมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล
วิสัยทัศน์ของผู้บริหารรัฐคุชราต ก้าวข้ามการเป็นศูนย์การผลิตสินค้าและเขตอุตสาหกรรมไปแล้ว โดยขั้นต่อไปคือการพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลาง (hub) ของธุรกิจและกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ
จากเดิมที่รัฐขึ้นชื่อเรื่องแหล่งผลิตสินค้าต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพชรและสิ่งทอ ต่อมา ขยับตัวเองขึ้นเป็นฐานอุตสาหกรรม ทั้งทางด้านพลังงาน ยา และอุตสาหกรรมยานยนต์ จนทำให้มีนิคมอุตสาหกรรมทั่วทั้งรัฐกว่า 180 แห่ง และเขตเศรษฐกิจพิเศษกว่า 60 แห่ง
จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่ทำให้นักสังเกตการณ์ธุรกิจต้องเหลียวมามองคุชราตด้วยความฉงน คือเมื่อบริษัทรถยนต์ชั้นนำของอินเดียอย่างทาทา ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตรถยนต์รุ่นประหยัด “ทาทานาโน” มาที่รัฐคุชราตภายในเวลาเพียง 14 เดือน เมื่อปี 2552 เนื่องจากเจอมรสุมเรื่องที่ดินโรงงานเดิมในรัฐเบงกอลตะวันตก
ทำให้ธุรกิจต่างๆ หมายตาตั้งเป้าที่รัฐคุชราตมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ธุรกิจอินเดียเท่านั้น แต่ธุรกิจต่างประเทศก็ต่างมาจับมือลงทุนทำธุรกิจในรัฐคุชราตมากขึ้นแล้ว ทั้งจากยุโรป หรือยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจของเอเชียอย่างญี่ปุ่นและสิงคโปร์
แม้แต่ Bombadier ที่เชี่ยวชาญการผลิตตู้รถไฟฟ้าใต้ดิน และได้รับใบสั่งให้ทำตู้รถสำหรับระบบไฟฟ้าใต้ดินของ Metro ในเมืองนิวเดลี ก็ยังมาตั้งโรงงานในคุชราต เนื่องด้วยความพร้อมเรื่องพลังงาน สหภาพแรงงานที่ไม่ก่อปัญหา และแหล่งวัตถุดิบที่อยู่ใกล้มือ
นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่รัฐคุชราตโชว์ให้แก่คณะของทูตไทยได้ชมกับตาตัวเองในระหว่างการเยือนเมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่วิสัยทัศน์ของรัฐยังไม่หยุดยั้งแค่นี้
คุชราตจะก้าวสู่ขั้นที่สี่ของแผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ คือ 1) การพัฒนา Delhi-Mumbai Industrial Corridor (DMIC) 2) เขตการลงทุนพิเศษ (Special Investment Region – SIR) Dholera 3) เขตลงทุนปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมี 4) Gujarat International Finance Tech City (GIFT) และ 5) สร้าง Knowledge corridor และ integrated township
สำหรับเอกชนไทยนั้น รัฐคุชราตคัดสองโครงการแรกให้ลองไปพิจารณาโอกาสก่อน
ในเส้นทาง DMIC (Delhi-Mumbai Industrial Corridor) ที่พาดผ่านรัฐนั้น คุชราตจะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบที่เป็นที่ตั้งของท่าเรือจุดแรกบนเส้นทางเศรษฐกิจนี้ หากเดินทางมาจากนิวเดลี อีกทั้ง เส้นทาง DMIC ยังครอบคลุมพื้นที่รัฐคุชราตมากที่สุดกว่า 553 กิโลเมตร (36.89%) กินบริเวณของรัฐกว่า 62% และมีประชากรกว่า 74% (37.3 ล้านคน) จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้
เรียกได้ว่า ได้เปรียบทางยุทธศาสตร์พื้นที่และกำลังคนที่พร้อมจะร่วมพัฒนาเส้นทาง ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ชาวคุชราตขึ้นชื่อเรื่องหัวการค้าและน่าจะไม่ใช่คนเหลวไหลใช้ไม่ได้ เนื่องจากรัฐบ้านเกิดของมหาตมะ คานธีนี้ บริโภคแต่อาหารมังสวิรัติ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และของมึนเมา! (vegetarian and dry state)
ส่วนเขตการลงทุนพิเศษ Dholera (Dholera SIR) เป็นโครงการพัฒนาเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองอาห์เมดาบัด มีการเชื่อมต่อคมนาคมทางรางและทางถนนกับเขตอุตสาหกรรม และมีแผนจะสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ ทั้งนี้ การลงทุนพัฒนาส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนด้านโครงการพื้นฐาน และรัฐบาลรัฐคุชราตต้องการจะให้เอกชนมาร่วมทุนกับรัฐบาลในลักษณะ Public Private Partnership (PPP) ซึ่งกำหนดรูปแบบการลงทุนไว้ใน GID Act 1999 ที่เป็นกฎหมายดูแลส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมของรัฐ
รัฐคุชราตยังจัดตั้งหน่วยงาน Gujarat Infrastructure Development Board (GIDB) ที่มีมุขมนตรีเป็นประธาน เพื่อดูแลและส่งเสริมการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นการเฉพาะ มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มากมาย ทั้งท่าเรือ ถนน ระบบราง พลังงาน โครงสร้างเมือง สาธารณสุข การศึกษา น้ำ ระบบขนส่งเมือง และโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศ
นอกจากนี้ ยังมี iNDEXTb หรือ Industrial Extension Bureau คอยดูแลการลงทุนให้ราบรื่น และโฆษณาประชาสัมพันธ์ ชักชวนให้ต่างชาติมาลงทุนในรัฐ โดยทำ Roadshow ไปตามประเทศต่างๆ ซึ่งเร็วๆ นี้ อาจจะมีหวังที่ผู้แทนหน่วยงานนี้ไปพบปะกับนักธุรกิจไทยที่กรุงเทพฯ thaiindia.net จะแจ้งยืนยันให้ทราบแน่นอน
การติดตามทูตไทยไปสำรวจรัฐคุชราตครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานของคุชราตเดินทางมาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง กระดูกสันหลัง (backbone) ของการพัฒนาเศรษฐกิจจึงแข็งแกร่ง แต่ยังมีงานรออีกมากมายคอยให้ธุรกิจไทยมาแสวงหาโอกาส แม้ทูตไทยจะกล่าวกับนายนาเรนดร้า โมดิ มุขมนตรีรัฐว่าไทยอาจจะช้าตามหลังประเทศอื่นที่เข้ามาเคาะประตูคุชราตก่อน แต่ศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยและคุชราตที่น่าจะส่งเสริมเกื้อกูลกันได้ ก็น่าจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
สำหรับเอกชนไทยแล้ว จึงไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับโอกาสต่างๆ ในคุชราต แม้จะมาช้า แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา
คลิกที่นี่เพื่ออ่านข้อมูลแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐคุชราตโดยนาย A.K. Sharma ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) Gujarat Infrastructure Development Board (GIDB)
คณิน บุญญะโสภัต
รายงานจากกรุงนิวเดลี
1 มิ.ย. 55