ทูตไทยนำนักลงทุนบุกรัฐคุชราต ฮับอุตสาหกรรมดาวรุ่งอินเดีย
ตีพิมพ์ในหน้า 1-2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันอาทิตย์ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,775 วันที่ 16-19 ก.ย. 2555
ทูตไทยในอินเดียเตรียนำคณะนักธุรกิจไทยบุกลงพื้นที่ปลายเดือนกันยายน สำรวจช่องทางการลงทุนใน “คุชราต” ฮับอุตสาหกรรมการผลิตของอินเดียที่กำลังเนื้อหอม ชี้เป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพสูง ทั้งขนาดของตลาดในประเทศเองและประโยชน์จากการผลิตเพื่อการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์จารกข้อตกลงการค้าเสรีที่มีกับนานาประเทศรวมทั้งไทยและอาเซียน
นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี กล่าวในงานสัมมนาชี้ช่องทางการทำธุรกิจและการลงทุนในอินเดีย หัวข้อ Doing Business in India : Forum for Thai Executives ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2555 ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี โดยความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและกรุงเทพธุรกิจ ว่า อินเดียเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับผู้ประกอบการของไทย ซึ่งในเวลานี้ไม่ควรจำกัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอินเดียเฉพาะในด้านการส่งออก-นำเข้า ระหว่างกัน แต่อยากให้ตระหนักถึงศักยภาพของอินเดียในแง่ของการเป็นฐานการลงทุนด้วย แม้ว่าปัจจุบันจะมีบริษัทชั้นนำของไทยหลายรายเข้าไปปักหลักลงทุนอยู่ในอินเดียบ้างแล้วก็ตาม อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บริษัทอิตาเลียนไทยฯ บริษัทพฤกษาฯ บริษัทเอสซีจีฯ บริษัทไทยซัมมิทกรุ๊ปฯ เป็นต้น แต่มูลค่าการลงทุนรวมของไทยในอินเดียก็ยังไม่ถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังไม่มากพอเมื่อพิจารณาจากศักยภาพของอินเดียที่เป็นตลาดใหญ่ที่มีผู้บริโภคกว่า 1,200 ล้านคน และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
“เราไม่ควรมองแต่ด้านส่งออกอย่างเดียว ควรมองเพื่อการเข้าไปผลิตด้วย สิ่งที่สถานทูตพยายามทำตลอดมาคือการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักธุรกิจไทยเกี่ยวกับตลาดอินเดียซึ่งมีการเปลี่ยนไปมาก เราต้องเปลี่ยนทัศนคติเก่าๆ ทิ้งไป แล้วมองดูอินเดียในฐานะประเทศที่กำลังเจริญก้าวหน้า เร็วๆ นี้เขาเพิ่งเป็นฐานส่งจรวดนำดาวเทียมของญี่ปุ่นและฝรั่งเศสออกไปโคจร จะเห็นได้ว่าเขาไม่ธรรมดาในแง่ของความก้าวหน้า อุตสาหกรรมยาของเขาก็แข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกับประเทศในโลกตะวันตก” เอกอัครราชทูตไทยกล่าวและว่า จากการไปเยือน 13-14 รัฐในอินเดียเพื่อแสวงหาข้อมูลเพื่อเป็นช่องทางการลงทุนแก่นักธุรกิจไทย พบว่า รัฐคุชราต (Gujarat) มีปัจจัยแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนได้มากที่สุดและสมบูรณ์ที่สุด การสัมมนาครั้งนี้จึงโฟกัสไปที่รัฐคุชราตที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งภาคตะวันตกของอินเดีย
“ที่นี่ไม่มีปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีไฟฟ้าพร้อม แรงงานพร้อม ถนน 4 เลน สนามบิน 11 แห่ง นิคมอุตสาหกรรม 240 แห่ง เป็นรัฐที่มีชายฝั่งทะเลถึง 1 ใน 3 ของชายฝั่งทะเลทั้งหมดของอินเดีย ในช่วงปลายเดือนนี้ (27-29 กันยายน) ทางสถานทูตกำลังจะจัดคณะนำนักธุรกิจของไทยไปลงพื้นที่สำรวจลู่ทางการลงทุนในรัฐคุชราต ให้บริษัทของไทยได้ไปเห็นศักยภาพจริงๆ ของเขา ไปพบกับมุขมนตรีรัฐคุชราต และพบปะบริษัทของอินเดียที่อาจกลายมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกันได้ในอนาคต”
นายมิ่งพันธ์ ฉายาวิจิตรศิลป์ ประธานสภาธุรกิจไทย-บังกลาเทศ ผู้เชี่ยวชาญตลาดเอเชียใต้ กล่าวเสริมว่า นักธุรกิจไทยที่สนใจตลาดอินเดียควรหาโอกาสไปลงพื้นที่จริงๆ อย่างน้อย 3 ครั้งและควรไปในหลายๆ เมือง ทั้งเมืองระดับเอและบี สำหรับคุชราตนั้น ถ้าบริษัทไทยมีการส่งออกสินค้าไปยุโรปอยู่แล้ว ก็เหมาะที่จะเข้าไปตั้งฐานการผลิต เพราะจะช่วยลดต้นทุนลงหลายด้านโดยเฉพาะต้นทุนการขนส่ง รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนแรงงาน
ด้านนายอนุพัม ศรีวัสตวา กรรมการผู้จัดการ อินเวสต์อินเดีย (Invest India) ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลอินเดีย เปิดเผยในงานสัมมนาซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 130 รายว่า สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจอินเดียแต่ไม่คุ้นเคยและต้องการทราบข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทและช่องทางการลงทุนในอินเดีย ประการแรกนั้น สามารถเข้ามาศึกษาข้อมูลที่เว็บไซต์ www.investindia.gov.in ซึ่งรวบรวมทุกเรื่องตอบโจทย์ความสงสัยของนักลงทุนต่างชาติ “กระบวนการขออนุญาตจัดตั้งบริษัทและเสนอแผนการลงทุนในอินเดียนั้น ระยะเวลาช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ ถ้าเป็นโครงการที่มีความซับซ้อนเช่นต้องมีการจัดซื้อที่ดิน มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือข้อรายละเอียดต่างๆ กระบวนการพิจารณาอนุมัติไม่เกิน 1-2 เดือน แต่ถ้าเป็นการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนก็ใช้เวลาพิจารณาแค่เพียง 20 วันเท่านั้น นอกจากนี้ในปีหน้า เมื่อเริ่มมีการใช้ระบบขออนุมัติโครงการทางออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ นักลงทุนก็จะยิ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับการเข้ามาลงทุนในอินเดียนั้น ผมแนะนำว่าควรเริ่มต้นด้วยการมองหาพันธมิตรที่เป็นบริษัทท้องถิ่นเพราะจะมีความเข้าใจและความชำนาญในพื้นที่ นอกจากนี้ควรมีที่ปรึกษาทางกฎหมายในอินเดีย ก็จะช่วยลดปัญหาหลายด้านที่อาจเกิดขึ้น”
สำหรับอุตสาหกรรมที่น่าเข้าไปลงทุนในอินเดียนั้น ผู้แทนจากอินเวสต์อินเดีย ระบุว่ามีหลายด้านโดยเฉพาะโครงการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยกตัวอย่าง ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน รวมทั้งโรงผลิตกระแสไฟฟ้า การกระจายกระแสไฟ และการจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งและจ่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีโอกาสเติบโตสูงเนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือนในอินเดียเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและได้เปรียบ เช่นการแปรรูปอาหาร การผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ รวมทั้งอุตสาหกรรมด้านบริการ ก็ยังเป็นที่ต้องการอย่างมาก รวมไปถึงอุตสาหกรรมใหม่ๆ ด้านนวัตกรรมประหยัดพลังงาน และพลังงานทดแทน ทางรัฐบาลอินเดียก็กำลังส่งเสริมให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น
นายมูเกช คูมาร์ กรรมการผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมการขยายอุตสาหกรรมแห่งรัฐคุชราต หรือ iNDEXTb ที่บินตรงจากอินเดียมาร่วมสัมมนาครั้งนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คุชราตเองเป็นรัฐที่ได้ชื่อว่าเป็นมิตรกับนักลงทุนมากที่สุดรัฐหนึ่ง มีการจัดทำเว็บไซต์เพิ่มความสะดวกด้านข้อมูลและการติดต่อกับหน่วยงานรัฐที่นักลงทุนสามารถเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ ได้ (www.ifpgujarat.gov.in) “บริษัทข้ามชาติจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ฟอร์ด จีเอ็ม จีอี ฮิตาชิ ฟิลิปส์ เชลส์ ดูปองด์ ฯลฯ ต่างมีความมั่นใจและเข้ามาลงทุนในคุชราตด้วยปัจจัยความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นโลเกชั่นชายฝั่งทะเลที่เหมาะกับการขนส่งและโลจิสติกส์ การมีเครือข่ายคมนาคมเชื่อมโยงสู่ภาคอื่นๆ ของอินเดีย โครงสร้างพื้นฐาน วัตถุดิบในพื้นที่และแรงงานที่มีคุณภาพ”
ผู้แทนจากหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของคุชราตกล่าวว่า รัฐนี้เป็นฮับของอุตสาหกรรมรถยนต์ในอินเดีย เป็นแหล่งส่งออกอัญมณีอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมดังกล่าวไทยเองก็มีความเป็นผู้นำในภูมิภาคเช่นกัน จึงน่าจะมีโอกาสของความร่วมมือด้านการลงทุนที่อยากเชิญชวนให้นักธุรกิจของไทยเข้ามาแสวงหาอย่างจริงจัง