รัฐคุชราต (Gujarat) ขุมทรัพย์ของอินเดียยุคใหม่
เมื่อระหว่างวันที่ 11-13 ม.ค. มีงานใหญ่ระดับยักษ์ของอินเดียที่เรียกว่า Vibrant Gujarat 2015 (หรืออาจแปลว่ารัฐคุชราตที่กำลังตื่นขึ้นมามีชีวิตชีวา) จัดขึ้นที่เมืองคานธีนคร (Gandhi Nagar) ซึ่งตั้งชื่อตามรัฐบุรุษของชาวอินเดีย มหาตมะ คานธี เมืองนี้อยู่ในรัฐคุชราต และเป็นรัฐบ้านเกิดของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบัน
งานนี้ไม่ใช่แค่งานแสดงสินค้า แต่เป็นการจับคู่ทางธุรกิจและการลงทุนที่ไม่ใช่เฉพาะระหว่างบริษัทต่างชาติกับอินเดีย แต่ระหว่างบริษัทต่างชาติด้วยกัน เพราะเป็นงานที่บรรดาผู้บริหารบริษัทชั้นนำในโลกจะเดินทางมาภูมิภาคเอเชียใต้ งานนี้จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี และครั้งนี้ก็นับว่าเป็นครั้งที่ 7 และได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นความคิดริเริ่มของนายโมดีเอง เมื่อครั้งยังเป็นเพียงมุขมนตรี (นายกรัฐมนตรี) ของรัฐคุชราตระหว่างปี พ.ศ. 2546-2557 ก่อนจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดีย
เมื่อ 2 ปีก่อนอดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี นายพิศาล มาณวพัฒน์ ได้ไปร่วมงาน Vibrant Gujarat 2013 และได้พบกับมุขมนตรีโมดี ซึ่งก็ได้เชิญชวนไทยให้เข้าร่วมเป็นประเทศพันธมิตร (Partner Country) ด้วย ทางสถานทูตไทยก็ได้ทำรายงานเสนอรัฐบาลไทยให้เข้าร่วมงานในปี 2558 เนื่องจากเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆ แต่ในที่สุดไทยก็ปล่อยโอกาสหลุดมือไปด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ในขณะที่มี 8 ประเทศตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วย ได้แก่ สหรัฐ แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
งานปีนี้พิเศษสุดเพราะแม้สหรัฐ เพิ่งจะตัดสินใจเข้าร่วมเป็นชาติสุดท้าย แต่ก็มาฟอร์มใหญ่กว่า โดย รมต. ต่างประเทศ นาย John Kerry นำคณะผู้บริหารบริษัทของอเมริกากว่า 80 คนมาเข้าร่วมด้วยตนเอง และไปทำพิธีเปิดโรงงานประกอบรถยนต์ของ บ.ฟอร์ด ที่เมืองสนั่น (Sanand) ซึ่ง บ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ของไทยของคุณสนั่น อังอุบลกุล ก็กำลังไปตั้งโรงงานที่เมืองชื่อเดียวกันนี้ ส่วน รมต. การค้าออสเตรเลียก็นำคณะนักธุรกิจกว่า 450 คนมาเจรจาเรื่องการลงทุนในรัฐคุชราตด้วย และแม้แต่เลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มุน และนายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกก็ยังมาร่วมในงาน งานนี้ถ้าไม่เรียกว่างานยักษ์ของอินเดียก็ไม่รู้จะเรียกอะไรดี
ในงานยังมีการสัมมนาธุรกิจระหว่างอินเดียกับอีก 13 ประเทศ (อัฟกานิสถาน บาห์เรน อิสราเอล ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ อังกฤษ แคนาดา เดนมาร์ก และสวีเดน) โดยผู้จัดงานคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2 ล้านคน ทั้งจากอินเดียและบริษัทชั้นนำกว่า 2,000 บริษัท จาก 101 ประเทศเข้าร่วม
ในช่วงประกาศหาเสียงเลือกตั้ง นายโมดีได้ใช้การพัฒนาเศรษฐกิจในรัฐคุชราตที่ผ่านมาเป็นต้นแบบ (Gujarat Model) ว่าจะนำพาอินเดียให้เจริญแบบเดียวกัน การที่ประเทศต่างๆ ส่งรัฐมนตรีและคณะผู้แทนการค้าระดับสูงมาร่วมงานก็เพื่อที่จะได้สัมผัสถึงวิสัยทัศน์ของนายโมดีว่ารัฐคุชราตเจริญอย่างไร อินเดียในอีก 8 ปีข้างหน้าก็จะเป็นอย่างนั้น เพราะขณะนี้นายโมดีได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนอินเดียมากขึ้นเรื่อยๆ การเลือกตั้งในรัฐต่างๆ พรรค BJP ของนายโมดีต่างก็ได้รับคะแนนเสียงมากขึ้น พรรค BJP มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลในรัฐต่างๆ มากขึ้น โอกาสที่นายโมดีจะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 วาระหรือ 8 ปีจึงมีสูงถึง 99%
รัฐคุชราตปัจจุบันมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทุกรัฐในอินเดีย ปี 2556 เติบโต 8% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอินเดียทั้งหมดคือ 4.2% แม้จะมีประชากรเพียง 5% ของประชากรอินเดียทั้งหมด และพื้นที่ 6% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่กลับสร้างสัดส่วน GDP ได้ถึง 7.6% และสัดส่วนของการส่งออกได้ถึง 22% มีบรรยากาศของการลงทุนที่ดีที่สุดเพราะนายโมดีพยายามปรับใช้ระบบ IT ในการขอใบอนุญาตลงทุนแบบรวดเร็ว (fast track) มีการลดขั้นตอนต่างๆ ของภาครัฐและทำให้โปร่งใส มีโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) ที่ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญคือเป็นรัฐเดียวที่มีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน มีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชม. และยังมีการลงทุนในเรื่องพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์มากที่สุด นอกจากนี้ รัฐคุชราต (เมืองสุราต) ยังเป็นศูนย์กลางการเจียระไนเพชรที่ใหญ่ที่สุดของโลกแทนเบลเยียมไปแล้วด้วย
นอกจากนายโมดีจะฉลาดในการจัดงาน Vibrant Gujarat 2015 เพื่อชักจูงให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในรัฐบ้านเกิดและในรัฐอื่นๆ ของอินเดียแล้ว ยังอาศัยวันที่ 9 ม.ค. 2558 ซึ่งเป็นวันที่ครบรอบ 100 ปีที่มหาตมะ คานธี นักกฎหมายชาวรัฐคุชราตเดินทางกลับจากแอฟริกาใต้สู่อินเดียเพื่อมาเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ นายโมดีจึงได้โหมประโคมงานฉลองครบรอบ 100 ปีการกลับสู่อินเดียของคานธี หรือที่เรียกว่า วันที่ชาวอินเดียโพ้นทะเลกลับคืนสู่บ้าน (Pravasi Bharatiya Divas) โดยประกาศชักจูงและอำนวยความสะดวกให้ชาวอินเดียโพ้นทะเล (Indian Diaspora) ทั่วโลกจำนวนกว่า 25 ล้านคน ซึ่งหลายล้านคนเป็นมันสมองที่ไปสร้างความสำเร็จในต่างประเทศให้กลับมาช่วยกันพัฒนาบ้านเกิด ไม่ว่าจะเป็นการกลับเข้ามาลงทุน การช่วยเหลือพัฒนาด้านการศึกษา และการรณรงค์รักษาความสะอาดอินเดียเพื่อสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นคนชาติอินเดีย
เรียกว่างานนี้นายโมดียิงนกหลายตัวจากกระสุนนัดเดียว ได้ประโยชน์ทั้งการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและชาวอินเดียโพ้นทะเลกลับมา ส่วนนักลงทุนชาวไทยนั้นแม้สถานทูตไทยและสำนักงานต่างๆ จะได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับงานนี้มาตั้ง 2 ปีล่วงหน้า มีบทความมากมายเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจในอินเดีย แต่ก็ดูเหมือนภาคเอกชนไทยยังมองไม่เห็นขุมทรัพย์อันนี้เหมือนกับนักธุรกิจจากประเทศอื่นๆ
โดย สุนทร ชัยยินดีภูมิ
อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต
จากคอลัมน์ทัศนะวิจารณ์ Inside India หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 14 มกราคม 2558