ชัยชนะของนายนเรนทรา โมดี และผลประโยชน์ของประเทศไทย
ในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา ข่าวการเลือกตั้งในอินเดียได้รับความสนใจจากชาวไทยอย่างมาก เพราะนอกจากจะจัดขึ้นใกล้กับการเลือกตั้งของไทย ข้อมูลที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิ จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 900 ล้านคน เทคโนโลยีการเลือกตั้งที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทนกระดาษ และระยะเวลาการเลือกตั้ง 1 เดือนที่แบ่งออกเป็น 7 ครั้งเพื่อรองรับปริมาณผู้มีสิทธิเลือกตั้งมหาศาล ก็ทำให้ชาวไทยตื่นตากับความก้าวหน้าในการเลือกตั้งของอินเดียอยู่ไม่น้อย
นายกรัฐมนตรีโมดีเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562
อินเดียจัดการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วระหว่างวันที่ 11 เมษายน- 19 พฤษภาคม 2562 และได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 โดยพรรค Bharatiya Janata Party (BJP) ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายเป็นสมัยที่ 2 และนายกรัฐมนตรีโมดีได้เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา
ชัยชนะท่วมท้นของนายกรัฐมนตรีโมดี
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ พ.ศ. 2557 นายกรัฐมนตรีโมดีชนะเลือกตั้งเป็นครั้งแรกโดยได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. ในพรรคถึง 282 ที่นั่งจากจำนวน ส.ส. ทั้งหมดประมาณ 545 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีโมดีได้ทำลายสถิติเดิมโดยได้ที่นั่ง ส.ส. ในพรรคถึง 303 ที่นั่ง และเมื่อรวมกับจำนวน ส.ส. พรรคพันธมิตรอื่น ๆ ด้วยแล้ว จะมี ส.ส. สำหรับจัดตั้งรัฐบาลถึง 345 ที่นั่ง ทำให้รัฐบาลชุดใหม่นี้มีเสถียรภาพเป็นอย่างยิ่ง
ทำไมนายกรัฐมนตรีโมดี ถึงครองใจประชาชน
สาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนอินเดียส่วนใหญ่เชื่อมั่นในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีโมดี เพราะภาพพจน์ของนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง ปราศจากการคอรัปชั่น การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมที่คืบหน้าเป็นรูปธรรมนำความเจริญมาสู่อินเดียแบบก้าวกระโดด และการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในกลุ่มประชากรศาสนาฮินดูซึ่งถือเป็นประชากรกลุ่มหลักของประเทศ แม้ว่าจะมีกระแสความไม่พึงพอใจผลงานของนายกรัฐมนตรีโมดีในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะประเด็นการว่างงาน ราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ และความสุดโต่งในการส่งเสริมศาสนาฮินดู แต่ประชากรส่วนใหญ่ก็ยังเห็นนายกรัฐมนตรีโมดีเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรีโมดีจะขับเคลื่อนอินเดียต่อไปอย่างไร
จุดเด่นที่ชัดเจนภายหลังชัยชนะครั้งนี้คือความรวดเร็วในการเดินหน้าสานต่อการพัฒนาประเทศตามที่ได้เคยตั้งเป้าหมายไว้ โดยสำนักนายกรัฐมนตรีอินเดียได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานนำเสนอ “แผนงาน 100 วัน” เพื่อเร่งอนุมัติโครงการเร่งด่วนที่ต้องจัดทำภายในเดือนสิงหาคม 2562 ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญทั้งด้านการต่างประเทศ การศึกษา การเกษตร และความมั่นคงภายในประเทศ ทั้งนี้ สื่อมวลชนและนักวิชาการอินเดียต่างคาดการณ์ว่ารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโมดีจะสานต่อนโยบายการเปิดประเทศ การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และการพัฒนาอินเดียให้เป็น New India ภายในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่อินเดียจะครบรอบ 75 ปีการประกาศเอกราช
การกลับมาของนายกรัฐมนตรีโมดีส่งผลดีต่อไทยอย่างไร
(1) นโยบายด้านการต่างประเทศของอินเดียจะให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย มากยิ่งขึ้น ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อินเดียเลือกเชิญประมุขและผู้นำประเทศจาก 8 ประเทศเข้าร่วม รวมทั้งไทย ซึ่ง 6 ใน 8 ประเทศ คือบังกลาเทศ ภูฏาน เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา และไทย[1] ต่างเป็นสมาชิก BIMSTEC หรือ Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation (ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ) ซึ่งการเลือกเชิญผู้นำจากประเทศเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นเจตจำนงของอินเดียที่จะผลักดันความร่วมมือในระดับภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือ BIMSTEC ซึ่งมีไทยร่วมเป็นประเทศสมาชิกด้วย ไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้จึงย่อมมีบทบาทสำคัญและโดดเด่นอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงอินเดียกับอาเซียนผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อสร้างผลประโยชน์ระหว่างภูมิภาคร่วมกัน
(2) ความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา นโยบายการเปิดเสรีด้านการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติจะยังคงได้รับการสานต่อจากรัฐบาลโมดี การดำเนินธุรกิจในอินเดียของภาคธุรกิจไทยจึงจะยังคงได้รับการสนับสนุน Ease of Doing Business ของอินเดียจะยังคงได้รับกาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคธุรกิจรายใหม่ ๆ ของไทยที่สนใจจะดำเนินธุรกิจในอินเดียมั่นใจได้ว่าจะได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลอินเดียเป็นอย่างดี
ด้วยรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ จะทำให้เศรษฐกิจและศักยภาพในทุก ๆ ด้านของอินเดียพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวดเร็วไปอีก 5 ปีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีโมดี คนไทยจึงควรหยุดมองอินเดียว่าเป็นแดนสนธยาล้าหลัง แต่ต้องมองอินเดียเป็นโอกาสและเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญอย่างแท้จริง โอกาสในอินเดียวิ่งไปข้างหน้าอยู่ทุกวัน อยู่ที่ไทยว่าจะรีบวิ่งไปช่วงชิง หรือปล่อยให้โอกาสวิ่งหนีไป
[1] ผู้เข้าร่วมอีก 2 ประเทศคือคีร์กีซสถานและมอริเชียส
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
11 มิถุนายน 2562