ยาตราการทูตของอินเดีย (ตอนจบ)
ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจที่ประเทศฝรั่งเศส นายนเรนทร โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียได้เดินทางยาตราการทูตต่อไปยังประเทศเยอรมนี เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดงาน Hannover Messe ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำหน้าและใหญ่ที่สุดในโลก
งาน Hannover Messe ในปีนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับอินเดีย เพราะอินเดียเข้าร่วมในฐานะ Partner country หรือเป็นดาวเด่นของงาน และการที่นายโมดีก็ได้เดินทางมาเข้าร่วมงานด้วยตัวเองก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามของอินเดียที่จะใช้เวทีดังกล่าวในการประชาสัมพันธ์อินเดียเพื่อดึงดูดการลงทุนจากเยอรมนี ประเทศซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของอินเดียในยุโรป เป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของอินเดียในยุโรป
นอกเหนือจากเงินลงทุนแล้ว สิ่งที่อินเดียยังต้องการจากเยอรมนีก็คือการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งเยอรมนีถือว่าเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะในสาขาวิศวกรรม อินเดียจึงประสงค์ให้เยอรมนีเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนา โดยเข้าไปมีส่วนในโครงการ “Make in India”, “Clean India”, “Digital India” รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยฝ่ายเยอรมนี ซึ่งงานนี้ มีนางแองเกลา แมร์เคิล นายกฯ หญิงมาดูแลต้อนรับขับสู่นายโมดีด้วยตัวเอง ก็ขานรับพร้อมสนับสนุนแทบทุกโครงการ
นเรนทร โมดีนเรนทร โมดีแต่สิ่งที่ดูจะตื่นตาตื่นใจที่สุดในงานนี้เห็นจะเป็นการแสดงของอินเดียในพิธีเปิดงานที่ใช้ชื่อว่า "สิงโตคำราม" (lion roars) เล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอินเดียจากอดีตไปสู่ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของอินเดียในอนาคต โดยไฮไลต์อยู่ในช่วงท้ายที่มีการส่งสิงโตแอนิเมชันขึ้นบนเวที ก่อนจะส่งเสียงคำรามและกระโดดทะลุฉากและกลายเป็นสัญลักษณ์ของแคมเปญ Make in India สร้างความประทับใจให้คนดูทั้งฮอลล์ ก่อนที่นายโมดีจะขึ้นกล่าวในพิธีเปิด โดยมีใจความสำคัญคือ "อินเดียได้เปลี่ยนไปแล้ว"
จบจากเยอรมนีแล้ว นายโมดีก็ไม่รอช้าเดินทางข้ามมหาสมุทรต่อไปยังประเทศแคนาดา ซึ่งถือเป็นการเยือนของนายกฯ อินเดียครั้งแรกในรอบ 42 ปี อินเดียถือว่าแคนาดามีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะในด้านพลังงาน (แคนาดาผลิตแร่ยูเรเนียมได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก) ซึ่งเป็นสิ่งที่อินเดียต้องการอย่างมากสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ แคนาดายังเป็นประเทศแรกๆ ที่อินเดียจัดทำความร่วมมือด้านนิวเคลียร์เพื่อการพลเรือนด้วย ตั้งแต่ปี 2493 ที่สำคัญมีชาวแคนาดาเชื้อสายอินเดียอยู่ถึง 1.2 ล้านคน ที่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับอินเดียในอเมริกาเหนือได้
ระหว่างการเยือนแคนาดาของนายโมดีครั้งนี้ นอกจากการเชิญชวนให้แคนาดาไปร่วมลงทุนในโครงการ “Make in India”, “Affordable Housing by all by 2022” และ “Smart Cities” แล้ว ยังได้มีการลงนามความตกลงเพื่อส่งแร่ยูเรเนียม 3 พันเมตริกตันจากแคนาดาให้กับอินเดียเป็นระยะเวลา 5 ปี มูลค่า 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความตกลงดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จของอินเดีย เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดและตอบสนองความต้องการพลังงานของภาคอุตสาหกรรมอินเดีย
นายโมดียังไม่พลาดที่จะพบปะกับชาวแคนาดาเชื้อสายอินเดียที่เมืองโตรอนโตและแวนคูเวอร์ ซึ่งสื่อหลายแหล่งกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า นายโมดีได้รับการต้อนรับยิ่งกว่า "rock star" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมในตัวนายโมดีในหมู่ชาวอินเดียโพ้นทะเลทั่วโลก โดยนายโมดีได้ใช้โอกาสนี้เล่าให้ชาวแคนาดาเชื้อสายอินเดียทราบถึงพัฒนาการของอินเดียและย้ำความสำคัญของแคนาดาต่อการพัฒนาของอินเดีย โดยหวังจะให้ชาวแคนาดาเชื้อสายอินเดียเหล่านี้ช่วยผลักดันความร่วมมือกับแคนาดาในทุกด้าน โดยในปี 2560 อินเดียจะร่วมฉลองการก่อตั้งประเทศของแคนาดาครบ 150 ปีด้วยการจัดงาน Year of Canada ในอินเดียด้วย
การเดินทางยาตราการทูต 3 ประเทศของนายโมดีครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลอินเดียที่จะบรรลุเป้าหมายโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดีย และผลลัพธ์ที่ได้ เช่น การที่ทั้ง 3 ประเทศประกาศที่จะไปลงทุนในโครงการต่างๆ ของอินเดีย ยังสะท้อนความเชื่อมั่นของประเทศมหาอำนาจต่ออินเดีย ในฐานะเป้าหมายการค้าและการลงทุนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในขณะนี้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรพิจารณาดูว่า หากเรามัวแต่กล้าๆ กลัวๆ และยึดติดภาพเก่าๆ ของอินเดีย เราจะเสียโอกาสให้กับประเทศอื่นๆ ไปมากแค่ไหน
โดย พจมาศ แสงเทียน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,049 วันที่ 3 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
-
บทความที่เกี่ยวข้อง