จับตาต่างชาติลงทุนในแดนภารตะ ตอน บทเรียนจากนักลงทุนเมืองเบียร์
นักลงทุนจากเมืองเบียร์มีประวัติการเข้ามาลงทุนในแดนภารตะมาอย่างยาวนาน ย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่ 16 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นลำดับสามจากยุโรปที่ลงทุนในอินเดีย
จากสถิติ การลงทุนของนักลงทุนเมืองเบียร์ในอินเดียช่วงปี 2547 จนถึงปี 2556 มียอดรวม 757 โครงการ มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนประเภท Greenfield คือ มาตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายในตลาด โดยมีถึง 564 โครงการ มูลค่ารวมเหนาะๆ 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่วนใหญ่อยู่ในสาขาอุตสาหกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และวิศวกรรมเครื่องกล และชิ้นส่วนยานยนต์
ตัวอย่างนักลงทุนเมืองเบียร์ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ประเภท Global Companies ก็เช่น บริษัท Siemens ค่ายรถยนต์หรูอย่าง BMW, Audi, Volkswagen และ Mercedes-Benz บริษัท เทคโนโลยีชีวภาพ เคมีภัณฑ์และเภสัชกรรมอย่าง Bayer ที่มาลงทุนในหลายสาขา บริษัทวิศวกรรมและอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Robert Bosch สายการบิน Lufthansa บริษัทประกัน Allianz บริษัท Deutsche Telecom ที่มาลงทุนด้านการธนาคารและบริการทางการเงิน และบริษัท Software อย่าง SAP เป็นต้น
ส่วนบริษัทขนาดกลางและเล็กของเยอรมนีนั้น เข้าใจว่า ยังมาลงทุนในอินเดียน้อย เนื่องจาก ส่วนใหญ่สนใจที่จะลงทุนในยุโรปตะวันออกมากกว่า
นอกจากบริษัทเยอรมันจะลงทุนในสาขาที่เกี่ยวกับการผลิตแล้ว นักลงทุนเมืองเบียร์ก็ยังเล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือกับอินเดียในสาขาอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะงาน outsource เป็นที่ทราบกันดีว่า อินเดียกำลังปรับเปลี่ยนจากประเทศผู้ให้บริการการดำเนินการทางด้านธุรกิจ (Business Process Outsourcing - BPO) เป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับกระบวนการให้ความรู้ (Knowledge Process Outsourcing - KPO)
BPO กับ KPO นั้น ต่างกันก็ตรงที่ BPO ส่วนใหญ่เป็นพวกงานบริการ front office เช่น การติดต่อลูกค้าและซัพพอร์ตลูกค้า และงาน back office เช่น งานด้านการเงินและงานด้านบริหารบุคคล ฯลฯ หลายคนที่เคยดูซีรี่ย์อเมริกันเรื่อง Outsourced เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คงเห็นภาพ ส่วนงาน KPO เป็นงาน outsource ที่ต้องใช้องค์ความรู้เฉพาะ เช่น งานบริการด้าน การวิจัยและพัฒนา การบริการด้านการตลาดและการประกัน การให้บริการทางกฎหมาย งานออกแบบและการทำ Animation รวมถึงงานด้าน content development ด้วย
โดยงาน KPO นี้เอง ทำให้บริษัทเยอรมันหลายบริษัทในอุตสาหกรรมรถยนต์สนใจ และได้ outsource ให้บริษัทอินเดียช่วยทำ ตัวอย่างก็มีเช่น บริษัทรถยนต์เมืองเบียร์ได้ว่าจ้างบริษัทอินเดียที่ชำนาญด้าน IT ทำ 3D Animation ของการทำงานของชิ้นส่วนอะไหล่ เช่น ถุงลมนิรภัยและระบบเซ็นเซอร์ของพวงมาลัย หรือแม้แต่ทำ 3D Virtual Car Model ของรถยนต์บางยี่ห้อ
เมื่อแตะเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงธุรกิจและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมัน ซึ่งหลายท่านที่อาจเป็นแฟนพันธุ์แท้ของรถเยอรมันอาจอยากจะทราบว่าตลาดรถหรูของอินเดียเป็นอย่างไร ขอบอกว่า เมื่อมาถึงอินเดีย ท่านไม่ต้องแปลกใจถ้าจะเห็นรถหรูแบรนด์ดังของเมืองเบียร์ ไม่ว่าจะเป็น Audi, BMW และ Mercedes-Benz วิ่งปะปนไปกับรถขนาดเล็กแบรนด์ญี่ปุ่นและรถ Rickshaw หรือตุ๊กตุ๊กของอินเดีย ไม่แพ้เมืองอื่นๆ ในโลก
ว่ากันว่า ตลาดอินเดียเป็นสวรรค์ของเหล่าบรรดาค่ายรถหรูค่ายต่างๆ รวมถึงค่ายจากเมืองเบียร์ โดยล่าสุด อินเดียติดอันดับตลาดรถหรูดาวรุ่งพุ่งแรงแหล่งใหม่ของโลก โดยตลาดรถหรูของอินเดียมียอดขายประมาณปีละ 30,000-35,000 คันต่อปี และเชื่อหรือไม่ว่า อายุเฉลี่ยของผู้มีอันจะกินและสามารถขับรถหรูของเยอรมันในอินเดียได้ อยู่ที่คนวัยทำงานที่มีอายุประมาณ 30 ปีต้นๆ เท่านั้น!!!
จะว่าไปแล้ว คงไม่ใช่แค่การที่คนอินเดียมีเงินมากขึ้นและเร็วขึ้นเท่านั้น แต่ตลาดที่โตขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของบรรดาค่ายรถหรูด้วย
หนึ่งในกลยุทธ์ที่ค่ายรถเมืองเบียร์ควักออกมาใช้ คือ การเอาใจโจ๋วัยทำงานที่มีสตางค์และชอบความหรูของรถเยอรมัน โดยค่ายรถเมืองเบียร์ต่างยกคาราวานรถรุ่นเล็กออกมาทำตลาด เช่น ค่าย Mercedes Benz ทั้งผลักและดันรถเล็กรุ่น A Class กับ B Class ออกมา ขณะที่ BMW ก็เร่งทำตลาดรถ BMW 1 Series ส่วนค่าย Audi ก็นำเสนอรถรุ่น Audi A3 ออกสู่ตลาด โดยบรรดารถรุ่นต่างๆ ดังกล่าว เสนอราคาไม่เกิน 2.5 ล้านรูปี
เป็นที่รู้กันดีว่า รถยนต์หรูของเยอรมันนั้นขายได้ตลอดกาล เนื่องจากบรรดาเศรษฐีเมืองโรตีมักนิยมรถแบรนด์ดังจากเมืองเบียร์
นอกจากนี้ รถหรูของเมืองเบียร์ยังสามารถเบียดรถหรูค่ายญี่ปุ่นคู่แข่งตกขอบเวทีไปโดย ไม่ต้องลุ้น แม้ว่าบริษัทรถยนต์แดนซามูไรจะสามารถครองตลาดรถยนต์เล็กในตลาดเมืองโรตีได้ แต่ก็ลุ้นทำตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ไม่ขึ้น เช่น กรณีของรถ Nissan Teana ที่ Nissan Motors บรรจงปั้น สามารถทำยอดขายได้เพียง 47 คัน!!!! เมื่อปีที่ผ่านมา
นี่เขาเรียก แรงรักแรงศรัทธาต่อแบรนด์รถหรูของเมืองเบียร์ที่ไม่เสื่อมคลาย
ความนิยมรถหรูแบรนด์เยอรมันของตลาดอินเดียและขนาดของตลาดอินเดีย ทำให้ค่ายรถยนต์หรูตัดสินใจเข้ามาลงทุนในอินเดีย โดย Mercedes Benz เข้ามาตั้งแต่ปี 2537 และตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ที่เมืองเจนไน โดยลงทุนไปเหนาะๆ 700 ล้านยูโร โดยรถยนต์รุ่นที่ประกอบในอินเดีย ได้แก่ C-Class E-Class M-Class S-Class และ GL-Class
ในส่วนของ BMW ได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตที่เมืองเจนไนเมื่อปี ๒๕๕๐ และผลิตรถยนต์ BMW หลายรุ่น เช่น 1 Series 3 Series 5 Series 7 Series X1 และ X3 โดย BMW ลงทุนรวม ทั้งสิ้น ๑.๘ พันล้านรูปี ส่วน Audi นั้น ปัจจุบันใช้โรงงานผลิตของ Skoda ที่รัฐมหาราษฏระ เพื่อประกอบรถยนต์รุ่นต่างๆ เช่น Audi A4 A6 Q5 และ Q7
การตั้งโรงงานประกอบในอินเดียของรถค่ายหรูเมืองเบียร์ดังกล่าว มีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จในการทำตลาดของรถหรู เนื่องจาก การประกอบรถยนต์ในประเทศและการจัดซื้อเครื่องยนต์จากซัพพลายเออร์ในประเทศทำให้ต้นทุนรถถูกลง ส่งผลให้ราคารถลดลงตามไปด้วย
แม้การลงทุนของบริษัทจากเยอรมนีจะประสบความสำเร็จอย่างดีดังกล่าว แต่ก็มีบทเรียนสำคัญที่เราอาจเรียนรู้เพิ่มเติมจากบริษัทเมืองเบียร์ที่มาลงทุนในแดนภารตะด้วยเช่นกัน เช่น กรณีของบริษัท Bayer ซึ่งมีประวัติการทำธุรกิจในอินเดียมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2439
เป็นที่ทราบกันดีว่า นอกจากบริษัท Bayer จะทำธุรกิจด้านเคมีภัณฑ์และเภสัชกรรมแล้ว บริษัทฯ ยังมีบริษัทลูกที่ชื่อว่า Bayer CropScience ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์พืช การต้านโรคพืชและแมลง และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชด้วย
Bayer CropScience เป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่เข้ามาลงทุนในอินเดีย และใช้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลอินเดียที่อนุญาตให้ทดลองปลูกพืช GMO ได้ตั้งแต่ปี 2532
ปัจจุบัน อินเดียได้อนุญาตให้มีการทดลองปลูกพืช GMO ในพืชประเภทต่างๆ เช่น ข้าว กะหล่ำดอก มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ข้าวสาลี ข้าวโพด มะละกอ และมันฝรั่ง เป็นต้น และได้อนุญาตให้ปลูกฝ้าย GMO พันธุ์ Bt cotton hybrids เพื่อการค้าได้ ตั้งแต่ปี 2545 Bayer CropScience เองก็ได้รับอนุญาตให้ทดลองปลูกพืช GMO ได้แก่ ฝ้าย ข้าว กะหล่ำดอกและกะหล่ำปลีด้วย
อย่างไรก็ดี การทดลองปลูกพืช GMO ของ Bayer ก็มิได้ราบรื่นนัก เนื่องจากมีการต่อต้านจากกลุ่ม NGOs และประชาชนที่คัดค้านการปลูกพืช GMO ในอินเดีย เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๗ เมื่อกลุ่ม Greenpeace India ได้รณรงค์ต่อต้านบริษัทโดยกล่าวหาว่า บริษัท Pro Agro ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Bayer CropScience ได้ทดลองตัดต่อพันธุกรรมกะหล่ำปลีและกะหล่ำดอก โดยใช้ Cry9C gene ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของทางการสหรัฐฯ และระบุว่า สารดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปฏิกริยาการแพ้ในคน
ผลของการรณรงค์ต่อต้านดังกล่าว ทำให้ Bayer ต้องออกมาประกาศยกเลิกการทดลอง และส่งผลสะท้านให้รัฐบาลอินเดียขณะนั้น ต้องออกมาให้ข้อมูลกับประชาชนว่า พืชพันธุ์ประเภทใดบ้างที่ได้รับอนุญาตให้มีการทดลองตัดแต่งพันธุกรรมในอินเดียบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา กลุ่ม Greenpeace India ยังได้บุกเข้าไปในแปลงนาทดลองปลูกข้าว GMO ที่เมืองไฮเดอราบัดเพื่อประท้วง โดยประชาชนบางส่วนก็ให้การสนับสนุนการคัดค้านดังกล่าว โดยบอกว่า พืช GMO เป็นอันตรายต่อพืชดั้งเดิมและระบบนิเวศน์ อีกทั้งประชาชนก็ยังกลัวการปนเปื้อนด้วย
เรื่องดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียออกมาเปิดเผยว่า ได้อนุญาตให้มีการทดลองตัดต่อพันธุกรรมพืช 41 ชนิด โดยแยกเป็นพันธุ์ต่างๆ ถึง 170 พันธุ์ โดยในจำนวนนี้ มีข้าวที่ตัดต่อพันธุกรรมรวม 25 สายพันธุ์!!!
อีกเคสหนึ่งของ Bayer ก็คือเรื่อง แรงงานเด็ก ซึ่งเกิดเมื่อปี 2546 โดยบริษัท subcontractors ของ Bayer ถูกกล่าวหาว่า จ้างแรงงานเด็ก ซึ่งอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ในการผลิตเมล็ดฝ้ายพันธุ์ผสมในรัฐอานธรประเทศรวมกว่า 1,500 คน โดยบริษัท Bayer มิได้ดูแลแรงงานเด็กตามมาตรฐานแรงงาน ทำให้แรงงานเด็กจำนวนมากดังกล่าวต้องทำงานอยู่ในไร่ที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงเป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน อีกทั้งยังไม่จ่ายเงินค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสม
งานนี้เจอเข้าก็กระอัก ทำให้ Bayer ต้องเข้ามาแก้ปัญหา และทำการประชาสัมพันธ์ CSR ภาพพจน์บริษัทเป็นการใหญ่ โดยจนถึงปัจจุบัน Bayer ได้ทำ Child Care Program เพื่อป้องกันการใช้แรงงานเด็ก โดยจะยกเลิกสัญญากับเกษตรกรหากมีการใช้แรงงานเด็ก และจัดให้บริษัท Ernst & Young (India) ติดตามตรวจสอบตามฟาร์มต่างๆ อยู่เป็นระยะ และให้การศึกษาแก่เด็กอินเดียในรัฐอานธรประเทศ กรณาฎกะ และทมิฬนาฑูอย่างจริงจัง
บทเรียนของ Bayer ที่ผ่านมาทำให้เราเรียนรู้ว่า ไม่ว่าบริษัทของท่านจะใหญ่แค่ไหน แต่ก็ใหญ่ไม่เท่าพลังสังคม!!!
ทั้งนี้ แว่วๆ ว่า พลังสังคมทำงานอีกครั้ง โดยล่าสุด รัฐบาลอินเดียกำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการทดลองปลูกพืช GMO อย่างไรต่อไป เนื่องจากหลายองค์กรและกลุ่มชาวนาได้ยื่นหนังสือต่อต้านการทดลองปลูกและปลูกพืช GMO เพื่อการค้าในอินเดีย ซึ่งเรื่องนี้ คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
************************
ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
รายงานจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
4 สิงหาคม 2557