เปิดบันทึกหน้าใหม่ความสัมพันธ์อินเดีย-ญี่ปุ่น แล้วไทยอยู่ตรงไหน?
จบไปแล้วสำหรับการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น 5 วัน (30 ส.ค. – 3 ก.ย.) ของนายนเรนทร โมดี นายกฯ คนใหม่ของอินเดีย ที่เป็นข่าวคึกโครมในหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่เฉพาะในอินเดียแต่ทั่วทั้งโลก เพราะทั้งโลกกำลังจับตาความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดของอินเดียภายใต้รัฐบาลใหม่ ว่าจะมีนโยบายอย่างไรและจะเป็นประโยชน์กับประเทศต่างๆ ที่มีสัมพันธ์กับอินเดียอย่างไร
การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนายโมดีในครั้งนี้ มีความหมายสำคัญเพราะมันแสดงให้เห็นว่า อินเดียยุคโมดี ที่หลายต่อหลายคนคาดว่าจะนำพาเศรษฐกิจอินเดียเดินหน้าอย่างรวดเร็วและนำพามาซึ่งโอกาสให้เอกชนต่างชาติเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียและเอาจริงกับนโยบาย Look East Policy แต่ญี่ปุ่นขณะนี้น่าจะเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุด
แม้ช่วง ก.ค. ที่ผ่านมา นายโมดีจะได้พบกับประธานาธิบดีจีนที่การประชุม BRICS Summit ที่บราซิล และก็มีกระแสของความต้องการร่วมมือใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น แต่การที่นายโมดีเลือกเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออก แสดงให้เห็นว่า นายโมดีให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นมาก ทั้งด้วยความสัมพันธ์ดั้งเดิมของนายโมดีที่เคยมีสมัยเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราต ที่ทำงานร่วมกับนายอาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น จนทำให้รัฐคุชราตกลายเป็นแหล่งลงทุนแหล่งใหม่ของนักลงทุนญี่ปุ่นในอินเดีย รวมถึงความต้องการของนายโมดีที่จะดึงดูดแหล่งเงินจากนายทุนกระเป๋าหนักจากแดนอาทิตย์อุทัย
การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนายโมดีครั้งนี้ รัฐบาลอินเดียยืนยันว่าประสบความสำเร็จดีเยี่ยม โดยมีไฮไลท์ของผลที่เป็นรูปธรรมของการเยือนครั้งดังกล่าวสรุปได้ ดังนี้
1. ญี่ปุ่นตกลงที่จะเพิ่มเงินลงทุนจากญี่ปุ่นในอินเดียเป็นสองเท่า คือเป็นจำนวน 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยมีบริษัทญี่ปุ่นมามีส่วนรวม นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมุ่งหวังที่จะเห็นจำนวนบริษัทเอกชนญี่ปุ่นในอินเดียเพิ่มเป็นสองเท่าด้วย
2. ญี่ปุ่นแสดงความจำนงค์ที่จะมอบเงิน 500 ล้านดอลลาร์เพื่อสมทบโครงการ Public-Private Partnership Infrastructure Financing Project ของบริษัท India Infrastructure Finance Company Limited (IIFCL) และจะมอบเงิน 156 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือโครงการ Guwahati Sewerage Project ในรัฐอัสสัมด้วย
3. ญี่ปุ่นและอินเดียย้ำว่าจะเดินหน้าร่วมมือโครงการระเบียงอุตสาหกรรมเดลี-มุมไบ (Delhi-Mumbai Industrial Corridor – DMIC) โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนอัจฉริยะใน 6 รัฐที่โครงการ DMIC พาดผ่าน เช่น การพัฒนาโรงพลังงาน ระบบประปา ระบบขนส่งมวลชน การขนส่งสินค้า และพัฒนาทักษะเยาวชน
4. พัฒนาเมือง Ponneri รัฐทมิฬนาฑู, เมือง Krishnapatnam รัฐอานธรประเทศ, และเมือง Tumkur รัฐกรณาฏกะ ให้เป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรม โดยขณะนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทและแผนพัฒนาเมืองดังกล่าว แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2558
5. ทั้งสองฝ่ายลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียนอินเดียกับธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JBIC) ในสาขาพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะเดินหน้าโครงการพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งติดค้างมาตั้งแต่ปี 2541
6. ลงนามความตกลงว่าด้วยการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง Shinkansen ในอินเดียเชื่อมต่อเส้นทางมุมไบ-อาห์เมดาบัด โดยญี่ปุ่นจะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิก การเงินและการเดินรถ ญี่ปุ่นยังเสนอที่จะช่วยอินเดียในการเชื่อมโยงการขนส่งคมนาคมกับประเทศเพื่อบ้าน รวมถึงการพัฒนาเส้นทางขนส่งในภาคอีสานอินเดีย
7. ญี่ปุ่นตัดสินใจถอดชื่อบริษัทอินเดีย 6 บริษัท ในสาขาอวกาศและอาวุธออกจากรายชื่อบริษัทต้องห้ามในญี่ปุ่น
8. คณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดความร่วมมือสั่งซื้อเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก US-2 จากญี่ปุ่น โดยจะทำการส่งมอบเครื่องและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้แก่อินเดียโดยเร็ว ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินในอินเดีย
9. ญี่ปุ่นจะร่วมมือกับอินเดียในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยเริ่มจากโครงการบ้านพี่เมืองน้อง Kyoto-Varanasi โดยญี่ปุ่นจะช่วยอินเดียพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชนเมืองของพาราณสีให้เป็นเมืองอัจฉริยะ
10. นายกฯ โมดีจะจัดตั้งทีมบริหารจัดการพิเศษภายในสำนักนายกฯ เพื่อบริหารจัดการการลงทุนจากญี่ปุ่นโดยเฉพาะ โดยทีมดังกล่าวจะดูแลให้การลงทุนจากญี่ปุ่นไม่ติดกับระบบราชการที่ทำให้ล่าช้า
หากลองพิจารณาสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ในการเยือนครั้งจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์อินเดีย-ญี่ปุ่นต่อจากนี้ไป จะเป็นความสัมพันธ์หุ้นส่วนบนพื้นฐานของการเกื้อกูลกันและกัน โดยอินเดียต้องการเงินทุนและ know-how จากญี่ปุ่นเพื่อกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นก็ต้องการเปิดโอกาสและตลาดให้บริษัทญี่ปุ่นที่ขณะนี้ต้องออกหาตลาดนอกประเทศเพราะเศรษฐกิจในบ้านและยุโรปที่ชะลอตัว
เชื่อแน่ว่า หลายๆ ประเทศที่มีเงินทุนและมี know-how เช่นญี่ปุ่น ก็คงพยายามเข้าหาอินเดียในฐานะประเทศที่เป็นตลาดใหม่และตลาดใหญ่ และพยายามเสนอตัวเป็นหุ้นส่วนกับอินเดียเป็นแน่ แต่ญี่ปุ่นจะยังได้เปรียบกว่าเพราะเข้าไปอินเดียตั้งแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่สมัยที่ประเทศอื่นๆ ยังกล้าๆ กลัวๆ หรือแม้แต่จีนเอง ก็อาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงอินเดียได้อย่างลึกซึ้ง เพราะปัญหาคาราคาซังด้านการเมืองและเขตแดนที่ค้ำคอทั้งสองฝ่ายอยู่
คำถามสำคัญที่เราคงต้องหาคำตอบคือ ประเทศไทยขณะนี้อยู่ตรงไหนของนโยบายการต่างประเทศอินเดีย เพราะแม้อินเดียดูจะเอาจริงเอาจังกับนโยบาย Look East Policy ที่กล่าวมาแล้ว แต่ไทยยังไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก แม้แต่ในบริบทของอาเซียน ตั้งแต่รัฐบาลใหม่ของอินเดียเข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือน มิ.ย. รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียได้เดินทางเยือนเพียงสิงคโปร์และเวียดนามเพียงสองประเทศในอาเซียน
แน่นอนว่า อินเดียต้องการมีความสัมพันธ์กับประเทศที่จะช่วยให้อินเดียพัฒนาประเทศตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด สิงคโปร์มีเงินทุนและเข้าไปหาตลาดในอินเดียมาเนิ่นนานแล้ว แถมยังมีความเชื่อมโยงกับอินเดียผ่านชาวอินเดียโพ้นทะเลในสิงคโปร์ เช่นเดียวกับมาเลเซีย ขณะที่เวียดนามก็เป็นผลประโยชน์ของอินเดียในทะเลจีนใต้ การที่เวียดนามให้สัมปทานขุดสำรวจน้ำมันแก่บริษัทอินเดียในทะเลจีนใต้ ทำให้อินเดียสามารถมีเรือลาดตระเวนในบริเวณนั้นได้ และทำตัวให้มีบทบาทมากขึ้นในโครงสร้างภูมิรัฐศาสตร์ในทะเลจีนใต้เพื่อไม่ให้ตกขบวน ขณะที่อินโดนีเซียก็ได้เปรียบตรงที่เป็นตลาดใหญ่มีประชากรถึง 200 ล้านคน
ดังนั้น หากไทยคิดจะแข่งกับประเทศในอาเซียนด้วยกันหรือกับประเทศอื่นๆ ไทยก็คงต้องพิจารณหาจุดแข็งของเราที่จะนำไปเสนอขายให้อินเดียให้ได้ การใช้ที่ตั้งของไทยในฐานะศูนย์การการเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเป็นสปริงบอร์ดไปยังประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมด รวมถึงการเป็นทางเชื่อมกับอินเดียทั้งทางถนนผ่านเมียนมาร์ และทางเรือผ่านท่าเรือทวาย เป็นต้น จึงน่าจะเป็นไพ่ที่ไทยน่าจะใช้ดึงดูดอินเดียได้ เพราะอินเดียน่าจะต้องการประตูสู่ตลาดใกล้บ้าน ที่สำคัญต้องการพัฒนาภาคอีสานของอินเดียที่เป็นทางเชื่อมกับอาเซียนด้วย
ในด้านการเข้าไปลงทุน ไทยเราคงเงินไม่หนาเท่าประเทศอย่างญี่ปุ่นหรือจีน แต่ที่เราน่าจะลองทำได้คือใช้ประโยชน์จากความใกล้ชิดของเอกชนไทยกับญี่ปุ่นที่มีมาช้านาน ในการเข้าไปเจาะตลาดอินเดียร่วมกัน เพราะในเมื่อญี่ปุ่นรับงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จากอินเดียมามากมายมหาศาล ญี่ปุ่นคงทำเองได้ไม่หมด และคงต้องการหุ้นส่วนที่ไว้ใจได้มาช่วย ไทยเราน่าจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ญี่ปุ่นจะคิดถึง ตัวอย่างการเข้าไปร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นในอินเดียของบริษัทไทยก็มีให้เห็นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไทยซัมมิตที่เกาะบริษัทรถญี่ปุ่นไปตั้งโรงงานป้อนชิ้นส่วนให้โรงงานญี่ปุ่นทางใต้ของอินเดีย
ที่สำคัญที่สุด เอกชนไทยต้องเลิกความคิดอคติกลัวแขกเกลียดแขก กลัวว่าไปทำธุรกิจแล้วจะโดนหลอกโดนโกง เพราะการทำธุรกิจย่อมมีอุปสรรคทุกที่ที่ไป โดยเฉพาะถ้าเป็นการไปต่างบ้านต่างเมืองที่มีวัฒนธรรมต่างกับเรา การเข้าไปทำธุรกิจต้องอาศัยการศึกษาและความเข้าใจในตลาดที่จะไป อุปสรรคต่างๆ ก็ไม่น่ายากเกินฝ่าฟัน เพราะไม่เช่นนั้นประเทศอย่างญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ คงไม่พากันแห่เข้าไปลงทุนในอินเดียกันเป็นการใหญ่ขนาดนี้แน่นอน
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
5 กันยายน 2557