โมดีนำความสัมพันธ์จีน-อินเดียสู่ศักราชใหม่
และแล้วเข็มทิศการเดินทางของนายกรัฐมนตรีคนดังของอินเดีย นายนเรนทร โมดี ก็หมุนกลับมายังภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง หลังจากในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา นายโมดีมุ่งหน้าเดินทางเยือนประเทศมหาอำนาจในกลุ่ม G7 ในฟากยุโรปเพื่อโปรโมตโครงการใหญ่ๆ อย่าง “Make in India”, “Smart Cities” หรือ “Clean Ganga” เพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ
คราวนี้ ก็ถึงโอกาสที่นายโมดีจะเดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้านที่ใหญ่ที่สุด และเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอย่างจีน โดยเป็นการตอบแทนการเยือนของนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน ที่เดินทางเยือนอินเดียเมื่อเดือน มิถุนายน 2557 โดยนายโมดีมีความมุ่งหวังที่จะไปตอกย้ำความประสงค์ของอินเดียที่จะร่วมมือกับจีน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจเพื่อขยายขอบเขตการค้าการลงทุนระหว่างกัน
ครั้งนี้ถือว่ารัฐบาลจีนให้การต้อนรับนายโมดีอย่างยิ่งใหญ่มาก เพราะนายโมดีถือเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่จีนให้การต้อนรับนอกกรุงปักกิ่ง โดยนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน บินไปให้การต้อนรับนายโมดีถึงเมืองซีอาน บ้านเกิดเมืองนอนของนายสีเอง โดยได้จัดขบวนต้อนรับอลังการแบบสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งแม้หลายฝ่ายจะมองว่าเป็นการตอบแทนที่นายโมดีได้ให้การต้อนรับนายสีที่รัฐบ้านเกิดคุตราช ที่นายโมดีเคยเป็นมุขมนตรีอยู่ถึง 10 ปีเมื่อครั้งที่นายสีเยือนอินเดียในเดือนกันยายน 2557 และดูจะเป็นการทำนอกกรอบพิธีการทูต แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเพื่ออินเดียแล้วจีนก็พร้อมทำทุกอย่างเช่นกัน นับว่าเป็นการเริ่มต้นการเยือนที่สวยงามเลยทีเดียว
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับนายโมดีในการเยือนครั้งนี้คือการผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในความร่วมมือสาขาต่างๆ ที่ทั้งคู่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสำหรับบริษัทจีน ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงการเลือกเมืองปูเน่ รัฐมหาราษฎะและเมืองอาเมดาบัด รัฐคุตราชเป็นเมืองเป้าหมาย ความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างรถไฟความเร็วสูงเดลี-เจนไน ความยาว 1,754 กม. การร่วมลงทุนในโครงการเมืองอัจฉริยะและการประกาศเพิ่มการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมและโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในจำนวน 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งล้วนแต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
ในการเยือนครั้งนี้ ผู้นำทั้งสองจึงได้ถือโอกาสหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับดำเนินโครงการเหล่านี้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนั้น ยังได้หารือปัญหาขาดดุลการค้าของอินเดียต่อจีน ซึ่งระหว่างปี 2556-2557 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่เกือบ 70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอินเดียเป็นฝ่ายเสียดุลถึง 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงได้หารือการเข้าถึงตลาดจีน และขยายส่วนแบ่งในตลาดจีน โดยเฉพาะในภาคบริการและไอที
นายโมดีให้ความสำคัญกับการเยือนครั้งนี้เป็นพิเศษ เพราะเห็นว่าในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว จีนสามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียและโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลของตนกำลังดำเนินการ เพื่อตอบโจทย์ทั้งในด้านการจ้างงานและการกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตของจีนได้ เพราะจีนสามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกของอินเดีย นอกจากนั้น จีนยังสามารถใช้อินเดียเป็นฐานการผลิตทางเลือกอีกแห่งหนึ่งได้ด้วยผ่านโครงการ Make in India ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวก็ได้รับการตอบรับด้วยดีจากฝ่ายจีน ระหว่างการพบปะของนายโมดีกับคณะนักธุรกิจในเซี่ยงไฮ้ มีการลงนามข้อตกลงถึง 26 ฉบับ มูลค่ากว่า 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อีกประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามอง คือปัญหาข้อพิพาทเขตแดนระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งการเยือนครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าที่ชัดเจนและบรรยากาศของความเป็นมิตรในภาพรวม เพราะเป็นครั้งแรกที่ไม่มีเหตุการณ์การปะทะ/ลุกล้ำข้ามเขตแดนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในช่วงการเยือนของผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายเหมือนที่ผ่านมา มีการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกรณีข้อพิพาทอย่างตรงไปตรงมา มีการอ้างอิงถึงผลพวงของประวัติศาสตร์ แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
สิ่งที่สื่อมวลชนได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวนายโมดีในการเยือนระดับสูงหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา คือทักษะการทูตแบบส่วนตัว (personal diplomacy) ที่สร้างความรู้สึกใกล้ชิดและสนิทสนมกับผู้นำต่างชาติ เช่น การจับมือที่เป็นมิตร การใช้เวลาคุยส่วนตัวนอกสถานที่กับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง การสวมกอดนายชินโซะ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่นอย่างอบอุ่น การเดินชมสวนและนั่งดื่มชากับประธานาธิบดีบารัก โอบามาที่กรุงนิวเดลี การล่องเรือในแม่น้ำแซนกับประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศส รวมถึงการถ่ายภาพเซลฟี่กับผู้นำหลายๆ คนในระหว่างการเยือน
นับว่า นายโมดียังคงคอนเซ็ปต์การเป็นนายกรัฐมนตรีนักคิดนอกกรอบของอินเดียไว้ได้อย่างดี และความคิดสร้างสรรค์ของรัฐบาลโมดีนี่เองที่กำลังทำให้อินเดียกลับมาอยู่ในเรดาร์ของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ทั่วโลกได้อีกครั้ง
โดย พจมาศ แสงเทียน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,057
วันที่ 31 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558