การค้าไทย-อินเดีย ถึงเวลาคิดนอกกรอบแล้วหรือยัง
ช่วงนี้อินเดียกำลังเนื้อหอม ผู้นำต่างประเทศทั่วโลกพากันแวะเวียนไปเยี่ยมและทักทายนายกรัฐมนตรีชื่อดังนายนเรนทร โมดี แบบว่าหัวกระไดไม่เคยแห้ง แต่ละประเทศที่มาเยือนก็ล้วนต้องการกระชับความสัมพันธ์กับอินเดียโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจด้วยการนำจุดเด่นของตัวเองมาเสนอขายให้อินเดีย เพื่อกรุยทางให้เอกชนของตนสามารถเจาะเข้าสู่ตลาดอินเดียที่มีประชากรมากกว่า 1.2 พันล้านคนได้ง่ายขึ้น
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายสำหรับประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาความสัมพันธ์กับอินเดียดูจะแผ่วๆ หลังจากรุ่งเรืองสุดๆ ในช่วงปี 2554-2556 ที่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับนายกฯ ถึง 4 ครั้ง ไม่นับรวมการเยือนระดับรัฐมนตรีอีกนับครั้งไม่ถ้วน มีการสัญญาที่จะร่วมมือกันยกระดับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันขึ้นไปอีก โดยในด้านการค้าทั้งสองฝ่ายเคยตั้งเป้าให้มีมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯให้ได้ภายในปี 2558
แต่นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 เป็นต้นมา ตัวเลขการค้าไทย-อินเดียที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด (เติบโตเฉลี่ยปีละมากกว่า 20% ในช่วงปี 2552-2555) กลับชะลอตัวอย่างฮวบฮาบ โดยในปี 2556 มูลค่าการค้าติดลบ 2% ขณะที่ในปี 2557 ที่ผ่านมา ดูท่าว่าจะเติบโตเฉียดๆ 0% อยู่ที่ประมาณ 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังห่างจากเป้าหมาย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯอยู่พอสมควร
ประธานาธิบดีโอบามานำทัพเอกชนสหรัฐฯ พบเอกชนชั้นนำของอินเดียที่นิวเดลีเมื่อ 27 ม.ค. 58 เหตุที่ตัวเลขการค้าไทย-อินเดียมีแนวโน้มลดต่ำลง หลักๆ เกิดจากการที่รัฐบาลอินเดียต้องหันไปเล่นไพ่การเมืองภายในโดยเน้นนโยบายปกป้องตลาดภายในประเทศและปกป้องประชาชนและเศรษฐกิจภาพรวมที่ได้รับผลกระทบจากการไหลเข้าของสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะทองคำที่เป็นสาเหตุหลักของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินเดีย ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องเต้น ขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าทองคำและถึงกับประกาศจะทบทวนความตกลง FTA กับต่างประเทศทั้งหมดที่ทำให้อินเดียเสียเปรียบ
ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกอินเดียเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เพราะอินเดียเสียดุลการค้าให้แก่ไทยมาตลอดนับตั้งแต่มีการลงนามความตกลง FTA ร่วมกันเมื่อปี 2546 แถมอินเดียยังเชื่อว่ามีการลักลอบนำเข้าทองคำจากไทยไปในอินเดียในรูปแบบเครื่องประดับเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีภายใต้ความตกลง FTA ซึ่งแม้ไทยจะพยายามอธิบายแต่ฝ่ายอินเดียก็ต้องป้องกันตัวเองไว้ก่อน ทำให้มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับจากไทยไปอินเดียลดลงเกือบเป็นศูนย์ในช่วงปี 2556-57 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาคล้ายๆ กันกับจอ LED TV ที่ไทยเคยส่งออกไปอินเดียภายใต้ FTA แต่ต้องหยุดลงเพราะอินเดียไม่เชื่อใน Certificate of Origin (CO) ของไทย
ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยทราบดีและพยายามมาตลอดที่จะเจรจากับฝ่ายอินเดียเพื่อให้การค้าขายที่เคยมีอยู่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ประเมินจากท่าทีที่ผ่านมาของอินเดียในเรื่องนี้ดูจะหาทางออกได้ยาก เพราะฝ่ายอินเดียคงยืนกรานเพราะมีการเมืองภายในค้ำคอ ขณะที่แนวโน้มของรัฐบาลชุดใหม่นี้ยังต้องการลดการขาดดุลการค้าด้วยการดึงดูดให้เอกชนต่างชาติเข้าไปลงทุนผลิตในอินเดีย เห็นได้จากแคมเปญ Make in India เพื่อกระตุ้นการผลิตเพื่อการส่งออกและทดแทนการนำเข้า
เห็นอย่างนี้แล้ว ฝ่ายไทยคงไม่สามารถดันทุรังขอให้ฝ่ายอินเดียเปลี่ยนแปลงให้เรา เพราะต้องยอมรับว่าระดับความสำคัญของไทยในฐานะคู่ค้าของอินเดียยังไม่เท่าประเทศทุนหนาๆ อย่างญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ หรือสหรัฐฯ เรามีอำนาจต่อรองน้อย ดังนั้น ไทยจึงควรปรับแนวทางในการคบค้าสมาคมกับอินเดียด้านเศรษฐกิจ โดยอาจต้องมองเลยการค้าขายแบบซื้อมาขายไปแบบดั้งเดิม และผนวกเอาเรื่องการลงทุนเข้าไปในแผนยุทธศาสตร์ของเราด้วย เพราะนั่นคือสิ่งที่รัฐบาลอินเดียต้องการมากกว่าการขายของ
การส่งเสริมให้เอกชนไทยเข้าไปลงทุนในอินเดียจึงน่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับไทยและถูกใจอินเดียมากที่สุด เพราะการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตในอินเดีย หมายถึงไทยจะได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานและต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าไทยและจีน อินเดียยังมีท่าเรือใหญ่ๆ เช่นที่รัฐมหาราษฏระ (เมืองมุมไบ) และรัฐคุชราตทางชายฝั่งตะวันตก ที่จะเป็นจุดกระจายสินค้าให้ไทยไปยังตลาดตะวันออกกลางและยุโรปได้ อินเดียเองก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องขาดดุลการค้ากับไทย แถมยังได้สร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนอีก
ข่าวดีก็คือ ขณะนี้เริ่มมีเอกชนไทยให้ความสนใจตลาดอินเดียมากขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเอกชนไทยที่มีวิสัยทัศน์ เข้าไปขายธุรกิจในอินเดียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศรีไทยซุปเปอร์แวร์ที่ทำธุรกิจขายตรงผลิตภัณฑ์เมลามีนในอินเดียจนยึดตลาดได้มั่น และขณะนี้กำลังสร้างโรงงานผลิตในรัฐคุชราต บริษัท ร้อกเวิร์ธเฟอร์นิเจอร์ฯ ที่ใช้โรงงานที่เจนไนเป็นฐานในการส่งออกไปยังตะวันออกกลางและกำลังคิดจะขยายไปตั้งโรงงานที่คุชราตเช่นกัน และยังมีบริษัท SMEs อย่าง Eureka Design ที่ตั้งโรงงานผลิตเครื่องจักร ป้อนให้บริษัทผลิตรถในนิวเดลี
แต่แน่นอนโอกาสในอินเดียยังมีอีกมากมายมหาศาล ภาครัฐของไทยต้องทำงานหนักขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่าเพื่อโน้มน้าวเอกชนไทยให้หันไปสนใจอินเดียมากขึ้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม บีโอไอและกระทรวงการต่างประเทศ ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อนำทัพเอกชนไทยตรงดิ่งไปยังแหล่งผลประโยชน์ในอินเดียให้ทันท่วงที เพื่อไม่ให้ไทยถูกชาติอื่นเบียดหลุดวงโคจรรอบอินเดียที่การจราจรกำลังหนาแน่นขึ้นอยู่ทุกวัน
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,025 วันที่ 8 - 11 กุมถาพันธ์ พ.ศ. 2558