จับตานโยบายเศรษฐกิจอินเดีย โอกาสทางธุรกิจของไทย
ประธานาธิบดีอินเดียกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสภาร่วม สะท้อนนโยบายรัฐบาล เร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ดูแลประชาชนรากหญ้า และปกป้องสิทธิประโยชน์แรงงานอินเดียในต่างประเทศ อินเดียทำความตกลงประกันสังคมแล้วกับฟินแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น สวีเดน และกำลังเร่งเจรจากับออสเตรียและโปรตุเกส
เช่นเดียวกับรัฐบาลไทย ที่พยายามรักษาผลประโยชน์แรงงานไทยในอินเดียในเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ขณะนี้ยังมีปัญหา คือแรงงานไทยไม่สามารถรับเงินคืนได้ แม้เสร็จงานกลับประเทศแล้วก็ต้องรอจนเกษียณ เรื่องนี้กระทรวงแรงงานไทยกำลังทำการบ้าน เตรียมเปิดฉากเจรจาทำความตกลงประกันสังคมกับอินเดีย เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานไทยจะได้เงินกองทุนคืนเร็วขึ้น
รายละเอียดอื่นๆ ที่นาย Pranab Mukherjee ประธานาธิบดีอินเดียกล่าวต่อที่ประชุมสภาร่วม ในวาระการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะสะท้อนผลงานเด่นและนโยบายสำคัญของรัฐบาลเรื่องต่างๆ ซึ่งนโยบายหลายเรื่องก็น่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของเอกชนไทยได้
1. การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันอินเดียประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันมีปัจจัยทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะงักงันและปัจจัยภายในประเทศ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลประกาศมาตรการหลายประการ ทำให้สภาพเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้น ภาวะเงินเฟ้อลดลง ทั้งนี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่แล้ว อยู่ในระดับที่น่าพอใจ คือร้อยละ 8 และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 12) รัฐบาลมุ่นเน้นที่การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและยั่งยืน
2. การเกษตร ผลผลิตการเกษตรที่สำคัญมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น อาทิ เมล็ดธัญพืช ข้าวสาลี ข้าว ข้าวโพด นม พืชสวน รัฐบาลมีนโยบายสำคัญด้านการเกษตร คือ 1) การผลักดันร่างกฎหมายความมั่นคงทางอาหารแห่งชาติ 2) การจัดทำแผนผลิตภัณฑ์นม เพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตให้ถึง 150 ล้านตันในปี 2016 (ปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตนมรายใหญ่ที่สุดในโลก) 3) การจัดทำแผนการแปรรูปอาหารแห่งชาติ โดยจะมีการสร้างโกดังเก็บผลผลิตการเกษตรปริมาณ 18.1 ล้านตันทั่วประเทศ โดยจะเพิ่มขนาดพื้นที่โกดังเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 5.4 แสนตัน 4) เพิ่มพื้นที่การชลประทาน และการจัดทำแผนนโยบายน้ำแห่งชาติ เพื่อการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างสูงสุด
3. การพัฒนาชนบทและชุมชนเมือง สานต่อโครงการประกันตำแหน่งงานในชนบท เพิ่มการสร้างบ้านในชนบท 1 ล้านหลัง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ผลักดันร่างกฎหมายการถือครองที่ดิน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตชุมชนเมือง เพิ่มงบประมาณกองทุนน้ำดื่มให้กับรัฐที่ขาดแคลน ร่วมกับธนาคารโลกทำโครงการจัดสรรและบำบัดน้ำประปาให้กับรัฐที่มีรายได้ต่ำ
4. การช่วยเหลือเด็ก สตรี และชนชั้น/วรรณะต่ำ เพิ่มงบประมาณในกองทุนบำนาญสำหรับคนพิการและแม่หม้าย จัดตั้งทุนการศึกษาสำหรับชนกลุ่มน้อย เด็กวรรณะจัณฑาลและเด็กพิการ เสนอการแก้ไขร่างกฎหมายการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรีในที่ทำงาน การมีมาตรการเพื่อการให้ความคุ้มครองและความปลอดภัยของสตรี โดยทดลองจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสตรีระยะเริ่มแรกใน 100 ตำบล
5. การสาธารณสุข ภายใต้โครงการสาธาณสุขในชนบทแห่งชาติ รัฐบาลได้เพิ่มและพัฒนาศูนย์อนามัยตามรัฐต่างๆ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนกว่า 4 หมื่นแห่ง รวมทั้งได้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์และพยาบาลโดยการอนุมัติให้เปิดวิทยาลัยแพทย์และพยาบาลเพิ่มขึ้น ตั้งโครงการตรวจสุขภาพเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อคัดกรองโรคร้าย มีโครงการที่ให้หญิงตั้งครรภ์รับบริการตรวจรักษาฟรี อัตราการตายของแม่และเด็กหลังการคลอดบุตรลดลง อัตราผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ลดลงจากร้อยละ 0.40 ในปี 2000 เป็น 0.27 ในปี 2011 นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการจัดทำบัตรประกันสุขภาพ ทำให้ผู้ป่วยประมาณ 4.3 ล้านได้ใช้ประโยชน์
6. การส่งเสริมการลงทุน โดยที่รัฐบาลตระหนักดีถึงปัญหาการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน จึงมีมาตรการสำคัญ 2 ประการ คือ 1) จัดตั้งคณะกรรมการคณะรัฐมนตรีด้านการลงทุนเพื่อเร่งรัดกระบวนการอนุมัติโครงการต่างๆ 2) จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มการเติบโตภาคการผลิตเป็นร้อยละ 25 ของ GDP และเพิ่มตำแหน่งงานอีก 100 ล้านตำแหน่งภายใน 10 ปี ภายใต้แผนนโยบายการส่งเสริมภาคการผลิตแห่งชาติ รัฐบาลจะจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมการผลิตและการลงทุน 12 เขต โดย 8 เขตจะอยู่ในเส้นทาง Delhi-Mumbai Corridor นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีนโยบายเปิดเสรีการลงทุนในสาขาค้าปลีก การบิน การกระจายเสียง และพลังงาน กับมีโครงการและมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยา การส่งออก สิ่งทอ SMEs การธนาคาร การท่องเที่ยว การบิน
7. การเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคม มีแผนสร้างเส้นทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าเชื่อมต่อภาคตะวันออก-ตะวันตก เส้นทางยาวกว่า 3,000 กม. สร้างรถขนส่งที่ทันสมัย พัฒนาสถานีรถไฟ โครงการสร้างถนน ท่าเรือใหญ่สองแห่งที่รัฐเบงกอลตะวันตกและอานธรประเทศ
8. พลังงาน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 รัฐบาลสามารถเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าได้ 2 แสนเมกะวัตต์ ทำให้หมู่บ้าน 2.8 แสนแห่งมีไฟฟ้าใช้ รัฐบาลมีแผนจะจัดสรรเหมืองถ่านหินเพิ่มอีก 12 แห่ง และกรมธรณีวิทยาจะสำรวจแหล่งแร่และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ 5 แสน ตร.กม. รัฐบาลมีเป้าหมายลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยจะเร่งพัฒนาการใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
9. วัฒนธรรม ในช่วงปี 2012 รัฐบาลได้จัดงานฉลองครบรอบวาระสำคัญของบุคคลผู้มีคุณูปการแก่อินเดียในด้านศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม ปรัชญาและศาสนา และยังมีการฉลองการครบรอบ 150 ปีการก่อตั้งกรมโบราณคดี ซึ่งได้มีความริเริ่มที่จะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดในประเทศลาว กัมพูชาและพม่า
10. ความมั่นคง ในช่วงปี 2012 เหตุรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มนิยมลัทธิเหมาลดน้อยลง โดยรัฐบาลใช้นโยบายคู่ขนาน ทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เขตอิทธิพลของกลุ่มนิยมลัทธิเหมา และการเพิ่มกองกำลังตำรวจ สถานการณ์ก่อการร้ายในรัฐจัมมูร์แคชเมียร์และภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงเช่นกัน รัฐบาลมีโครงการจัดการฝึกทักษะวิชาชีพให้แก่เยาวชนในรัฐจัมมูร์แคชเมียร์กว่า 1,500 คน นอกจากนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับความมั่นคงตามแนวชายแดน จึงเพิ่มจุดตรวจตามชายแดนบังคลาเทศ พม่า ปากีสถานอีกกว่า 500 แห่ง
11.รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปกครองประเทศด้วยหลักธรรมาภิบาล จึงมีการเสนอร่างกฎหมาย/แก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง
12. นโยบายต่างประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดกับประเทศเพื่อนบ้าน กับปากีสถานมีความคืบหน้าเรื่องการปรับความสัมพันธ์สู่ระดับปกติ โดยเริ่มจากการส่งเสริมการค้าและปฏิสัมพันธ์ระดับประชาชน อย่างไรก็ดีปากีสถานมีพันธกรณีที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องที่ทำให้อินเดียขาดความไว้วางใจ ภูมิภาคเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ อินเดียสนับสนุนการแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติวิธีในวิถีทางประชาธิปไตย (ผลประโยชน์ของอินเดียอยู่ที่แหล่งพลังงานและคนเชื้อสายอินเดียเกือบ 6 ล้านคน)
อินเดียได้ยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และบรรลุผลการเจรจา FTA ด้านบริการและการลงทุน อินเดียคาดหวังที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำใหม่ของจีน อินเดียมีความร่วมมือกับญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความสัมพันธ์กับรัสเซีย สหรัฐฯ EU ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์มีความใกล้ชิดแน่นแฟ้น
ในเวทีระหว่างประเทศ อินเดียมีบทบาทที่แข็งขันในฐานะสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อินเดียเป็นเจ้าภาพการประชุม BRICS Summit ครั้งที่ 4 และ IOR-ARC ระดับ รมต.ในปีที่ผ่านมา
อินเดียส่งเสริมความสัมพันธ์กับนานาประเทศในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา โดยกรมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย มีโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการแก่หลายประเทศ
อีกประมาณ 1 ปี อินเดียก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ก็คงต้องรอดูกันว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ประกาศไว้ให้ผลประโยชน์ลงไปถึงประชาชนรากหญ้าที่เป็นฐานเสียงสำคัญได้หรือไม่
แต่ไม่ว่าพรรคไหนจะชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติก็คงไม่เปลี่ยน หลายๆ สาขาที่อินเดียต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ การพัฒนาชุมชนเมืองโดยเร่งสร้างที่อยู่อาศัย ล้วนเป็นโอกาสทางธุรกิจงามๆ ของเอกชนไทย
ศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์
รายงานจากกรุงนิวเดลี
23 กุมภาพันธ์ 2556