หกนายแบงก์ใหญ่แห่งอินเดีย เสวนาเศรษฐกิจกับธุรกิจธนาคาร
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมาที่เมืองมุมไบ หนังสือพิมพ์ Business Standard ของอินเดียได้จัดงาน Business Standard Banking Round Table ขึ้น และได้เชิญนายแบงก์ใหญ่ของธนาคารสำคัญในอินเดียมาร่วมสนทนาปัญหาเศรษฐกิจและแลกเปลี่ยนมุมมองของภาคการเงินและธนาคาร
งานนี้ ถือว่ามีผู้ที่มีชื่อเสียงในแวดวงธนาคารอินเดียมาร่วมกันคับคั่ง นับตั้งแต่นางจันดา โคชา ซีอีโอ ธนาคาร ICICI นางสิกขา ชาร์มา ซีอีโอ ธนาคาร Axis นายสจ๊วร์ต มิลเนอร์ ซีอีโอ HSBC นายอทิตยา ภูรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ HDFC นายเทพภัตรา สาร์การ ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ Union Bank of India ไปจนถึงนายประมิตร ชาเวรี ซีอีโอ ซิตีแบงก์อินเดีย
อินเดียผ่านช่วงเลวร้ายที่สุดไปหรือยัง
คำถามที่สำคัญที่สุดของงานนี้คือ ช่วงเลวร้ายที่สุดของเศรษฐกิจอินเดียได้ผ่านพ้นไปแล้วหรือ นางโคชากล่าวว่า ขณะนี้มีสัญญานบวกหลายประการที่แสดงให้เห็นว่าอินเดียได้ผ่านจุดต่ำที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผลผลิตเกษตรที่กระเตื้องขึ้น ค่าเงินที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ตัวเลชการส่งออกที่ค่อยๆ ดีขึ้น รวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เริ่มทยอยได้รับไฟเขียวจากรัฐบาล อย่างไรก็ดี นางโคชากล่าวว่า แม้เศรษฐกิจอินเดียน่าจะกำลังทะยานกลับในแดนบวก แต่จะเป็นไปอย่างช้าๆ
ด้านนายประมิตรเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ แม้จะมีตัวเลขเงินตราต่างประเทศเข้ามาในอินเดียมากขึ้น แต่เศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังดีขึ้น แสดงให้เห็นว่า การยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐจะตามมา ส่งผลให้นักลงทุนหันกลับสู่ตลาดสหรัฐ แต่ขณะนี้ ธนาคารกลางอินเดียอยู่ในสถานะที่สามารถดูแลค่าเงินได้ดีกว่าก่อนหน้านี้
นางสิกขา ชาร์มาให้ความเห็นว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่โครงการการลงทุนขนาดใหญ่เดิมที่ยังติดขัดไม่ได้รับใบอนุญาตให้เดินหน้า ควรจะได้รับการแก้ไขก่อนที่จะเปิดรับการลงทุนใหม่ เมื่อโครงการเหล่านี้ได้รับการแก้ไขแล้ว เชื่อว่านักลงทุนก็จะมีความเชื่อมั่นและหันมาลงทุนเพิ่มอีก
แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายในระยะสั้น
นางสิกขายังกล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยว่า ขณะนี้ การบริโภคภายในกำลังเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงผลักดันจากภาคการเกษตร ตลาดชนบท และธุรกิจบริการ แต่อัตราดอกเบี้ยที่เอื้อต่อการเติบโตเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ยังคงเดินหน้าต่อไป
นางโคชากล่าว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงมีความจำเป็นในการควบคุมเงินเฟ้อ แต่หากพิจารณาจากพลวัตรและแรงกดดันของการเติบโตทางเศร ษฐกิจ การลดดอกเบี้ยน่าจะมีผลดีและช่วยสนับสนุนการเติบโตมากกว่า ขณะที่นายภูรีเห็นว่า การควบคุมเงินเฟ้อเป็นเรื่องจำเป็นต่อการเจริญเติบโตในระยะยาว แต่ธนาคารกลางไม่สามารถใช้เพียงมาตรการทางการเงิน รัฐบาลต้องควบคุมการใช้จ่ายด้วย
"คุณต้องลดการขาดดุลบัญชีใช้จ่าย โดยเลือกใช้จ่ายเฉพาะในสิ่งที่เป็นประโยชน์ หวังว่า ฤดูมรสุมที่ผ่านมาจะช่วยให้เงินเฟ้อด้านอาหารลดลง และธนาคารสามารถลดดอกเบี้ยได้" นายภูรีกล่าว ขณะที่นายสจ๊วร์ตเห็นด้วยกับการควบคุมเงินเฟ้อ เพื่อประโยชน์ของชนชั้นล่างในสังคม.
ถึงเวลาลงทุนหรือยัง
จากการเสวนาปีที่แล้ว มีการกล่าวว่า ควรมีการดึงดูดให้มีการลงทุนของเอกชนรายใหญ่ แต่จนบัดนี้ยังไม่มีวี่แววใดๆ นายเทพภัตรากล่าว่า ปัญหาอยู่ที่การขออนุญาตที่ใช้เวลานาน รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการคืนทุนหรือกำไร ทำให้นักลงทุนยังคงลังเลอยู่
ธนาคารต่างชาติในอินเดีย
ระหว่างการสัมมนา มีการกล่าวถึงกรณีการที่ธนาคารกลางอินเดียออกแนวทางใหม่ ให้ธนาคารต่างชาติเข้าไปทำการในอินเดียได้ในรูปแบบของบริษัทลูก แทนการเป็นสาขาธนาคารอย่างที่หลายแห่งเป็นอยู่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสจ๊วร์ตกล่าวว่า สำหรับ HSBC ถือว่าไม่มีผลกระทบ เพราะ HSBC สามารถดำเนินธุรกิจได้ทั้งสองรูปแบบ แต่คงต้องดูรายละเอียดของแนวปฏิบัติใหม่ของอินเดียต่อไป
ขณะที่นางชาเวรีกล่าวว่า สำหรับซิตี้แบงก์ คงยังไม่มีการตัดสินใจในเร็ววันนี้ แต่คงต้องมองยุทธศาสตร์ของเราให้ดีว่า ในประเทศนี้เราต้องการอะไร แต่ที่แน่นอน ซิตี้แบงก์ไม่ต้องการแข่งชันกับธนาคารท้องถิ่นในแง่ของสาขา เพราะคงสู้ไม่ได้
นายภูรีกล่าวในนามธนาคารท้องถิ่นว่า ธนาคารอินเดียคงไม่ได้มองธนาคารต่างชาติเป็นคู่แข่ง เพราะขณะนี้ยังไม่มีธนาคารต่างชาติไหนที่พร้อมจะลงทุนมากมายในอินเดีย แต่ในทางกลับกัน การแข่งขันก็เป็นสิ่งที่ดีต่อภาคธุรกิจนี้แน่นอน
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
14 พฤศจิกายน 2556