อินเดียนำทัพประเทศกำลังพัฒนาบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ Bali Package ที่การประชุม WTO ที่บาหลี ที่จะทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถจัดโครงการอุดหนุนอาหารเพื่อประชาชนที่ยากจนได้โดยไม่ผิดกฎ WTO
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อินเดียกลายเป็นข่าวดังระดับโลกในแวดวงการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อนายอนันต์ ชาร์มา รัฐมนตรีการค้าอินเดีย นำทัพประเทศกำลังพัฒนาสู่เส้นชัย ต่อรองกับชาติตะวันตกและพี่เบิ้มอย่างสหรัฐจนต้องยอมให้อินเดียและประเทศกำลังพัฒนาอุดหนุนอาหารได้โดยไม่ผิดกฎ WTO
ข่าวนี้เป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก เพราะการบรรลุข้อตกลงระหว่างการประชุมดังกล่าวซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อองค์กรที่กระเสือกกระสนหาความชอบธรรมที่จะมีตัวตนอยู่ต่อไป หลังจากที่เจรจารอบโดฮาติดขัดมาเกือบสิบปี
แต่ที่ดังไปยิ่งกว่านั้นในอินเดีย คือการที่อินเดียสามารถผลักดันจนประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ยอมรับข้อเสนอของอินเดียให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถให้เงินอุดหนุนอาหาร (food subsidy) มากกว่า 10% ตามกฎของ WTO ได้โดยไม่ถือว่ามีความผิดจนกว่าจะมีการหามาตรการถาวรมารองรับ
หนังสือพิมพ์อินเดียเกือบทุกฉบับนำเสนอภาพของนายอนันต์ ชาร์มาที่มีลีลาดุดัน เปรียบเสมือแม่ทัพที่นำทัพไปรบชนะโลกตะวันตกได้โดยไม่กลัวน่าอินทร์หน้าพรหม และที่สำคัญทำให้รัฐบาลอินเดียสามารถดำเนินโครงการจำหน่ายอาหารราคาถูกแก่ประชาชนที่ยากจนได้ถึงประมาณ 800 ล้านคน
แน่นอนสื่ออินเดียย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะเชื่อมโยงประเด็นดังกล่าวกับการเมือง เพราะช่วงนี้กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียที่จะมีขึ้นช่วง เม.ย.-พ.ค. 57 พรรครัฐบาลคองเกรสกำลังเสียความนิยม เห็นได้จากการเลือกตั้งระดับรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อนที่พรรคคองเกรสพ่ายแพ้คู่แข่งอย่างราบคาบ ทำให้ข้อตกลงนี้ ซึ่งจะมีผลต่อประชาชนชั้นรากหญ้ากว่าค่อนประเทศ ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งยวด
แม้หลายฝ่ายจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลว่า ข้อตกลงนี้ทำให้อินเดียสูญเสียอำนาจอธิปไตยที่จะกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารด้วยตัวเอง แต่ภาคเอกชนของอินเดียกลับออกมาตอบรับความสำเร็จของรัฐบาลกันถ้วนหน้า
โดยสำหรับภาคเอกชนอินเดีย ข้อตกลงนี้จะเป็นประโยชน์มากต่อภาคธุรกิจ เพราะรัฐบาลอินเดียได้แลกเปลี่ยนข้อตกลงการอุดหนุนอาหารกับการตกลงที่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกการค้า (trade facilitation) ซึ่งแม้จะเป็นยาขมอยู่พอควร แต่ก็จะทำให้ภาคการส่งออกของอินเดียได้ประโยชน์
แม้ขณะนี้จะยังบอกไม่ได้ว่า ข้อตกลงที่อินเดียไปผลักดันมาที่ WTO นั้นจะเป็นประโชน์กับอินเดียมากน้อยเพียงใด สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐและเอกชนไทยน่าจะเรียนรู้ได้จากอินเดีย คือความกล้าท้าชนกับประเทศตะวันตก โดยยึดมั่นผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก รวมถึงการทำงานเป็นทีมระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ที่ทำให้ภาครัฐสามารถดำเนินนโยบายได้อย่างคล่องตัว
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
13 ธันวาคม 2556