หนังสือพิมพ์ The Economic Times ฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 รายงานว่า รัฐบาลอินเดียมีแผนที่จะตั้งศูนย์กลางการผลิตยานยนต์สองแห่งขนาด 10,000 เอเคอร์ ในภาคกลางและตะวันออกของประเทศ
ศูนย์กลางแห่งใหม่นี้ มุ่งสร้างความเป็นหนึ่งของอินเดียในฐานะจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับการผลิตยานยนต์ราคาถูก เพิ่มเติมจากเขตที่มีอยู่แล้ว 3 เขตในรัฐหรยาณะ มหาราษฎระ และทมิฬนาดู อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียที่คาดว่าจะมีมูลค่า 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้ นับเป็นร้อยละ 6 ของมูลค่า GDP ของประเทศ
นาย Praful Patel รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมหนักและรัฐวิสาหกิจกล่าวกับนักธุรกิจชั้นนำของบริษัทยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า มีความต้องการที่จะเพิ่มความสามารถอินเดียเพื่อแข่งขันด้านราคาและการเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตขนาดใหญ่ ให้เป็นผู้นำของโลกในด้านการผลิตราคาถูก
นาย Patel กล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้ อินเดียเป็นผู้นำด้านการผลิตรถขนาดเล็กอยู่แล้ว จึงต้องการที่จะรักษาประสิทธิภาพระดับสูงในด้านนี้และคุมราคาให้ย่อมเยา ศูนย์กลางการผลิตควรได้รับการพัฒนาให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ นาย Patel ยังประกาศที่จะจัดตั้งคณะทำงานระดับรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมวิตกกังวลเกี่ยวกับภาษีที่สูงและแผนจูงใจในการส่งออก เช่น Duty Entitlement Passbook (DEPB)
คณะทำงานจะประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงสำคัญของอินเดีย อาทิเช่น กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียที่ใหญ่เป็นอันดับเจ็ดของโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 1.45 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากมูลค่าปัจจุบันที่ 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาคอุตสาหกรรมยังต้องการจะให้มีโครงสร้างภาษีที่ยืดหยุ่นและการปฏิรูปกฎหมายแรงงานเพื่อดำรงความสามารถในการแข่งขันในการส่งออก ซึ่งปัจจุบันชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดียมีมูลค่าการส่งออก 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ของอินเดีย (The Society of Indian Automobile Manufacturers – SIAM) ได้ขอให้มีการอนุญาตให้ปลดพนักกงานออกในช่วงการผลิตซบเซา โดยจะต้องมีสวัสดิการสำหรับผู้ว่างงานที่เหมาะสม นาย Pawan Goenka ประธาน SIAM กล่าวว่า การปฏิรูปแรงงานเป็นประเด็นสำคัญของสมาคม อุตสาหกรรมของอินเดียไม่มีการปลดพนักงานออกในช่วงการผลิตซบเซา ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทั่วไปของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์อื่นๆ
นาย Pawan กล่าวว่า บริษัทต่างๆ ควรจะส่งเสริมให้มีการว่าจ้างถาวรเหมือนกับในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่มีการปลดออกในช่วงการผลิตซบเซาได้ โดยจะต้องมีกลไกประกันสังคมในรูปแบบของเงินทุนรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
คณิน บุญญะโสภัต
ทีมงาน Thaiindia.net
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี