'Make in India' ปูพรมแดงต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ
เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียนำโดย นายนเรนทร โมดี นายกรัฐมนตรีหัวก้าวหน้าและนักคิดนอกกรอบ ได้เปิดตัวแคมเปญ "Make in India" ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอินเดียให้เป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก (manufacturing hub)
โบรชัวร์สีสันสดใสสไตล์อินเดียสำหรับแคมเปญ Make in India
แคมเปญดังกล่าวเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของนายโมดีที่ได้ให้ไว้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่ต้องการฟื้นคืนชีพให้กับเศรษฐกิจอินเดียที่ซบเซา ด้วยการกระตุ้นให้มีการผลิตและสร้างงานรองรับหนุ่มสาวที่จะเข้าสู่วัยทำงานปีละกว่า 15 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า แคมเปญ "Make in India" ของนายโมดีจึงมุ่งเป้าไปที่การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI)
แนวคิดหลักของแคมเปญนี้คือการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์และทัศนคติของระบบราชการอินเดียซึ่งที่ผ่านมายังยึดระบบ License Raj คือข้าราชการใช้อำนาจให้อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เอกชนทำธุรกิจได้เต็มที่ ทำให้การทำธุรกิจในอินเดียมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อินเดียถูกจัดอยู่ในอันดับ 134 จาก 189 ประเทศ ในรายงาน Ease of Doing Business ของธนาคารโลกปีล่าสุด (ไทยอยู่อันดับที่ 18 และสิงคโปร์เป็นอันดับ 1)
แนวคิดใหม่ที่นายโมดีพยายามจะสร้างให้เกิดขึ้นในระบบราชการของอินเดียคือการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นหุ้นส่วนกับภาคเอกชนในการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในอินเดีย โดยเน้นบทบาทให้การสนับสนุนมากกว่าเป็นผู้อนุญาต โดยลดขั้นตอนระบบราชการ (red tape) และเปลี่ยนเป็นการปูพรมแดง (red carpet) ต้อนรับเอกชน โดยการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ
นายโมดีเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่แคมเปญ "Make in India"
สิ่งที่รัฐบาลอินเดียจะทำเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือการจัดตั้งหน่วยพิเศษ (special cell) เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่เอกชนต่างชาติที่ต้องการไปลงทุนในอินเดีย โดยมีหน่วยงานที่ชื่อว่า Invest India ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่รัฐบาลอินเดียร่วมทุนกับสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย (FICCI) โดยนายโมดีมีคำสั่งประกาศิตไว้ว่า คำถาม/ปัญหาทางธุรกิจของเอกชนต่างชาติจะต้องได้รับคำตอบ/ทางออกภายใน 72 ชั่วโมง
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังเตรียมปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเข้าไปทำธุรกิจของต่างชาติในอินเดีย เช่น การยกเลิกการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่ซ้ำซ้อน การขยายเวลาใบอนุญาตต่างๆ จาก 1 ปีเป็น 3 ปี การจัดตั้งระบบ one-stop service ออนไลน์ (eBiz) สำหรับเป็นศูนย์รวมการขอรับใบอนุญาต การปรับใช้ระบบภาษีเดียว (GST) และการเพิ่มเพดานการลงทุน FDI ในสาขาต่างๆ
สิ่งที่เห็นจะเป็นไฮไลต์และ "สีสัน" ของงานนี้ดูจะเป็นการเปิดตัว เว็บไซต์ makeinindia.com และเอกสารประชาสัมพันธ์ Make in India ที่มีสีสันและดีไซน์ทันสมัยและน่าดึงดูดใจอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยเว็บไซต์ makeiindia.com ถือเป็นคู่มือสำหรับนักลงทุนต่างชาติฉบับสมบูรณ์ โดยได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่โอกาสทางธุรกิจในสาขาเป้าหมาย 25 สาขา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมี เทคโนโลยีสารสนเทศ ยา สิ่งทอ ท่าเรือ การบิน เครื่องหนัง การท่องเที่ยว สุขภาพ และการขนส่งระบบราง ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย กฎระเบียบ ขั้นตอนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละสาขา เพื่อให้เอกชนที่สนใจลงทุนสามารถได้รับข้อมูลครบถ้วนในจุดเดียว
สิ่งที่น่าชมเชยสำหรับแคมเปญนี้ก็คือรูปแบบการดำเนินการและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่จัดทำอย่างมืออาชีพ ทันสมัยและน่าดึงดูดใจ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ให้อินเดียมีความทันสมัยและ business friendly มากขึ้น นายโมดีเอง ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งก็ใช้แนวทางนี้ในการบริหารประเทศมาตลอด โดยเน้น Minimum Government, Maximum Governance และใช้สื่อสังคมออนไลน์มาช่วย
แคมเปญนี้ถือว่าข่าวดีไม่น้อย เพราะสำหรับเอกชนที่ลงทุนในอินเดียอยู่แล้ว นั่นหมายถึงปัญหาที่ประสบมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎระเบียบที่ซับซ้อนและซ้ำซ้อนของแต่ละรัฐในอินเดีย เรื่องภาษีที่ทำให้ปวดหัว ก็น่าจะได้รับการคลี่คลายในไม่ช้า
สำหรับเอกชนไทยที่กำลังคิดจะเข้าไปบุกตลาดอินเดีย แคมเปญนี้ก็น่าจะทำให้อุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า รัฐบาลชุดนี้ถือปรัชญาอุ้มชูนักลงทุนต่างชาติ เพราะฉะนั้นการเข้าไปเริ่มลงทุนทำธุรกิจในอินเดียน่าจะมีความสะดวกมากขึ้น มีการรวมศูนย์การอำนวยความสะดวกนักลงทุน น่าจะทำให้เอกชนไทยประหยัดเวลาและพลังงานในการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในอินเดียอีกมาก
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,987 วันที่ 28 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557