สื่อมวลชนอินเดียรายงานข้อมูลจากสหประชาชาติว่า อันดับของอินเดียร่วงลงกว่า 6 อันดับไปอยู่ที่ 14 ของประเทศที่ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้มากที่สุดในปี 2553 จากมูลค่าเดิม 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 เหลือเพียง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553 นับได้เพียง 1 ใน 4 ของมูลค่าการลงทุนตรงจากต่างประเทศของประเทศคู่แข่งเอเชียอย่างเช่นจีน
แม้จะเป็นที่คาดการณ์กันว่า GDP ของอินเดียในปีนี้จะเติบโตขึ้นมากกว่าร้อยละ 8 แต่ปัจจัยหลักที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียปัจจัยหนึ่งคือการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มงานและรายได้ให้แก่ประชาชนและประเทศ ยังคงมีอุปสรรคขวางกั้นอีกมากมายที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความไม่มั่นใจ
แม้นานาชาติจะพยายามกดดันให้อินเดียปฏิรูปนโยบายเปิดเสรีการลงทุนในด้านต่างๆ เช่น การประกันภัย ระบบธนาคาร และการค้าปลีก (retail) โดยเฉพาะในด้านการค้าปลีกซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมาก และคาดกันว่าจะมีกฎหมายเปิดเสรีต่อการลงทุนตรง (FDI-Foreign Direct Investment) ในเร็วๆ นี้ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้นักลงทุนต่างประเทศเกิดความกังวลใจและลังเลที่จะมาลงทุนที่อินเดีย โดยเฉพาะประเด็นมาตรการควบคุมเงินเฟ้อ ระบบภาษีที่ซับซ้อน ไม่แน่นอน และไม่มีความชัดเจน การขาดความเชื่อมั่นในหุ้นส่วนทางธุรกิจชาวอินเดีย รวมถึงปัญหาเรื้อรังอย่างเช่นการคอร์รัปชั่นทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติในแวดวงราชการและการเมือง
ล่าสุด วงการการลงทุนระหว่างประเทศจำต้องชะลอแผนการลงทุนในอินเดีย เพื่อรอความชัดเจนในเรื่องกฎระเบียบภาษี ในกรณีที่บริษัท Vodafone ของอังกฤษ ถูกทางการอินเดียเรียกเงินภาษีกว่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการควบรวมกิจการบริษัท Hutchison เพื่อลงทุนในธุรกิจการสื่อสารในอินเดีย ซึ่งคดีมีแนวโน้มที่จะมีความยืดเยื้อ นักวิเคราะห์กล่าวว่า คดีประวัติศาสตร์นี้ ส่งผลให้เกิดการชะงักงันของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ควรจะไหลเข้าตลาดอินเดีย ทำให้ตัวเลขการลงทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การที่ศาลอินเดียมีคำพิพากษาให้บริษัทเอกชนคืนที่ดินแก่ชาวบ้านและเกษตรกรเนื่องจากการให้ค่าตอบแทนการได้มาของที่ดินที่ไม่เป็นธรรม ในเขตอุตสาหกรรม NOIDA หรือ New Okhla Industrial Development Area ในรัฐอุตตรประเทศ ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยแก่ชนชั้นกลางอย่างมาก นอกจากจะสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจของอินเดียเองแล้ว ก็ยังลามไปถึงความไม่ไว้วางใจในทิศทางนโยบายของรัฐบาล ทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนและอนาคตเศรษฐกิจของอินเดียลดน้อยถอยลงไปกว่าเดิม
รัฐบาลต่างชาติที่มีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในอินเดียโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป พยายามกดดันให้รัฐบาลอินเดียเดินหน้าปฏิรูปนโยบายเพื่อเอื้อต่อการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลของนายมานโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ผู้เปิดเสรีเศรษฐกิจอินเดียให้เฟื่องฟูตั้งแต่ปี 2534 เมื่อสมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายนรสิงหะ ราว ต้องเจอความท้าทายครั้งใหม่ด้านนโยบาย ซึ่งน่าจับตามองว่า “การปฏิรูปครั้งที่ 2” ของรัฐบาลอินเดียภายใต้แรงกดดันของนานาประเทศและกระแสโลกาภิวัฒน์ที่โหมกระหน่ำนี้ จะเป็นไปในทิศทางใด Thaiindia.net จะติดตามประเด็นต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุนในอินเดียมาให้ผู้อ่านได้รับทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป
คณิน บุญญะโสภัต
ทีมงาน Thaiindia.net