Jan Dhan Yojana เปิดบัญชีธนาคาร 75 ล้านครัวเรือน
ท่านที่ติดตามความเคลื่อนไหวของรัฐบาลอินเดียชุดใหม่ ภายใต้นายกรัฐมนตรีนเรนทร โมดี ที่เข้ามาบริหารอินเดียตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557 ที่ผ่านมา ก็งจะเห็นว่า รัฐบาลอินเดียชุดนี้ได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์จำนวนมากออกมาจำนวนมาก เพื่อสร้างกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคม
หนึ่งในจำนวนโครงการที่นายโมดีได้ประกาศดำเนินการเป็นการเร่งด่วนคือโครงการ Prime Minister’s Jan Dhan Yojana (PMJDY) หรือโครงการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงระบบธนาคารได้อย่างทั่วถึง ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2014 โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคาร ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการออมและทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชน
ที่ผ่านมา ประชากรอินเดียสามารถเข้าถึงระบบธนาคารได้ ในสัดส่วนที่ต่ำ โดยเมื่อปี 2012 ประชากรอินเดียอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีบัญชีธนาคารมีอยู่เพียงร้อยละ 35 เท่านั้น ในขณะที่ทั่วโลกอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 41 นอกจากนั้น หมู่บ้านในชนบทของอินเดียนับพันๆ แห่งยังไม่มีสาขาธนาคารเปิดให้บริการ และแม้ประชากรส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในชนบทถึงร้อยละ 70 แต่การให้กู้เงินของธนาคารในชนบทคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 ขณะนี้ประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคารมีสัดส่วนถึงร้อยละ 42 ทำให้คนเหล่านี้จำเป็นที่ต้องเก็บเงินไว้กับตัว การกู้เงินต้องพึ่งแหล่งเงินนอกระบบ ซึ่งไม่มีความแน่นอน ไม่มีหลักประกันและดอกเบี้ยสูง หรือต้องอาศัยเงินจากครอบครัวและเครือญาติ
โครงการนี้ตั้งเป้าให้มีการเปิดบัญชีธนาคารตามโครงการฯ จำนวน 75 ล้านครัวเรือน และได้เสนอสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้มีการเปิดบัญชี อาทิ เปิดบัญชีได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินฝาก ให้ประกันอุบัติเหตในวงเงิน 100,000 รูปี และค่ารักษาพยาบาลในวงเงิน 30,000 รูปี ออกบัตรถอนเงินให้และเมื่อเปิดบัญชีครบ 6 เดือนสามารถเบิกเงินเกินบัญชีได้ ในวงเงิน 5,000 รูปี
ตั้งแต่ได้เริ่มดำเนินโครงการมา ปรากฏว่า โครงการ PMJDY ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก นับตั้งแต่เริ่มโครงการ ในวันแรกที่เริ่มดำเนินการมีประชาชนเปิดบัญชีใหม่ 20 ล้านบัญชี และจนถึงขณะนี้ได้เปิดไปแล้ว 60 ล้านบัญชี มีเงินฝากทั้งสิ้น 45,000 ล้านรูปี หรือเฉลี่ย 750 รูปีต่อบัญชี
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการ PMJDY มีเป้าหมายให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงระบบธนาคาร แต่ในทางปฏิบัติยังมีอุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงสร้างธนาคารอินเดียปัจจุบันยังไม่สามารถตอบสนองโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ยังขาดแคลนสาขาธนาคารและตู้ ATM โดยเฉพาะในชนบท กล่าวคือ ขณะนี้ ทั่วอินเดียมีสาขาธนาคาร 115,082 แห่ง และตู้ ATM 160,055 เครื่อง ในจำนวนนี้ เป็นสาขาธนาคารในชนบท43,962 สาขา (ร้อยละ 38.20) และตู้ ATM ในชนบท 23,334 เครื่อง (ร้อยละ 14.58) ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากร
การดำเนินโครงการ PMJDY ให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนสาขาธนาคารอีกมาก การเปิดบัญชีเพิ่มจำนวนมากในเวลาจำกัดในทางปฏิบัติมีอุปสรรค เนื่องจากสาขาธนาคารแต่ละแห่งจะมีพนักงานประมาณ 3 – 4 คน เปิดบัญชีหนึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 20 นาที วันหนึ่งจึงเปิดได้ไม่กี่บัญชี และเทคโนโลยีที่ให้บริการประชาชนยังไม่ดีเท่าที่ควร การเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นจำนวนมากจึงส่งผลกดดันต่อโครงสร้างและเครื่องไม้เครื่องมือธนาคารที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ มีแนวคิดให้ใช้สำนักงานไปรษณีย์ที่มีสาขาครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศทำหน้าที่ให้บริการด้านธนาคารด้วย เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนสาขาธนาคารในชนบท
การออกบัตรถอนเงิน (debit cards) ให้แก่ผู้เปิดบัญชีเป็นมาตรการหนึ่งตามโครงการ PMJDY ซึ่งจะทำให้ตู้ ATM มีความสำคัญยิ่งขึ้น ปัจจุบันอินเดียมีตู้ ATM เพียง 11 เครื่องต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อาทิ รัสเซีย 182 เครืองต่อประชากร 1 แสนคน บราซิล 118 เครื่อง เม็กซิโก 47 เครื่อง และจีน 37 อย่างไรก็ตาม จำนวนตู้ ATM ในอินเดียได้เพิ่มขึ้นตามลำดับจากแค่ 3 เครื่องต่อ 1 แสนคน เมื่อปี 2012 เป็น 11 เครื่องในปัจจุบัน การเพิ่มจำนวนบัญชีธนาคารขึ้นอีก 75 ล้านบัญชี พร้อมบัตรถอนเงิน ก็ยิ่งจะกดดันตู้ ATM ที่มีอยู่เดิมที่ต้องให้บริการทั้งประชาชนที่มีบัตรถอนเงินเดิมและรายใหม่ ซึ่งจะเป็นภาระต่อเครือข่ายและโครงสร้างธนาคารที่ต้องให้บริการเหล่านี้
มีการวิเคราะห์ว่า การขยายการเข้าถึงระบบธนาคารของประชาชนและการให้สวัสดิการของรัฐในรูปตัวเงินโดยโอนผ่านบัญชีธนาคาร จากประสบการณ์ทั่วโลกพบว่า เมื่อรัฐจ่ายเงินสวัสดิการโดยผ่านบัญชีธนาคาร ประชาชนที่ได้รับประโยชน์มีแนวโน้มที่จะมีการทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ผ่านบัญชีดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ เลิกใช้เครดิตนอกระบบ PMJDY จะเป็นก้าวสำคัญในการนำคนเข้ามาสู่ระบบการธนาคารซึ่งจะช่วยลดความยากจน เพิ่มเงินออมและมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
การดำเนินโครงการ PMJDY ให้ได้ผลอย่างเต็มที่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งทั่วโลกได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบธนาคารของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาที่โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพยังไม่ดี แต่มีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือค่อนข้างสูง เช่น ประเทศเคนยา บริษัท Safaricom ผู้ให้บริการโทรศัพท์ได้ให้บริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า M – PESA มีผู้ลงทะเบียนใช้บริการนับล้านๆ คน ซึ่งก่อนหน้านี้คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคารได้ ขณะนี้ประชากรเคนยากว่าร้อยละ 75 สามารถเข้าถึงบริการธนาคารได้แล้ว
อนึ่ง แนวคิดในการขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการธนาคารอย่างทั่วถึงได้เริ่มขึ้นในรัฐบาลอินเดียชุดที่แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นช่องทางโอนเงินสวัสดิการให้แก่ประชาชนในรูปตัวเงิน ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการกระจายสวัสดิการให้แก่ประชาชนได้ทั่วถึงกว่าการให้สวัสดิการในรูปสิ่งของเช่นในอดีต การที่รัฐบาลปัจจุบันดำเนินโครงการดังกล่าวต่อเนื่องและได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนหลายประการข้างต้น จะมีส่วนทำให้โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จเร็วขึ้น ซึ่งน่าจะมีผลต่อการยกระดับการให้บริการธนาคารแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท โครงการนี้จึงเป็นโครงการสำคัญที่จะมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของอินเดียในระยะต่อไป
ที่ผ่านมา ภาคธนาคารอินเดียได้พยายามขยายฐานลูกค้าในชนบทที่อยู่ห่างไกล แต่ไม่สามารถเปิดสาขาได้เพียงพอ เนื่องจากธุรกรรมการเงินยังมีไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการเปิดสาขาใหม่ ธนาคารบางแห่งจึงแก้ไขปัญหาด้วยการตั้งตัวแทนในท้องถิ่นให้เป็นผู้รวบรวมเงินฝากและให้บริการเบิกเงินให้แก่ลูกค้าอีกทอดหนึ่ง ด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบไม่ซับซ้อน ซึ่งก็สามารถให้บริการได้ระดับหนึ่ง จนกว่าธนาคารจะสามารถขยายสาขาบริการให้ครอบคลุมได้อย่างเพียงพอ
ระบบการธนาคารของอินเดียยังคงมีพื้นที่ให้มีการพัฒนาอีกมาก เพราะจำนวนประชากรที่มหาศาลทำให้ต้องใช้เวลา แต่หากรัฐบาลอินเดียสามารถนำประชาชนทุกคนเข้าสู่ระบบธนาคารได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะประชาชนจะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างทั่วถึงและจะมีเงินหมุนเวียนในระบบอีกมหาศาล
ธีระพงษ์ วนิชชานนท์
รองกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
12 ธันวาคม 2557