รายงานเศรษฐกิจอินเดียรอบกลางปีงบประมาณ (เม.ย. - ก.ย. 57)
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 กระทรวงการคลังอินเดียได้เปิดเผยรายงานสภาวะเศรษฐกิจอินเดียรอบกลางปี งปม. 2014-15 หรือ FY15 (เม.ย.-ต.ค. 57) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1.เศรษฐกิจมหภาคและความเชื่อมั่นนักลงทุน
1.1นับตั้งแต่รัฐบาลนายนเรนทร โมดีเข้ามาบริหารประเทศเมื่อปลายเดือน พ.ค. 57 สถานะทางเศรษฐกิจมหภาคและความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอินเดียเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง การไหลเข้าของเงินทุนจาก ตปท. มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่สูงขึ้นประมาณร้อยละ 33 และอัตราการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเริ่มคงที่ (bottom out) หลังจากเพิ่มขึ้นมาตลอด 3 ปี
1.2นโยบายของรัฐบาลโมดีที่สำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เช่น การหยุดควบคุมราคาน้ำมันดีเซล การอนุญาตให้เพิ่มราคาก๊าซธรรมชาติ การมอบเงินช่วยเหลือประชาชนแทนการสนับสนุน (subsidize) ราคาก๊าซหุงต้ม การลดแรงกดดันต่อราคาสินค้าเกษตร การเพิ่มเพดานการลงทุน FDI สาขาการป้องกันประเทศเป็นร้อยละ 49 นโยบายเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินด้วยการเปิดบัญชีธนาคาร 75 ล้านครัวเรือน และการปฏิรูปอุตสาหกรรมถ่านหินให้มีความโปร่งใส นโยบายเหล่านี้ประกอบกับปัจจัยภายนอก เช่น ราคาน้ำมันและสินค้าที่ลดลง มีส่วนช่วยให้สภาวะเศรษฐกิจมหภาคและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุนมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น
1.3การคาดการณ์การเติบโต GDP ในระยะสั้น คาดว่า GDP ในปี FY15 จะเติบโตอย่างช้าๆ อยู่ที่อัตราร้อยละ 5.4-5.9 และคาดว่า จะยังคงไม่หวือหวาในช่วงต่อไป เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ 1) นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจต้องใช้เวลาอีกสักพักจึงจะเห็นผล 2) การเติบโตที่ชะลอตัวของ ปท. ในเอเชีย โดยเฉพาะจีน ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของอินเดีย 3) ธนาคารกลางอินเดียยังไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้เนื่องจากแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ และ 4) ฤดูมรสุมที่ผิดปกติ
2.การขาดดุลบัญชีงบประมาณ (Current Account Deficit)
รัฐบาลอินเดียยังคงมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าการขาดดุลบัญชีงบประมาณที่ร้อยละ 4.5 ของ GDP ตามได้รัฐบาลได้ประกาศไว้เมื่อเข้ามาบริหารประเทศ แต่รัฐบาลยอมรับว่า มีอุปสรรคที่สำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าดังกล่าวได้ยาก ได้แก่
1)เศรษฐกิจเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
2)การจัดเก็บภาษียังไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้
3)ผลของรายจ่ายงบประมาณที่ผูกพันมาจากปีก่อน (รัฐบาลก่อนหน้า)
4)การตั้งเป้าที่สูงเกินความเป็นจริง (ปี งปม. 2015-16 จะลดเป้าเหลือร้อยละ 4.1)
3.ภาวะเงินเฟ้อ
3.1อัตราเงินเฟ้อของอินเดียลดลงอย่างมาก จากร้อยละ 11.2 (CPI) ในเดือน พ.ย. 56 เหลือเพียงร้อยละ 4.4 ในเดือนเดียวกันของปี 57 มีผลมาจาก 1) ราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง 2) ราคาสินค้าทั่วไปที่ลดลง โดยเฉพาะน้ำมัน (น้ำมันคิดเป็นร้อยละ 37 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด) 3) สภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซา และ 4) การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินเดียที่ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาเป็นระยะและให้สัญญาณว่า จะใช้นโยบาย flexible inflation targeting เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
3.2ในระยะสั้นจนถึงปลายปี งปม. FY15 อัตราเงินเฟ้อจะยังคงลดต่ำลงเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดต่ำลง เห็นได้จากแนวโน้มค่าจ้างแรงงานที่เริ่มเติบโตช้าลง อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีผลต่อราคาสินค้า
หากดูจากแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อที่คลายตัวลงอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าธนาคารกลางฯ น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ภายในต้นปี 58
4.การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจอินเดียในปี งปม. ก่อนหน้า ขณะนี้ได้คลี่คลายลงในระดับหนึ่ง โดยการขาดดุลลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของ GDP ในไตรมาสล่าสุด ทั้งนี้ ปัจจัยหลัก ได้แก่ ราคาน้ำมันและราคาทองคำในตลาดโลกที่ลดลง คาดการณ์ว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี FY15 นี้จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 ของ GDP โดยแม้ราคาน้ำมันจะต่ำลง แต่การผ่อนปรนการควบคุมการนำเข้าทองคำของรัฐบาลอินเดียเมื่อ พ.ย. 57 จะทำให้มีการนำเข้าทองคำมากขึ้น
5.ความท้าทายของการเติบโตทางเศรษฐกิจ
5.1สิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและนำไปสู่การเติบโตของ GDP (เป้าร้อยละ 7-8 ในระยะกลาง) คือการกระตุ้นการลงทุน ซึ่งขณะนี้อินเดียกำลังประสบปัญหา เพราะภาคเอกชนยังอ่อนแอ ธุรกิจขาดทุนและติดหนี้สิน ขณะที่การลงทุนแบบ PPP ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการบริหารจัดการที่มีปัญหา
5.2เพื่อกระตุ้นการลงทุน รัฐบาลจำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เอกชนไม่กล้ารับความเสี่ยง เช่น ปัญหาการเวนคืนที่ดิน และการลงทุนสาธารณูปโภคที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม
6.แผนปฏิรูปของรัฐบาล
รัฐบาลอินเดียจะทำการปฏิรูปที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1) การปฏิรูประบบภาษี โดยใช้การจัดเก็บภาษีเดียว คือ Goods and Services Tax (GST) ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น ขจัดการคอรัปท์ชั่นและขจัดอุปสรรคทางการค้า 2) ลดการแทรงแซงกลไกตลาดด้วยการสนับสนุน (subsidize) สินค้า โดยนำระบบ direct cash transfer มาใช้ ควบคู่กับการส่งเสริมการเปิดบัญชีธนาคารและการทำบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเดินไปตามกลไกและลดภาระรัฐบาล
หากสังเกตดูดีๆ จะเห็นได้ว่า รัฐบาลอินเดียพยายามลดความคาดหวังจากประชาชนที่รัฐบาลนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ชั่วข้ามคืน เพราะที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์แล้วว่า รัฐบาลอินเดียยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวได้ แม้จะได้ออกนโยบายอย่าง Make in India ก็ยังไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศได้
คลิกที่นี่ เพื่ออ่านรายงานภาษาอังกฤษฉบับเต็ม