จีนจับมืออินเดียสร้างระบบรถไฟความเร็วสูง
ท่านผู้อ่านหลายท่านคงได้ติดตามข่าวที่รัฐบาลไทยกำลังจะร่วมมือกับจีนในการพัฒนาระบบการขนส่งระบบราง โดยเฉพาะระบบรถไฟความเร็วสูง แต่ก็คงจะไม่แปลกใจว่าเหตุใดต้องเป็นจีน เพราะจีนเป็นชาติที่มีระบบขนส่งระบบรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระยะทางยาวถึง 12,000 กิโลเมตร ยังไม่รวมที่กำลังก่อสร้างอีกกว่า 10,000 กิโลเมตร ทำให้จีนเป็นชาติที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นพิเศษ ประกอบกับต้นทุนการก่อสร้างที่ทำให้จีนได้เปรียบและกลายเป็นหุ้นสองที่หมายปองของประเทศน้อยใหญ่ที่ต้องการพัฒนาการขนส่งระบบรางให้ทันสมัย
อินเดียก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้จับมือกับจีนเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาระบบขนส่งระบบรางในอินเดียแล้ว โดยเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ระหว่างการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกัน โดยเป็นการลงนามระหว่างนาย Arunendra Kumar ประธาน Railway Board ของอินเดียกับนาย Mr. Lu Dengfu ผู้ช่วย รมต. และผู้ว่าการ (Vice Minister & Administrator) National Railway Administration (NRA) ของจีน
ภายใต้ความตกลงที่ได้ลงนามกันไปดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันใน 5 ด้าน ได้แก่
1. การฝึกอบรม heavy haul transportation
จีนตกลงที่จะจัดการอบรมให้แก่บุคลากรการรถไฟอินเดียจำนวน 100 คน (รุ่นละ 20 คน จำนวน 5 รุ่น) ในสาขา heavy haul transportation โดยล่าสุดการอบรมรุ่นที่ 1 ได้มีขึ้นไปแล้วเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2557 ที่มหาวิทยาลัย Beijing Jiaotong และจีนจะจัดอบรมอีก 4 รุ่นในช่วง 2 ปีข้างหน้า
2. การเพิ่มความเร็วในระบบรางเส้นทางเจนไน-บังกาลอร์-มายซอร์จีนสัญญาที่จะช่วยอินเดียพัฒนาเส้นทางเดินรถไฟระหว่างเจนไน-บัง
กาลอร์-มายซอร์ที่มีอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันวิ่งที่ความเร็ว 60-80 กม./ชม. ให้สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 160 กม./ชม. โดยจะมี China Railway Eryuan Engineering Group เป็นผู้ดำเนินงานหลัก3. การปรับปรุงสถานีรถไฟ ฝ่ายจีนจะศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงสถานีรถไฟ 2 แห่งในอินเดีย (สื่ออินเดียระบุว่าจะเป็นสถานีบังกาลอร์ รัฐกรณาฏกะและสถานีภูพเนศวร รัฐโอริสสา) และจะจัดทำรายงานเสนอแนะแนวทางการดำเนินการโดยใช้งบประมาณของจีน โดยคาดว่าจีนจะมอบให้ China Railway Construction Engineering Group เป็นผู้ดำเนินงานดังกล่าว
4. จัดตั้งมหาวิทยาลัยการรถไฟ (Railway University) จีนจะใช้ประสบการณ์ของจีนในการให้ความร่วมมือแก่อินเดียในการพัฒนามหาวิทยาลัยการรถไฟในอินเดีย
5. ความร่วมมือในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง จากการตรวจสอบกับ High Speed Rail Corporation of India พบว่า จีนโดย China Railway SIYUAN Survey and Design Group Co. Ltd. กำลังทำการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนิวเดลี-เจนไน (ความเร็ว 300 กม./ชม.) ระยะทาง 1,754 กม. โดยล่าสุด เมื่อเดือน พ.ย. 2557 มีข่าวในสื่ออินเดียว่า รัฐบาลอินเดียได้ส่งคณะผู้แทนไปหารือกับจีนในเรื่องนี้แล้ว โดยจีนได้เสนอให้ China Railway Construction Corp (CRCC) เป็นผู้ออกแบบระบบรางและจัดทำระบบส่งสัญญาณอัตโนมัติและสถานีรถไฟให้ มูลค่าการพัฒนาระบบทั้งสิ้น 32.6 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ หากอินเดียสามารถพัฒนาระบบดังกล่าวได้จริง ก็จะทำให้เส้นทางดังกล่าวกลายเป็นเส้นทางเดินรถไฟความเร็วสูงที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากเส้นทางปักกิ่ง-กว่างโจว
อนึ่ง โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาระบบ Diamond Quadrilateral Project ของรัฐบาลอินเดีย ที่ต้องการสร้างโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูงทั่วอินเดียตลอดแนวระเบียงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่เชื่อมตั้งแต่เมืองนิวเดลี-มุมไบ มุมไบ-เจนไน เจนไน-กัลกัตตา กัลกัตตา-นิวเดลี มุมไบ-กัลกัตตาและนิวเดลี-เจนไน
อินเดียหวังว่า การพัฒนาการขนส่งระบบรางแบบความเร็วสูงจะช่วยให้อินเดียสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างก้าวกระโดด เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในจีน ดังนั้น จึงเป็นที่น่าติดตามว่า ความร่วมมือระหว่างจีนกับอินเดียจะเป็นไปในรูปแบบใด เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องเป็น best practices เพื่อให้การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
5 กุมภาพันธ์ 2558