บทสัมภาษณ์ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย
เมื่อสัปดาหก่อนหนังสือพิมพ์ Economic Times ของอินเดียได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์นายรากูราม ราจัน (Raghuram Rajan) ผู้ว่าการธนาคารกลางของอินเดียเกี่ยวกับแนวโน้มด้านเศรษฐกิจตลอดจนนโยบายด้านการเงินและธนาคารของอินเดียที่มีต่อสถานะเงินเฟ้อของอินเดียในอนาคตอันใกล้
การสัมภาษณ์ครั้งนี้ น่าจะเป็นไปตามกระแสที่เกิดจากการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 7.75% ของธนาคารกลางอินเดียเมื่อกลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 20 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อ CPI ของอินเดียปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากเลขสองหลักมาอยู่ที่ 5% เมื่อเดือนธันวาคม 2557 ทำให้มีการคาดการณ์กันไปต่างๆ นานาว่า ธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีก นายราจันจึงต้องออกมาให้สัมภาษณ์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับทุกฝ่าย
นายราจันกล่าวว่า การต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินควรในอินเดียยังไม่จบ แม้ที่ผ่านมาสถานการณ์จะดีขึ้นกว่าเดิมมาก สำหรับเขาชัยชนะจะมาก็ต่อเมื่อระบบเศรษฐกิจมีความเชื่อมั่นในธนาคารกลางว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หากเกิดความผันผวนในอัตราเงินเฟ้อ การจะได้มาซึ่งความเชื่อมั่น (credibility) จำเป็นต้องมีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการดุลบัญชีรายจ่าย (fiscal consolidation) และการดูและเรื่องอุปทานสินค้าในตลาดของรัฐบาล การควบคุม liquidity และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง รวมถึงปัจจัยภายนอกต้องเอื้อกันและกัน
สำหรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของอินเดีย นายราจันกล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้จะบรรลุเป้าในระดับหนึ่งตามข้อเสนอแนะของ Urjit Patel Committee คืออัตราดอกเบี้ย 6% แต่จากการหารือกับรัฐบาล ธนาคารกลางกำลังจัดทำกรอบนโยบายทางการเงินเพื่อดึงอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 4±2% ตามที่ได้ตกลงไว้กับรัฐบาล
ควบคุมราคาสินค้าเกษตร
สิ่งนายราจันเป็นกังวลที่สุดเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อในอินเดียก็คือการจัดการเรื่องราคาสินค้าเกษตรและอาหาร เพราะอินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่การบริโภคของประชากรมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก ดังนั้น หากการจัดการอุปทานไม่ดีก็จะทำให้ราคาสินค้าอาหารในประเทศผันผวนได้ง่าย ประกอบกับราคาอาการในโลกก็มีความไม่แน่นอนอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลอินเดียจึงต้องใช้เครื่องมือในการควบคุมราคาอาหารให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การปล่อยสินค้าในสต๊อก ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ และการให้มีคลังสินค้าของเอกชน
นายราจันยังกล่าวว่า มี 3 สิ่งที่ทำให้มั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อของอินเดียยังจะคงนิ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ได้แก่ อัตรค่าแรงที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ ราคาน้ำมันโลกที่ลดต่ำลงจะช่วยส่งให้ราคาสินค้าในช่วงระยะสั้นถึงระยะกลางต่ำลงอีก และอินเดียยังไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ดี อินเดียจำเป็นต้องเฝ้าระวังเรื่องค่าเงินรูปีที่กำลังแข็งค่าขึ้น และอาจมีผลต่อการแข่งขันในตลาดส่งออก
ป้องกันตัวเองจาก Quantitative Easing (QE) ของสหรัฐฯ
ขณะนี้มีความกังวลไปทั่วโลกเกี่ยวกับการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะเริ่มลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ Quantitative Easinng (QE) ซึ่งจะมีผลทำให้เงินตราสหรัฐไหลกลับเข้าประเทศ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อค่าเงินและเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศรวมทั้งอินเดีย ซึ่งขณะนี้กำลังมีคลื่นเงินตราไหลเข้าไปหากำไรระยะสั่นในตลาดเงินทุน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายราจันกล่าวว่า อินเดียถือว่ามีเกราะกำบังอยู่ระดับหนึ่ง ประการแรกคือดัชนีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแข็งแรงของอินเดีย อัตราการเติบโตสูง อัตราดอกเบี้ยต่ำ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจมหภาคจากนโยบายรายจ่ายของรัฐบาลที่รัดกุม และอัตรการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่น่าจะลดลงต่ำกว่า 1% ในปีนี้ และนอกจากนี้ อินเดียยังมีเงินทุนสำรองพอเพียงเพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เช่น กรณีราคาน้ำมันโลกผันผวน
คาดการณ์อัตราเจริญเติบโต GDP
นายราจันกล่าวถึงศักยภาพของอินเดียที่ GDP จะเติบโตขึ้นไปอีกว่า GDP อินเดียสามารถจะเติบโตในอัตราสองหลักได้แน่นอน แต่ยังมีอีกมากที่รัฐบาลต้องทำหากต้องการจะไปถึงจุดนั้น ทั้งในด้านการเงิน ทรัพยากรมนุษย์ กายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้ ศักยภาพของอินเดียสามารถเติบโตได้ในระดับ 6.5-7% ซึ่งเชื่อว่า น่าจะเป็นไปได้ตามที่ประมาณการณ์ไว้ในปีหน้า
นักธุรกิจไทยที่สนใจอินเดียอยู่ขอให้ติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อของอินเดียใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อค่าเงินรูปี การทำการค้าขาย ตลอดจนแนวโน้มนโยบายของรัฐบาลอินเดียในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ
นายประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
9 กุมภาพันธ์ 2558