พัฒนาอินเดียใน 7 ปี เอกชนไทยช่วยได้
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียของนายนเรนทร โมดี นายกรัฐมนตรีนักคิดนอกกรอบ ก็ได้ฤกษ์แถลงแผนใช้จ่ายงบประมาณประจำปีฉบับเต็บฉบับแรกต่อสภาผู้แทนราษฎรอินเดีย หลังจากเข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่เดือนมิถุยายน 2557
สำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับระบบการเมืองอินเดีย การแถลงแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีมีความสำคัญ เพราะถือเป็นการแถลงนโยบายของรัฐบาลไปในตัว ทำให้ประชาชนให้ความสนใจเพราะต้องการรับฟังว่ารัฐบาลที่ได้เลือกเข้าไปบริหารประเทศมีแผนใช้เงินภาษีราษฎรในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาภาคส่วนไหนของสังคมบ้างในปีนั้นๆ
แต่สำหรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2558-59 ที่นายอรุณ เชฏลี รมว.คลังเป็นผู้แทนรัฐบาลแถลงต่อสภาฯ ครั้งนี้ถือว่าพิเศษกว่าที่ผ่านมา เพราะนอกจากแผน 1 ปีแล้ว ยังมีการแถลงเป้าระยะ 7 ปีที่รัฐบาลต้องการพัฒนาให้อินเดียมีความเจริญรุ่งเรื่องและมั่งคั่งให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2022 หรือ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นปีที่อินเดียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษครบรอบ 75 ปีพอดิบพอดี โดยนายอรุณได้แจกแจงสิ่งที่รัฐบาลเตรียมจะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าดังกล่าวอยู่หลายประการ
ในจำนวนสิ่งที่รัฐบาลอินเดียชุดนี้ตั้งใจจะทำในอีก 7 ปีข้างหน้า ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า มีจำนวนไม่น้อยที่แฝงไปด้วยโอกาสสำหรับเอกชนไทย เพราะเป็นสิ่งที่เอกชนไทยมีความเชี่ยวชาญและมีบริษัทไทยเข้าไปลงทุนทำธุรกิจให้เห็นกันอยุ่แล้ว ได้แก่
ข้อที่ 1 รัฐบาลอินเดียจะสร้างที่อยู่อาศัย 20 ล้านหลังในชุมชนเมืองและ 40 ล้านหลังในชนบท เรื่องนี้เป็นโอกาสที่ชัดเจนของธุรกิจก่อสร้างของไทย โดยเฉพาะบริษัทก่อสร้างบ้านจัดสรรและบริษัทจำหน่ายหรือผลิตวัสดุก่อสร้าง ที่ปัจจุบันก็มีบริษัทบ้านพฤกษาที่เข้าไปสร้างหมู่บ้านจัดสรรขายในอินเดีย ขณะที่บริษัทเอสซีจีเทรดดิ้งก็กำลังไปได้ด้วยกับธุรกิจค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง แต่เรื่องนี้ เอกชนไทยอาจต้องรอความชัดเจนเรื่องกฎหมายที่ดินที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้มีการแก้ไขเพื่อลดอุปสรรคในการสรรหาที่ดิน
ข้อที่ 2 รัฐบาลอินเดียจะทำให้คนอินเดียมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง และจะทำให้อีก 20,000 หมู่บ้านในอินเดียที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีไฟฟ้าฟ้าใช้ให้ได้ภายในปี 2563 นั่นหมายถึงรัฐบาลอินเดียต้องเร่งหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นพลังน้ำโดยการสร้างเขื่อน ซึ่งก็เป็นโอกาสของบริษัทก่อสร้างของไทย เพราะบริษัทอย่างอิตาเลียนไทยก็เข้าไปสร้างเขื่อนในอินเดียมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีโอกาสจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งรัฐบาลอินเดียตั้งใจผลิตให้ได้ 100,000 เมกะวัตต์ บริษัทไทยที่ถนัดเรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าและแผงโซลาเซลล์ก็มีโอกาส บริษัทเดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้าไปรับงานฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่มากในรัฐคุชราตมาแล้ว
ข้อที่ 3 รัฐบาลอินเดียจะทำให้ประชาชน 178,000 คนที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เพราะอาศัยในพื้นที่ที่ไม่มีการตัดถนนผ่าน มีถนนไว้ใช้สัญจรไปมาได้โดยการก่อสร้างถนนเพิ่ม 2 แสนกิโลเมตร บริษัทก่อสร้างของไทยที่มีความเชี่ยวชาญจึงไม่ควรมองข้าม เพราะถนน 2 แสนกิโลเมตรเป็นเค้กก้อนโตที่แบ่งกันได้ไม่หมด บริษัทอิตาเลียนไทยก็มาทำงานตรงนี้อยู่บ้าง แต่ยังมีบริษัทก่อสร้างไทยอีกไม่น้อยที่มีความสามารถไม่แพ้กัน น่าจะลองมาประลองฝีมือในตลาดอินเดียกันดู
ข้อที่ 4 รัฐบาลจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและผลผลิตทางการเกษตรผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร นั่นหมายถึงอินเดียต้องการรับเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการแปรรูปอาหาร ซึ่งประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทไทยลำดับต้นๆ ที่ไปลงทุนในอินเดีย ปัจจุบันก็ทำธุรกิจหลากหลายด้านการเกษตรในอินเดียจนเติบโตและขยายไปทั่วอินเดีย นอกจากนั้น เรายังมีสยามคูโบต้าที่เข้าไปขายเครื่องจักรการเกษตรในอินเดียด้วย
ข้อที่ 5 รัฐบาลอินเดียจะทำให้อินเดียนเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก เพื่อสร้างงานรองรับประชากรวัยทำงาน (2 ใน 3 ของประชากรอินเดียอายุต่ำกว่า 35 ปี) งานนี้ ถือเป็นโอกาสของเอกชนไทยที่กำลังหาแหล่งผลิตใหม่ที่ต้นทุนต่ำ เพราะทุกวันนี้การผลิตสินค้าในเมืองไทยหรือแม้แต่จีนก็มีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากค่าแรงที่สูงขึ้น การที่รัฐบาลอินเดียสนับสนุนให้เอกชนต่างชาติไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตในอินเดีย ก็จะเป็นโอกาสให้ไทยได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกจำนวนมาก บริษัทไทยหลายแห่งได้เข้าไปใช้ประโยชน์ตรงนี้แล้ว เช่น ร้อกเวิร์ธ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน ไปตั้งโรงงานผลิตทางใต้ของอินเดียและใช้อินเดียเป็นฐานผลิตป้อนตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาต่อด้วย บริษัทผลิตจานชามเมลามีนอย่างศรีไทยซุปเปอร์แวร์ก็กำลังจะไปตั้งโรงงานผลิตในรัฐคุชราตเพื่อลดต้นทุนในการส่งสินค้าจากไทยไปขายในอินเดียด้วย
ข้อที่ 6 รัฐบาลอินเดียจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเพื่อให้เจริญทัดเทียมกับภาคอื่นๆ ของประเทศ ข้อสุดท้ายนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษในเชิงยุทธศาสตร์ของไทยต่ออินเดีย เพราะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเป็นพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดต่อทางพื้นดินกับอาเซียน (ประเทศเมียนมาร์) ซึ่งหมายถึงเป็นประตูของอาเซียนสู่อินเดียและอินเดียสู่อาเซียน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวประชาชนมีชาติพันธ์คล้ายกับคนบ้านเรา (บางพื้นที่มีคนไทใหญ่อยู่และยังพูดภาษาใกล้เคียงกับภาษาไทย) ทำให้ค่อนข้างเหินห่างจากอินเดียแผ่นดินใหญ่ ขณะนี้รัฐบาลอินเดียต้องการพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นสะพานเชื่อมทางเศรษฐกิจไปยังอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดการค้าใกล้บ้านที่สำคัญของอินเดีย โดยเฉพาะขณะที่เรากำลังรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจ ดังนั้น หากเอกชนไทยเข้าไปลงหลักปักฐานในภูมิภาคนี้ก็จะทำให้เราสามารถยึดพื้นที่ได้ก่อนใคร อีกอย่างเราได้เปรียบตรงที่คนแถบนี้นิยมไทยเป็นทุนเดิม ดังนั้น หากคนไทยไปทำธุรกิจหรือค้าขายก็น่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคนในพื้นที่
เห็นแล้วนะครับว่า รัฐบาลอินเดียชุดนี้มีแผนจะพัฒนาอินเดียอย่างไรและเอกชนไทยสามารถเข้าไปมีบทบาทได้ตรงไหน จากนี้อยากให้เอกชนไทยที่สนใจคอยติดตามทาง thaiindia.net ต่อไปว่า รัฐบาลอินเดียจะมีแผนที่ชัดเจนในการดำเนินการอย่างไร แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจเกินไป เพราะโอกาสที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่มีให้แต่เอกชนไทย เป็นโอกาสที่ชาติอื่นก็สามารถมีเอี่ยวได้ ดังนั้น เราควรจะขยับตัวให้ไว หากไม่มั่นใจตรงไหน หน่วยงานไทยในอินเดียที่ถูกส่งไปประจำด้วยเงินภาษีของท่านยินดีจับมือนำท่านเข้าไปบุกอินเดียอยู่แล้ว
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
สถานเอกอัครราขทูต ณ กรุงนิวเดลี