เศรษฐกิจโลกกับอินเดีย
เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังปาฐกถาของดร.จอห์น ลิปสกี (Dr. John Lipsky) นักวิชาการอาวุโส จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ อดีตรองผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) และดร.ฮัสมุข เอเดีย (Dr. Hasmukh Adhia) ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังอินเดีย ที่เมืองมุมไบ เกี่ยวกับวิวัฒนาการของสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศและมุมมองต่ออินเดียในภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ซึ่งในปาฐกถาดังกล่าวดร.ลิปสกีได้อ้างถึงปาฐกถาของนางคริสติน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ผู้จัดการใหญ่ IMF ที่ธนาคารกลางอินเดีย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 อยู่หลายต่อหลายครั้ง ทำให้อดไม่ได้ที่จะต้องไปค้นมาอ่าน ผู้เขียนจึงขอเล่ามุมมองและข้อมูลที่น่าสนใจที่ประมวลมาได้จากทัศนะของนายใหญ่แห่ง IMF ดังนี้
เศรษฐกิจโลกปัจจุบันมีความเปราะบางและความไม่แน่นอนสูง IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะโตราว 3.5% ในปีนี้ และ 3.7% ในปีหน้า ฟากตะวันตกมีสัญญาณฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ในขณะที่ยูโรโซนและญี่ปุ่นยังต้องอาศัยเวลา สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ IMF คาดว่า จะโตเฉลี่ยไม่เกิน 4.5% ในปีนี้และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีถัดไป ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ มีข้อท้าทายสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ คือ
(1) เงินดอลลาร์สหรัฐฯ (US$) ที่แข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของสหรัฐฯ และนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินโลก (ธนาคารกลางยุโรป - ECB และธนาคารกลางญี่ปุ่น - BOJ) จะส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีต่างๆ ที่ผูกกับค่าดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น ภาคธุรกิจของอินเดียที่มีปริมาณหนี้ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า สู่ระดับ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
(2) ผลจากกระบวนการ normalization ภาคการเงินสหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่การยุติมาตรการ Quantitative Easing (QE) และการรอจังหวะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ในขณะนี้ เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของตลาดการเงินและการเคลื่อนย้ายเงินทุน แม้จะมีเงินทุนจากมาตรการ QE ของ ECB และ BOJ ช่วยบรรเทาผลกระทบบ้างก็ตาม
ในช่วงปี 2552-55 มีเงินทุนไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่ถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นครึ่งหนึ่งของกระแสเงินทุนทั่วโลก เงินทุนเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่รวมถึงอินเดีย ซึ่งรับไปราว 4.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์คึกคักและค่าเงินรูปีทะยานสูงขึ้นอย่างมาก อินเดียจึงน่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินหรือการไหลออกของเงินทุนอย่างฉับพลันเช่นเดียวกับเมื่อกลางปี 2556 ที่เกิดเหตุการณ์ "Taper Tantrum" ซึ่งส่งค่าเงินรูปีลงบันทึกจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษที่เกือบ 70 รูปี/ดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนสิงหาคม 2556 แต่ในครั้งนี้นายใหญ่ IMF เห็นว่าไม่น่าจะจบลงในระลอกเดียวเพราะมีปัจจัยมากมายที่กำลังฟื้นตัวและจะดึงดูดเงินทุนกลับสู่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างต่อเนื่อง
(3) นักลงทุนจับตามองประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นรายประเทศแทนการมองเป็นรายกลุ่มทางเศรษฐกิจ (economic bloc) เช่น กลุ่ม BRICS หรือ MIST (Mexico, Indonesia, South Korea, Turkey) เพราะนักลงทุนทราบถึงข้อท้าทายเชิงโครงสร้างที่แตกต่างกันไป ซึ่งประเทศตลาดใหม่ต่างกำลังเผชิญในการพัฒนาเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ประเทศตลาดเกิดใหม่มักจะมีปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนา เช่น โครงสร้างประชากร และข้อเท็จจริงที่ว่า หลาย ๆ อย่างยังอยู่ในระดับต่ำหรือด้อยพัฒนา เช่น ผลิตภาพ (productivity) และระบบการเงิน การพัฒนาส่วนใหญ่จึงต้องการเพียงการเรียนรู้และนำองค์ความรู้และแนวปฏิบัติดีเลิศมาปรับใช้มากกว่าที่จะต้องวิจัยและพัฒนาเอง
ข้อได้เปรียบของอินเดีย ได้แก่
(1) โครงสร้างประชากรที่มีคนในวัยแรงงานกว่า 60% และรัฐบาลอินเดียมีนโยบายเร่งจัดการศึกษาเพื่อสร้างผู้ประกอบการและแรงงานที่มีทักษะ
(2) ตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ กลุ่มชนชั้นกลางกำลังขยายตัว
(3) รัฐบาลมีฝีมือ ให้ความสำคัญกับการบริหารเศรษฐกิจมหภาคอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส มีนโยบาย เช่น "Make in India" ที่กระตุ้นการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและพยายามที่จะส่งเสริม "ease of doing business" เพื่อดึงดูดนักลงทุน และนโยบายการพัฒนาแบบไม่แบ่งแยก ส่งผลให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความหวังและความเชื่อมั่น
(4) การยกเครื่องภาคการเงินนำโดยธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ทำให้ระบบการเงินของอินเดียมีความแข็งแกร่งและมีความโปร่งใส คาดเดาได้มากขึ้น เช่น การเริ่มใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) เมื่อช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - มีนาคมที่ผ่านมา การพัฒนาประสิทธิภาพในธนาคารภาครัฐ การส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสถาบันการเงินในระบบ และเมื่อปี 2556 ได้บังคับใช้มาตรฐาน Basel III ที่ได้พยายามอุดช่องโหว่ของ Basel II Accord ที่ไม่สามารถป้องกันวิกฤติการเงินในปี 2551 ได้ นอกจากนี้ RBI ยังกล้าที่จะใช้มาตรการที่จำเป็นอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันปัญหาสภาพคล่องภายในประเทศดังที่เกิดในปี 2556
(5) ผลิตภาพที่ต่ำของอินเดียสามารถพัฒนาได้อีกมาก รัฐบาลอินเดียมีนโยบายพัฒนาผลิตภาพในภาคการผลิต การเกษตร และภาคบริการ และให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมขนาดจิ๋ว (micro enterprises) มากที่สุดเพราะเป็นภาคที่มีการจ้างงานสูง และมีมูลค่ากว่า 11 ล้านล้านรูปี แต่ผลิตภาพกลับต่ำที่สุด และไม่ได้รับการเหลียวแล เช่น ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
โดยสรุปแล้ว นางลาการ์ดชื่นชมภาคการเงินของอินเดียที่พัฒนาไปในทางที่ดีและแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการรับมือวิกฤติการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันดร.ลิปสกีเห็นว่า อินเดียเป็นต่อประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งในภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การยกระดับผลิตภาพและความทั่วถึงยังคงเป็นข้อท้าทายหลักสำหรับอินเดีย
โดย สรยศ กิจภากรณ์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,039 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2558