นโยบายการค้าต่างประเทศ 5 ปีของอินเดีย
เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดียได้ฤกษ์เปิดตัวนโยบายการค้าต่างประเทศ (Foreign Trade Policy- FTP) ฉบับปี ค.ศ. 2015-2020 อย่างเป็นทางการ หลังจากรัฐบาลใหม่ของอินเดียภายใต้การนำของนายนเรนทร โมดีใช้เวลาปรับแผนเกือบหนึ่งปี เพื่อให้นโยบายการค้าเป็นในแนวทางเดียวกับนโยบายภาพรวมของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2557
ผลที่ออกมาถือว่าไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมายมากนัก เพราะ FTP ฉบับใหม่เน้นการส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก ลดการนำเข้าและสร้างงานเพื่อรองรับแรงงานหนุ่มสาวของอินเดียที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปีละประมาณ 12 ล้านคน เช่นเดียวกับนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลโมดีไปประกาศมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น Make in India, Digital India และ Skills India โดยรัฐบาลตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกของอินเดียจากประมาณ 4.5 แสนล้านดอลลาร์เป็น 9 แสนล้านดอลลาร์ภายใน 5 ปี
เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลอินเดียมีแผนจะใช้กลยุทธ์หลายประการ เริ่มตั้งแต่การปรับกระบวนทัศน์ภายในประเทศให้เอื้อต่อการค้ากับต่างประเทศ เช่น การบูรณาการนโยบายและการทำงานของหน่วยงานทั้งที่ส่วนกลางและระดับรัฐให้ไปในทิศทางเดียวกัน (whole-of-government approach) การเร่งปรับปรุง Ease of Doing Business เพื่อให้การค้าเป็นไปได้โดยสะดวกยิ่งขึ้นและการออกมาตรการส่งเสริมการส่งออกทั้งสินค้าและบริการ รวมถึงการพยายามสร้าง Brand India ให้มีชื่อเสียงระดับโลก
อินเดียยังเตรียมจะทบทวนความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่อินเดียมีกับประเทศต่างๆ เพื่อให้อินเดียได้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะจากการเจาะตลาดบริการ ซึ่งเป็นจุดแข็งของอินเดียในต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีนัยสำคัญต่อไทย เพราะ FTA ไทย-อินเดีย ที่เจรจากันมากว่า 10 ปีแต่ยังไม่สำเร็จ เพราะ Early Harvest Scheme ที่เริ่มใช้ลดภาษีสินค้า 83 รายการทำให้อินเดียขาดดุลไทยมาตลอด ดังนั้น อินเดียจึงน่าจะต้องการเข้าถึงตลาดบริการของไทยให้มากขึ้นเพื่อลดการขาดดุลการค้าไทย
แต่กลยุทธ์ที่น่าสนใจที่สุดก็คือการวางแผนเลือกเจาะตลาดต่างประเทศด้วยวิธีคิดนอกกรอบแบบสร้างสรรค์ เริ่มตั้งแต่ตลาดสำคัญที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกาและอียู ซึ่งที่ผ่านมาอินเดียประสบปัญหาเรื่องกฎระเบียบทางการค้า อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงมาตรฐานสินค้าเกษตร FTP ฉบับนี้จึงมุ่งส่งเสริมการผลิตและส่งออกสินค้ามูลค่าสูง เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องมือแพทย์แทน โดยจะดึงให้นักลงทุนต่างชาติในทั้ง 2 ภูมิภาคไปลงทุนผลิตสินค้ามูลค่าสูงในอินเดียตามนโยบาย Make in India ด้วยการเพิ่มเพดาน FDI และแรงจูงใจมากมาย
ส่วนตลาดที่นโยบาย FTP ฉบับใหม่นี้ดูจะให้ความสำคัญมากเป็นลำดับต้นๆ คือตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนของเรานี่เอง ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบาย Act East ของรัฐบาลอินเดีย โดย FTP ฉบับนี้มีการกล่าวถึงกลยุทธ์ที่ใช้กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังโตวันโตคืน มีแรงงานราคาถูกและทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์กลางในการผลิตเพื่อขยายตลาดไปในอาเซียนทั้งภูมิภาค
สาเหตุที่อินเดียให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นพิเศษก็น่าจะเพราะ 1) อินเดียกำลังมองหาตลาดใหม่สำหรับสินค้าอินเดีย ดังนั้น อาเซียนซึ่งเป็นตลาดที่อยู่ใกล้บ้าน มีประชากร 600 ล้านคน เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโตสวนทางเศรษฐกิจโลกและกำลังจะรวมตัวเป็น AEC จึงเป็นทางเลือกโดยธรรมชาติของอินเดีย 2) จีน ซึ่งอินเดียถือว่าเป็นคู่แข่งทางการค้าอันดับหนึ่ง กำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ในทุกด้าน อินเดียจึงจำเป็นต้องค่อยๆ หาหนทางวางรากฐานในอาเซียน โดยเลือกประเทศ CLMV ซึ่งยังพอมีที่ว่างให้อินเดียลงไปแข่งขันเป็นฐานในระยะยาว
นอกจากนี้ อาเซียนยังมีความสำคัญกับอินเดียในฐานะหัวเรือหลักของการเจรจาความตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ซึ่งเป็นความตกลงเขตการค้าเสรีของประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย ซึ่งอินเดียให้ความสำคัญ เพราะถือว่าจะทำให้อินเดียไม่เสียเปรียบทั้งในเชิงการค้าและเชิงยุทธศาสตร์ในเอเชีย-แปซิฟิก ในขณะที่การเจรจา Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งอินเดียไม่ได้เป็นภาคีกำลังไปได้สวย
เห็นอินเดียให้ความสำคัญกับอาเซียนขนาดนี้ ไทยน่าจะถือโอกาสที่อินเดียต้องการใช้ CLMV เป็นฐานสำหรับการผลิตและกระจายสินค้าไปในอาเซียน เสนอให้อินเดียใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ของไทยตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการผลิตและกระจายสินค้าไปใน CLMV และทั่วอาเซียนด้วย เพราะไทยได้เปรียบเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานและยังสามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานและ supply chain จากประเทศ CLMV ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น นโยบายใดๆ ในโลกนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลอินเดียจะผลักดันนโยบาย FTP นี้ได้มากน้อยเพียงใด เอกชนไทยที่สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครรับข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ thaiindia.net (คลิกที่นี่) หรือ กดไลก์หน้าเฟซบุ๊ก "ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทย-อินเดีย" ครับ
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,045 วันที่ 19 - 22 เมษายน พ.ศ. 2558