อินเดียกับการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
ภายหลังสหรัฐฯ ถอนตัวจาก TPP ส่งผลให้หลายประเทศที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญกับการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มากขึ้น โดยเฉพาะอินเดียนั้น ประกาศตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่เอา TPP เนื่องจากมองว่า TPP อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยา ซึ่งอุตสาหกรรมยาในอินเดียนั้นมีขนาดใหญ่มาก โดยมีมูลค่าสูงถึง 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ การที่ TPP ขาดโต้โผอย่างสหรัฐฯ ไปก็ทำให้ TPP ขาดความน่าสนใจลงไปอย่างมาก สำหรับ RCEP นั้นมีสมาชิกรวม 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
RCEP ถือเป็นขอบเขตความตกลงขนาดใหญ่ โดยประเทศสมาชิกมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รวมกันราว 22.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 29 ของ GDP ของโลก ความตกลง RCEP นั้น ครอบคลุมทั้งการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน โดยจากรายงานข่าวระบุว่า การเจรจาครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2560 ประเทศสมาชิกได้ตกลงที่จะเปิดเสรีสินค้าให้แก่กันในสัดส่วน ร้อยละ 80 ของสินค้าที่มีการซื้อขายกัน ที่เหลืออีกร้อยละ 20 ซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวนั้น กำลังรอ การเจรจากันเป็นระยะๆ ต่อไป
ในภาพรวม รัฐบาลอินเดียนั้นมองว่า RCEP นั้นมีความสำคัญ โดยอินเดียสามารถใช้ RCEP เป็น platform ในการแสดงบทบาทของอินเดียในเอเชียแปซิฟิก ทั้งในด้านของยุทธศาสตร์และด้านเศรษฐกิจ ในทางยุทธศาสตร์นั้น การเข้าร่วมสนับสนุน RCEP สำหรับอินเดียนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบาย Act East ของอินเดียที่เป็นรูปธรรม สำหรับทางด้านเศรษฐกิจนั้น อินเดียมองว่า การเข้าร่วม RCEP จะเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอินเดีย กับประเทศต่างๆ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน
นอกจากนี้ อินเดียยังสามารถใช้ RCEP ในการเสริมข้อตกลงด้านการค้าเสรีในสาขาที่ยังไม่ได้ทำความตกลงกับประเทศต่างๆ ด้วย โดยที่ผ่านมา การทำความตกลง FTA กับประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์ เป็นต้น หรือแม้แต่กับ ASEAN นั้น ได้มีการกำหนดขอบเขตของการลดภาษีในบางประเภทสินค้าเท่านั้น
ขณะที่ภายใต้กรอบของ RCEP นั้น มีการเจรจาทำความตกลงร่วมกันในการเปิดเสรีที่กว้างกว่า ทั้งในส่วนของการลงทุน สินค้า บริการ โทรคมนาคม และ e-commerce รวมถึงมีประเด็นเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาด้วย อินเดียมองว่า RCEP เป็นเหมือนสะพานที่จะช่วยเปิดโอกาสให้อินเดียสามารถเข้าไปยังตลาดบริการของประเทศอื่นๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาบริการที่อินเดียมีความถนัดสูง เช่น สาขา IT สาธารณสุข การศึกษา เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การเดินหมากของอินเดียเกี่ยวกับ RCEP ที่ผ่านมา ก็เป็นไปด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอินเดียมีความระมัดระวังในการทำการค้ากับจีนอย่างมาก โดยมองว่า ที่ผ่านมา จีนเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับอินเดียมาโดยตลอด อินเดียจึงน่าจะมีการเสนออัตราการลดภาษีกับจีนแยกต่างหากออกไป อินเดียนั้นขาดดุลการค้ากับจีนรวมประมาณ 52.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2558 จากที่เคยขาดดุลราว 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2546
โดยอุตสาหกรรมเหล็กของอินเดียออกเสียงค้านดังๆ ว่า จีนอาจใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาดภายใต้ RCEP และส่งออกเหล็กมายังอินเดียมากขึ้น นอกจากนี้ อินเดียพะวักพะวนกับการระมัดระวังเรื่องดุลการค้ากับประเทศอื่นๆ ด้วย โดยจากสถิติ จะพบว่า อินเดียขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นสมาชิก RCEP นอกเหนือจากจีนด้วยเช่นกัน เช่น กับอาเซียน ในช่วงปี 2558 อินเดียขาดดุลการค้ากับอาเซียน รวม 15.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลกับออสเตรเลีย รวม 15.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลกับเกาหลีใต้ รวม 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลกับญี่ปุ่น รวม 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อินเดียบอกว่า ที่ผ่านมา การทำ FTA ระหว่างอินเดียกับประเทศที่ความตกลงร่วมกัน เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซียและสิงคโปร์ อินเดียเองได้ประโยชน์น้อยกว่าประเทศดังกล่าว เพราะแม้ว่ามูลค่าการค้าโดยรวมจะเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนของการนำเข้าสินค้านั้น มีมูลค่าสูงกว่าการส่งออก นอกจากนี้ พ่อค้าอินเดียก็ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีน้อยมาก โดยมีการขอใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 5-25 เท่านั้น ดังนั้น ท่าทีของอินเดียในการเจรจาใน RCEP จึงชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่า จะต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเองเต็มที่ และจะต้องผลักดันให้มีการเปิดตลาดบริการของประเทศต่างๆ ให้มากที่สุด
ในชั้นต้นนั้น อินเดียเสนอข้อเสนอการลดภาษีแบบสามขั้น (Three-tiered approach)
สำหรับขั้นที่หนึ่ง หรือ Tier-I นั้น อินเดียบอกว่า จะลดภาษีนำเข้าให้แก่สินค้าจากประเทศอาเซียนร้อยละ 80 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 65 จะลดภาษีเป็นร้อยละ 0 ทันที ส่วนอีกร้อยละ 15 จะลดภาษีเป็นร้อยละ 0 ใน 15 ปี
สำหรับขั้นที่สอง หรือ Tier-II อินเดียบอกว่า จะลดภาษีนำเข้าให้แก่สินค้าจากประเทศอาเซียนร้อยละ 65 ให้แก่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และจะลดภาษีให้สินค้าร้อยละ 80 ในลักษณะต่างตอบแทนต่อไป
ขณะที่ขั้นที่สาม หรือ Tier-III อินเดียจะลดภาษีน้ำเข้าให้แก่สินค้าจากประเทศที่ยังไม่เคยทำข้อตกลง FTA เช่น จีน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในสัดส่วนสินค้าร้อยละ 42.5 ร้อยละ 80 และร้อยละ 65 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี อินเดียก็ถูกกดดันจากประเทศสมาชิกของ RCEP ว่า อินเดียควรจะต้องลดภาษีให้กับ ประเทศสมาชิก RCEP ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งพอมาถึงจุดนี้ อินเดียก็ใช้ชั้นเชิงทางการทูตบอกว่า จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดภาษีในลักษณะดังกล่าวให้แก่ทุกประเทศ แต่อย่างไรก็ดี ขอยกเว้นไว้หนึ่งประเทศ คือ จีน
นักวิชาการหลายฝ่ายของอินเดียยังมองว่า แม้ว่าการเปิดเสรีในสาขาบริการในประเทศ RCEP จะเป็นไปไม่ง่ายนัก แต่อินเดียจำเป็นต้องผลักดันในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยประเด็นนี้ จะต้องเป็นประเด็นสำคัญที่อินเดียจะต้องใช้ในการต่อรองการเข้ามายังตลาดขนาดใหญ่ของอินเดีย นอกจากนี้ ประเทศ RCEP จะต้องเจรจาให้ได้ข้อยุติและโปร่งใสในการลดมาตรการกีดกันที่มิใช้ภาษีให้หมดไป
ทำไมอินเดียถึงสามารถมีท่าที่ที่ชัดเจนอย่างนั้นได้?
นั่นก็เป็นเพราะว่า สำหรับอินเดียแล้ว อุตสาหกรรมภายในประเทศของอินเดียหลายอุตสาหกรรมยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ จึงยังไม่มีความจำเป็นจะต้องรีบร้อนในการเปิดเสรีกับประเทศต่างๆ การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันไป แน่นอนว่า ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของอินเดีย รวมทั้งยังส่งผลต่อประชาชนและแรงงานด้วย
นอกจากนี้ อินเดียยังมีโมเดลการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างประเทศอื่นๆ โดยอินเดียเน้นพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความแข็งแกร่ง ซึ่งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียยังคงโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการดึงดูดการค้าและการลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศให้ลงทุนและทำการค้ากับอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่อย่างไม่มีใครฉุดรั้งไว้ได้
ขณะที่ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่มีโมเดลทางเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า โครงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในลักษณะดังกล่าว เป็นไปแบบไม่ยั่งยืน ดังนั้น อินเดียจึงเปรียบเสมือนสาวแรกรุ่นที่สามารถเลือกประเทศต่างๆ ที่จะเป็น partners ได้ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องยอมเป็นฝ่ายเสียเปรียบแต่ฝ่ายเดียว ถ้าพูดเป็นภาษาปัจจุบัน เข้าใจว่า จะใช้คำว่า “สวยเลือกได้”
จึงไม่น่าแปลกใจที่อินเดียจะมีท่าทีที่ชัดเจนในประเด็นการเจรจาใน RCEP ว่าอินเดียจะไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับแนวทางของอินเดียในการเจรจาเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้าในประเภท “สินค้า” จนกว่าประเทศสมาชิก RCEP จะมีความคืบหน้าในการเจรจาเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้าในประเภท “บริการ”
*********************************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
Picture courtesy: Wikipedia: Regional Comprehensive Economic Partnership