อินเดียรุกคืบแอฟริกา
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีโมดีของอินเดียได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมประจำปีของธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกาครั้งที่ 52 ที่เมืองคานธีนคร รัฐคุชราตซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายโมดีเอง โดยมีผู้นำ นักการเมือง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแอฟริกาและอินเดียเข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ ประธานาธิบดีเบนิน ประธานาธิบดีเซเนกัล รองประธานาธิบดีโกตดิวัวร์ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกัน ประธานสหภาพแอฟริกา และคณะผู้แทนจากประเทศแอฟริกันกว่า 50 ประเทศ ส่วนบุคคลสำคัญฝ่ายอินเดีย ได้แก่ นายอรุณ เชฏลีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวิชัย รูปานี มุขมนตรีรัฐคุชราต เป็นต้น เข้าร่วม
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกานี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เงินกู้แก่สมาชิกประเทศแอฟริกาเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของตน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาภาคเอกชน การศึกษา เทคโนโลยี ฯลฯ ทั้งนี้ มีสมาชิกที่เป็นประเทศแอฟริกาจำนวน 54 ประเทศ และประเทศสมาชิกที่มิใช่ประเทศแอฟริกาอีก 26 ประเทศ ส่วนอินเดียนั้นเข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2525 โดยให้ความร่วมมือหลัก ๆ ได้แก่ การสมทบกองทุนของธนาคาร การสนับสนุนกองทุนทรัสต์ และการสนับสนุนการจัดการทางการเงินร่วมกัน
การที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกามาจัดการประชุมประจำปีที่อินเดียมีความสำคัญและน่าสนใจอย่างไร
ประการแรก หลายฝ่ายมองว่าเป็นโอกาสสำหรับอินเดียในการสร้างสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับแอฟริกาซึ่งเป็นอีกดาวรุ่งพุ่งแรงทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุดธนาคารโลกได้จัดลำดับให้เอธิโอเปีย กานา และโกตดิวัวร์ เป็นหนึ่งในห้าของประเทศที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุด เป็นที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะขยายตัวถึงร้อยละ 8-9 ภายใน 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ แอฟริกายังเป็นคู่ค้าสำคัญของอินเดีย โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (การค้าไทย-อินเดียประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อินเดียเป็นประเทศที่ลงทุนในแอฟริกาสูงสุดเป็นอันดับที่ 5 โดยการลงทุนนั้นคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของการลงทุนในต่างประเทศของอินเดียเลยทีเดียว โดยส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานจำพวกน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติและภาคการผลิต
ประการที่สอง แอฟริกาเป็นพันธมิตรสำคัญในเวทีระหว่างประเทศของอินเดีย โดยประเทศแอฟริกาหลายประเทศได้ให้การสนับสนุนข้อริเริ่มพันธมิตรด้านพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างประเทศ (International Solar Alliance) ที่อินเดียเสนอในที่ประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยในการประชุมธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกาที่จัดขึ้นที่อินเดียครั้งนี้ ประเทศเซเนกัล โกตดิวัวร์ และกานาก็ได้ร่วมลงนามในความตกลงกรอบพันธมิตรด้านพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างประเทศเพิ่มเติมด้วย ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอีกประการในเวทีระหว่างประเทศของอินเดีย อันที่จริงอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความกระตือรือร้นสูงในการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ รัฐบาลได้วางเป้าหมายว่าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ป้อนความต้องการใช้งานของประชาชนจำนวน 60 ล้านครัวเรือนภายในปี ค.ศ. 2022 และได้เปิดใช้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อปีกลาย ซึ่งหากอินเดียสามารถผลักดันให้แอฟริกาสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ก็น่าจะเป็นช่องทางส่งเสริมความนิยมเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ของอินเดียในแอฟริกาได้อีกต่อไป
ประการที่สาม นอกจากผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจแล้ว ในพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้ นายกโมดีก็ได้ขายตรงประสบการณ์ของอินเดียในการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคและการปฏิรูปประเทศ โดยคาดหวังจะเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของแอฟริกา ทั้งนี้ แอฟริกามีความสำคัญในนโยบายต่างประเทศอินเดีย โดยตั้งแต่รับตำแหน่งในปี 2557 เป็นต้นมา นายกโมดีได้เยือนประเทศแอฟริกาแล้ว 6 ประเทศ ขณะที่รัฐมนตรีอินเดียได้เยือนประเทศแอฟริกาครบทุกประเทศแล้ว นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่อินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอินเดีย-แอฟริกาครั้งที่ 3 เมื่อปี 2558 อินเดียได้ประกาศให้วงเงินกู้แก่แอฟริกาถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมให้ทุนการศึกษาแก่ประเทศแอฟริกาถึง 50,000 ทุน อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจอยู่ที่การเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนานั้นอินเดียไม่ได้มองว่าจะ “go alone” หรือลุยเดี่ยวอย่างที่เคยเป็นมา แต่นายโมดีได้ประกาศชัดเจนว่า ขณะนี้อินเดียกำลังร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพื่อเข้าไปพัฒนาแอฟริกา โดยได้หยิบยกแผน “ระเบียงเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตของเอเชีย-แอฟริกา” หรือ “Asia Africa Growth Corridor: AAGC” มาเป็นตัวอย่าง แผนนี้อินเดียกับญี่ปุ่นร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้อินเดีย ญี่ปุ่น หรือ หุ้นส่วนอื่น ๆ หาแนวทางพัฒนาทักษะ สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน การผลิต และความเชื่อมโยงในแอฟริกา ซึ่งเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำอินเดียได้ออกมาสนับสนุนว่าตนเองคาดหวังจะเห็นการสอดประสานระหว่างเงินทุนและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นกับเครือข่ายที่เข้มแข็งและประสบการณ์ชั่วโมงบินสูงของอินเดียในแอฟริกา ทั้งนี้ AAGC จะเริ่มจากโครงการในประเทศแอฟริกาที่ถือว่าเป็นเพื่อนบ้านทางทะเลของอินเดียก่อน เช่น เอธิโอเปีย โซมาเลีย เคนยา ยูกันดา แทนซาเนีย โมซัมบิก และแอฟริกาใต้ ส่วนประเทศที่ให้ความสำคัญต่อไป คือ ประเทศเกาะที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย เช่น มาดากัสการ์ มอริเชียส เซเชลส์ และคอโมโรส หากประสบความสำเร็จ ประเทศแอฟริกาตะวันออกเหล่านี้ก็จะสามารถเป็นประตูสู่ประเทศแอฟริกาภาคพื้นทวีปต่อไป อย่างไรก็ดี มีนักวิจารณ์บางฝ่ายมองว่า การร่วมมือระหว่างอินเดีย-ญี่ปุ่นในแอฟริกา อาจจะเป็นไปเพื่อต้านทานและแข่งขันกับอิทธิพลจีนในแอฟริกา โดยเปรียบเทียบถึงแนวคิดเชื่อมโลกในโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน กับแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific) ที่ญี่ปุ่นกับอินเดียผลักดัน ซึ่งก็ไม่มีหน่วยราชการใดของอินเดียกล่าวถึงอภิมหาโครงการของจีนดังกล่าว ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า แนวคิดส่งเสริมมหาสมุทรอินเดียของอินเดียจะไปในทิศทางไหน แต่ที่แน่ ๆ ในวันนี้ในปลายด้านหนึ่งได้ไปจรดถึงทวีปแอฟริกาแล้ว
* * * * * * * * * * * * * * * * * *