อินเดียกับบทบาทการเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก
อินเดียเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเนื่องจากมีพื้นที่การเกษตรขนาดยักษ์ และจำนวนเกษตรกรมหาศาล แต่ที่ผ่านมา อินเดียยังไม่สามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปจำหน่ายในตลาดโลกได้มากนัก เนื่องจากยังไม่สามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าการเกษตรให้ได้มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรส่วนที่ใหญ่ที่ผลิตได้ในอินเดียมักเสื่อมคุณภาพ เสียหาย หรือเน่าเสียไปตามเส้นทางการขนส่ง
แต่ข้อมูลตามย่อหน้าข้างต้น กำลังจะกลายเป็นอดีตอีกในไม่ช้า เพราะล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 รัฐสภาอินเดียได้อนุมัตินโยบายส่งเสริมการส่งออกสินค้าสินค้าเกษตร (Agriculture Export Policy) โดยตั้งเป้าหมายให้อินเดียมีรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือประมาณ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 2565 และจะพัฒนาไปถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 2568
นโยบายส่งออกสินค้าเกษตรของอินเดียจะทำอะไรบ้าง?
การดำเนินนโยบายครั้งนี้เน้นให้ความสำคัญกับ
(1) การสร้าง “Brand India” ให้เป็นที่นิยม โดยให้รัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการนำเสนอกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ และโดดเด่นเป็นพิเศษ เช่น มีความเก่าแก่ดั้งเดิม หรือมีความเป็นพื้นเมือง เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความนิยมสินค้าในตลาดโลก
(2) การยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพพร้อมส่งออก และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
(3) ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการผลิต แปรรูป และพัฒนาสถานที่เก็บรักษาสินค้า โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าที่เน่าเสียง่าย
(4) มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า และ
(5) เพิ่มความหลากหลายของสินค้าเกษตรสำหรับส่งออก และทำให้สินค้าเข้าสู่ Global Value Chain ให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ แม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดแผนการดำเนินการอย่างชัดเจน แต่มีสื่อหลายฉบับรายงานว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณถึง 14,000 ล้านรูปี หรือประมาณ 194 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทำไมนโยบายนี้ถึงน่าสนใจ?
ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้มุ่งเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรภายในประเทศโดยพึ่งพาการบริโภคจากตลาดภายในประเทศเท่านั้น และการปกป้องตลาดสินค้าเกษตรด้วยการบิดเบือนกลไกตลาดผ่านระเบียบต่าง ๆ อาทิ การประกันราคาขั้นต่ำให้สินค้าเกษตรที่สำคัญ การตั้งกฎระเบียบการส่งออกสินค้าเกษตรอินเดียอย่างสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งกลไกดังกล่าวได้ทำให้สินค้าเกษตรของอินเดียไม่มีความสามารถแข่งขันในตลาดโลก และทำให้ภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนในธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตร
ดังนั้น การประกาศนโยบายส่งเสริมการส่งออกสินค้าสินค้าเกษตรในครั้งนี้จึงถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของอินเดีย ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าเกษตรไปสู่ตลาดโลก โดยมีเจตนาที่จะผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ขัดต่อกลไกตลาด และให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมการส่งออกด้วยนโยบายที่ยั่งยืนและเหมาะสม ทั้งนี้ ยังสังเกตได้ว่า ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ สร้างศูนย์การผลิต แปรรูป จัดเก็บ และจำหน่ายสินค้าเกษตรแบบครบวงจร สร้าง Cold Chain ขึ้นกว่า 280 แห่งทั่วประเทศ และมีมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติ ในสาขาการแปรรูปอาหารเพิ่มขึ้นถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิมมีมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557) รวมทั้งยังมีความริเริ่มในการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและผลิตผลทางการเกษตรหลายครั้งในอินเดีย เพื่อมุ่งแนะนำสินค้าอินเดียให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ไทยต้องปรับตัวอย่างไรต่อนโยบายนี้บ้าง?
(1) การปรับบทบาทของอินเดียในครั้งนี้เป็นโอกาสให้แก่ธุรกิจไทยที่สนใจลงทุนด้านธุรกิจการผลิต/ ขนส่ง/ แปรรูปอาหารในอินเดียเพื่อจำหน่ายในอินเดียหรือเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ เพราะรัฐบาลอินเดียมีแนวโน้มที่ดีในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรโดยต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนี้ ปัจจุบันธุรกิจไทยที่ดำเนินธุรกิจด้านอาหารและสินค้าเกษตรในอินเดียอยู่แล้ว คือ กลุ่มธุรกิจภายใต้เครือเจริญโภคกัณฑ์
(2) อินเดียอาจไม่ใช่ประเทศเป้าหมายที่ดีนัก ในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าประเภทผัก ผลไม้เกรดรองของไทย เนื่องจากอินเดียกำลังก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกส่งออกสินค้าเกษตรด้วยตนเอง และอาจกลายเป็นคู่แข่งของไทยในตลาดโลกในด้านนี้ด้วยซ้ำ ฝ่ายไทยจึงควรปรับยุทธศาสตร์ให้อินเดียเป็นเป้าหมายในการส่งออกสินค้าการเกษตรคุณภาพสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้บริโภคชั้นสูงชาวอินเดีย และยังคงเป็นสินค้าที่หาได้ยากในอินเดียอยู่
(3) การปรับบทบาทของอินเดียมุ่งมาเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ อาจส่งผลกระทบต่อไทยในระยะยาว และอินเดียอาจกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในอนาคต และมีศักยภาพเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกเทียบเท่าจีนได้ อย่างไรก็ดี คาดว่า พัฒนาการของอินเดียจะยังไม่เกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด และไม่ใช่ประเด็นที่ไทยต้องตื่นตระหนกในระยะนี้ เพราะที่ผ่านมา การนำนโยบายของรัฐบาลอินเดียเกี่ยวกับการส่งเสริมการเกษตรไปปฏิบัติจริงก็ยังคงมีปัญหา ส่งผลให้เกษตรกรชาวอินเดียยังประท้วงรัฐบาลบ้างเป็นครั้งคราว แต่ฝ่ายไทยก็ควรติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปโดยไม่ละเลย เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลอินเดียมาได้ระยะหนึ่งแล้ว และน่าจะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
18 ธันวาคม 2561