ประเทศไทยประกาศอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำใหม่ทั่วประเทศไปแล้ว โดยที่ค่าจ้างขั้นต่ำ 300.- บาทต่อวัน ใช้กับ 7 จังหวัดรวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555
กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ก็ประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เช่นเดียวกันแต่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยที่ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่สูงสุดสำหรับแรงงานที่มี ฝีมือ(Skilled worker) คือ 312.-รูปีต่อวัน(ประมาณ 200.-บาท) แต่ถ้าว่าจ้างกันเป็นรายเดือน นายจ้างก็จะจ่ายค่าจ้างแค่ 8,112.-รูปี(ประมาณ 5,192.-บาท)[อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 ธค.54 คือ 1.00.-รูปีต่อ 0.64.-บาท] สำหรับแรงงานไร้ฝีมือ(Unskilled worker) จะได้รับค่าจ้าง 256.-รูปีต่อวัน(ประมาณ 164.-บาท) หากเป็นรายเดือนๆละ 6,656.-รูปี(ประมาณ 4,260.-บาท) ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างฯดังกล่าว มีผลต่อลูกจ้างทุกคน โดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ ทั้งหญิงและชาย
ทางการอินเดียทราบดีว่านายจ้างส่วนใหญ่ชอบเอาเปรียบลูกจ้าง โดยจ่ายค่าจ้างฯเป็นเงินสดในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดเสมอ ซึ่งลูกจ้างฯก็ไม่กล้าโวยวายเพราะกลัวถูกไล่ออกจากงานฯ ดังนั้น ทางการจึงออกกฎระเบียบบังคับให้นายจ้างฯต้องจ่ายค่าจ้างเป็นเช็คเงินสด หรือโอนเงินค่าจ้างฯเข้าบัญชีลูกจ้างโดยตรง เพื่อจะได้มีเอกสารหลักฐานดำเนินคดีได้ว่ามีการจ่ายค่าจ้างฯต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ทางการฯกำหนดโทษอย่างหนักต่อนายจ้างฯที่เอาเปรียบลูกจ้าง หรือฝ่าฝืนกฎหมายที่กำหนดวิธีการจ่ายค่าจ้างฯ กล่าวคือ ต้องถูกดำเนินคดี หากพิสูจน์ได้ว่ากระทำความผิดจริง และต้องจ่ายค่าจ้างอีก 10 เท่าของอัตราค่าจ้างฯนั้น นอกจากนี้ นายจ้างฯดังกล่าวอาจต้องรับโทษจำคุกอีกด้วย
การประกาศฯดังกล่าว เสมือนเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังนายจ้างทุกคนไม่ว่าจะเป็นนายจ้างชาวอินเดีย หรือนายจ้างชาวต่างชาติ ให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานฯของอินเดียอย่างเคร่งครัด
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองนิวเดลี