เรื่องน่ารู้จาก สนง.ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ : การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของอินเดีย (ตอนที่ 2)
ต่อจากตอนที่แล้ว เรามาดูกระบวนการการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและฟังข้อเสนอแนะจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนะครับ
การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (ANTI-DUMPING MEASURE)
หลังจากเปิดการไต่สวน(INITIATION) การทุ่มตลาดอย่างเป็นทางการแล้ว กระบวนการไต่สวนฯก็จะเริ่มขึ้นโดยจะมีคณะกรรมการฯพิจารณาว่ามีการทุ่มตลาดและก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศฯหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ การดำเนินกระบวนการพิจารณาไต่สวนฯจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่งนับตั้งแต่วันประกาศเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดฯ
หากผลการไต่สวนฯพบว่ามีการทุ่มตลาดจริงและความเสียหายต่ออุตสาหกรรมฯของประเทศที่ไต่สวนฯเป็นผลมาจากการทุ่มตลาดนั้น ประเทศที่ไต่สวนฯก็สามารถกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเรียกเก็บอากรการนำเข้าสินค้าที่ทุ่มตลาดฯเพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีปกติ หรือที่เรียกว่า การเรียกเก็บ “อากรตอบโต้ การทุ่มตลาด” ดังกล่าวแล้วข้างต้น
ทั้งนี้ จะมีการเรียกเก็บอากรฯจากการนำเข้าสินค้าทุ่มตลาดในอัตราไม่เกินส่วนเหลื่อมทุ่มตลาดที่พบ และมีกำหนดระยะเวลาเรียกเก็บอากรไม่เกิน 5 ปี
อินเดียได้รายงานต่อองค์การการค้าโลก(WTO)กรณีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(มาตรการ AD) กับประเทศต่างๆ ซึ่งนับจำนวนมาตรการฯจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 206 กรณีจาก 26 ประเทศ โดย 10 อันดับแรกที่อินเดียใช้มาตรการ AD มากกรณีที่สุด ดังนี้
ประเทศ |
มาตรการฯ ยังมีผลใช้บังคับ (กรณี) |
1. จีน |
71 |
2. เกาหลีใต้ |
18 |
3. ไต้หวัน |
17 |
4. ไทย |
15 |
5. สหภาพยุโรป |
11 |
6. อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ญี่ปุ่น |
9 |
7. สหรัฐอเมริกา |
8 |
8. สิงคโปร์ |
6 |
9. เวียดนาม |
4 |
10. อิหร่าน |
3 |
ข้อคิดเห็น/ ข้อเสนอแนะ
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจซบเซาไปทั่วโลกทั้งในอเมริกา ยุโรปและเอเชีย มีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆจะใช้มาตรการทางการค้ามากขึ้น โดยเลือกมาตรการฯที่เหมาะสมกับเป้าหมายตามความต้องการซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปในรูปแบบลักษณะจำกัดการนำเข้าฯ มากขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศตนจะได้รับ เช่น ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการว่างงาน การปกป้องอุตสาหกรรมแรกเริ่ม และการปกป้องหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ มีการเลือกใช้มาตรการ AD ต่อกันเป็นจำนวนมากเพื่อปกป้องตนเองดังกล่าว
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต/ ผู้ส่งออกฯจึงควรศึกษาสภาพการณ์ของสินค้าที่ส่งออกฯด้วยว่าเป็นอย่างไรในเชิงปริมาณและราคาฯ โดยไม่ควรกำหนดราคาขายต่ำเกินไปจนประเทศคู่ค้าเพ่งเล็งว่าสินค้าฯนั้นกำลังทุ่มตลาดและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน หรือหากมีการส่งออกไปในปริมาณที่เพิ่มขึ้นก็ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง เพราะอาจถูกประเทศคู่ค้าเปิดการไต่สวนฯได้ รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย AD ของประเทศคู่ค้าเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และสามารถใช้สิทธิในการปกป้องตนเอง
อย่างไรก็ตาม หากถูกเปิดไต่สวนฯแล้ว ผู้ประกอบการฯควรให้ความร่วมมือในกระบวนการไต่สวนฯตามกฎหมาย เช่น ให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถาม และการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นต้น เพื่อผ่อนปรนหรือลดระดับความแรงของมาตรการฯหรือหลุดพ้นจากมาตรการฯไปเลย
นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาวิเคราะห์โอกาสในการหาตลาดใหม่ๆโดยการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสินค้าฯ เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้านั้นๆได้ และเป็นการลดการพึ่งพาตลาดใหญ่ตลาดเดียว
สุพัฒน์ สระน้อย
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กรุงนิวเดลี