ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจไทย-อินเดีย
ภาพรวม
ไทยและอินเดียมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันมาช้านาน มีหลักฐานว่าการค้าไทย-อินเดียเริ่มต้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังสยามกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ไปจนถึงการค้ากับบริษัท East India Company ในสมัยอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการอพยพไปไทยของบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายอินเดียในปัจจุบัน
การค้าไทย-อินเดียในยุคสมัยปัจจุบันมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ไทยและอินเดียลงนามความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน โดยเริ่มลดภาษีในกรอบ Early Harvest Scheme สำหรับสินค้า 83 รายการตั้งแต่ปี 2547 (ภาษีเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2549) รวมถึงความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียที่มีผลตั้งแต่ปี 2553 อย่างไรก็ดี การค้าไทย-อินเดียยังถือว่ามีโอกาสที่ขยายตัวได้อีกมาก โดยปัจจุบัน ไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 4 ของอินเดียในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซียและมาเลเซีย
ด้านการลงทุน มีบริษัทอินเดียเข้าไปลงทุนในไทยจำนวนมาก มูลค่าการลงทุนตรง (FDI) ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 รวมประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในไทย ได้แก่ กลุ่มบริษัททาทา ซึ่งลงทุนทั้งในธุรกิจยานยนต์ (Tata Motors) ธุรกิจเหล็ก (Tata Steel) ธุรกิจไอที (Tata Consultancy Services) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทใหญ่อื่นๆ อาทิ Indorama, Aditya Birla, NIIT, Kirloskars Brothers และ Punj Loyd ที่เข้าไปลงทุนในไทยด้วย ในส่วนของการลงทุนไทยในอินเดีย แม้บริษัทไทยยังเข้าไปลงทุนในอินเดียไม่มากนัก แต่มีบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ซีพี อิตาเลียนไทย ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ บ้านพฤกษาและไทยออโต้ซัมมิทที่เข้าไปลงทุนในอินเดีย (คลิกที่นี่ เพื่อดูรายชื่อบริษัทไทยในอินเดียทั้งหมด (ลิงค์ไปที่หน้ารายชื่อบริษัทไทย))
การค้าไทย-อินเดีย
สถิติการค้าไทย-อินเดีย (คลิกที่นี่)
ความตกลงเอฟทีเอไทย-อินเดีย
ไทยและอินเดียได้ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อินเดีย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 โดยสาระสำคัญของกรอบความตกลงฯ จะครอบคลุมการเปิดเสรีทั้งในด้านการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยได้มีการเร่งลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที (Early Harvest Scheme: EHS) ไทยและอินเดียได้ยกเลิกภาษีสินค้าจำนวน 82 รายการ (ต่อมาเพิ่มเป็น 83 รายการ) เช่น เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน ข้าวสาลี อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ (พลอยสี) เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ บอลล์แบริ่ง และส่วนประกอบของเครื่องยนต์ เป็นต้น ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 โดยทั้งสองฝ่ายยังอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงเพื่อเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ (Comprehensive FTA)
คลิกที่นี่ เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและดูรายการสินค้าภายใต้เอฟทีเอ
ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย
เมื่อปี 2545 ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดียเห็นชอบให้มีการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย และในปี 2546 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ (Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation between ASEAN and India) เพื่อเป็นกรอบแนวทางและแผนงานในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียที่จะครอบคลุมถึงการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และกลไกระงับข้อพิพาท รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการอำนวยทางการค้า โดยเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเป็นฉบับแรก
ทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจาความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าและความตกลงว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาท ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งต่อมา ในระหว่างการรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 7 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ได้มีลงนามความตกลงดังกล่าวและเอกสารที่เกี่ยวข้อง และความตกลงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553
ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า ประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ (บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย) และอินเดียจะยกเลิกภาษีศุลกากรของสินค้าโดยรวมประมาณร้อยละ 80 ของรายการสินค้าภายในปี 2559 ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) จะยกเลิกภาษีภายในปี 2564 ส่วนฟิลิปปินส์และอินเดียจะยกเลิกภาษีภายในปี 2562
ทั้งนี้ ล่าสุด อาเซียนและอินเดียได้ลงนามให้สัตยาบันความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียในสาขาบริการและการลงทุน ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558
คลิกที่นี่ เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
****************************