อีสานอินเดีย ภูมิภาคที่กำลังเนื้อหอม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Region-NER) หรืออีสานอินเดีย ที่ซึ่งเคยมีความล้าหลังและเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างชนเผ่า กำลังได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสำคัญในการเข้ามาร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและประชากร รวมทั้งยึดหัวหาดด้านธุรกิจมากขึ้น
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สถานทูตไทยที่กรุงนิวเดลีได้รับเทียบเชิญให้ไปเข้าร่วมงาน Northeast Business Summit ที่รัฐบาลอินเดียโดยกระทรวงการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Minister of DoNER) ร่วมกับหอการค้าอินเดีย (Indian Chamber of Commerce-ICC) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 โดยครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่จัดงานที่เมืองดีบรูการ์ (Dibrugarh) เมืองใหญ่เมืองหนึ่งของรัฐอัสสัม รองจากเมืองกูวาฮาติ (Guwahati) ที่เป็นเมืองหลวง อัสสัมเป็น 1ใน 7 รัฐของภาคอีสานอินเดีย
ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุม มีทั้งรัฐมนตรีจากรัฐบาลกลางอินเดีย มุขมนตรีและรัฐมนตรีอาวุโสผู้แทน 7 รัฐภาคอีสาน และนักธุรกิจที่ลงทุนแล้วรวมทั้งสนใจการลงทุนที่นี่ ทั้งที่เป็นคนอีสานเองหรือเป็นคนนอกพื้นที่
ที่สำคัญในปีนี้ มีผู้แทนจากต่างประเทศเข้าร่วม โดยเฉพาะจากเมียนมาร์ที่มุขมนตรี 2 คนเป็นผู้แทนเขตมัณฑะเลย์และสะกายมาเข้าร่วม ทั้งยังมีปลัดกระทรวงท่องเที่ยวกัมพูชา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของลาวมาเข้าร่วมด้วย ไม่นับผู้แทนจากสถานทูตต่างประเทศที่นิวเดลี โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งทูตบรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีเกาหลี อิตาลี และที่โดดเด่นคือ อัครราชทูต (ผู้แทนรองจากทูต) ของสถานทูตสหรัฐอเมริกาที่กรุงนิวเดลี
ก่อนที่จะพูดถึงนัยสำคัญที่ผู้แทนเหล่านี้มาเข้าร่วมประชุม ขอกล่าวถึงความสำคัญสั้นๆ ของภาคอีสานอินเดียว่ามีอะไรบ้าง
1) ภูมิภาคนี้มีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุที่สำคัญรวมทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นจุดเชื่อมต่อชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เนปาล บังกลาเทศ ภูฏาน และที่สำคัญคือ เมียนมาร์ ที่จะเป็นประตูเชื่อมไปสู่อาเซียน ผู้จัดงานให้ความสำคัญเรื่องนี้ตามหัวข้องานว่า Building Bridges with ASEAN Countries
2) ภาครัฐอินเดียให้ความสำคัญกับการพัฒนาภูมิภาคนี้ เพื่อให้ทัดเทียมกับภาคและรัฐอื่นๆ ของประเทศ งานนี้จัดเป็นครั้งที่ 9 โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2002 ที่เมืองมุมไบ สำหรับแผนการพัฒนาภูมิภาคนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนาประเทศของอินเดียฉบับที่ 12 ซึ่งแนะนำว่างบประมาณกว่า 1 ล้านรูปี จะต้องใช้ทุ่มไปในการพัฒนาอีสานอินเดียอย่างจริงจัง
3) ภาคอีสานอินเดียเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินนโยบาย Look East ของรัฐบาลกลางอินเดียที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1991 อีสานอินเดียจะเป็นประตูเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนและส่วนอื่นๆ ของเอเชีย รัฐบาลกลางมีวิสัยทัศน์ชัดเจนเพื่อปรับปรุงและพัฒนาภูมิภาคนี้ ด้วยการออกเอกสาร North East Vision 2020
คราวนี้มาดูว่า ต่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เขาเห็นประโยชน์จากภาคอีสานของอินเดียอย่างไรบ้าง
มุขมนตรีของเมียนมาร์ทั้ง 2 คน มาร่วมงานเทศกาลที่รัฐมณีปุระ ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งในภาคอีสานของอินเดียและมีพรมแดนติดกับเมียนมาร์ โดยบินตรงจากเมืองมัณฑะเลย์มาลงที่เมือง Imphal ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณีปุระด้วยสายการบิน Golden Myanmar ถือเป็นเที่ยวบินประวัติศาสตร์เพราะเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศเที่ยวแรกที่มาลงที่เมืองนี้ เมียนมาร์กำลังต่อสายตรงทางอากาศกับภาคอีสานอินเดีย หลังจากเที่ยวบินตรงมัณฑะเลย์-พุทธคยาเริ่มบินแล้ว ไม่นับการเชื่อมโยงทางถนนและการค้าขายทางพรมแดนที่มีอยู่แล้ว
เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า สหรัฐอเมริกาก็เริ่มเข้ามามีความร่วมมือกับภาคอีสานของอินเดีย โดยเฉพาะการร่วมพัฒนาคุณภาพประชากร ทั้งนักเรียน นักศึกษา และผู้หญิง ทั้งยังมีการร่วมพัฒนาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสหรัฐฯ ก็มีการลงนามแลกเปลี่ยนนักเรียนกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ภาคธุรกิจของสหรัฐฯที่เข้ามาในภูมิภาคนี้ก็มีหลายราย รวมถึงกิจการพลังงาน ล่าสุดเพิ่งมีการเปิดศูนย์ American Business Center ที่เมืองกูวาฮาติไปเมื่อเดือนธันวาคม 2555
นอกจากภาครัฐบาลแล้ว ภาคประชาชนก็มีส่วนในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับอีสานอินเดีย งานนี้มีการมอบรางวัลให้กับMr.Habib Mohammed Chowdhury ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวอัสสัมที่ประสบความสำเร็จในลาว และเป็นแรงสำคัญในการนำคณะของรัฐมนตรีลาวมาร่วมงานนี้ นอกจากนี้ เรายังได้รู้ด้วยว่า กระแสความนิยมเกาหลีผ่านละครโทรทัศน์ ก็เริ่มแผ่เข้ามาในภาคอีสานของอินเดียด้วยเหมือนกัน
สำหรับไทยเราที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้กับภาคอีสานของเขา มีเพียงผืนแผ่นดินของเมียนมาร์ขวางกั้น ก็มีความพร้อมจะเป็นทางผ่านเชื่อมโยงอินเดียเข้ากับอาเซียน เพราะภายในของไทยก็มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมกันนั้น จะเริ่มจากจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กที่ชื่อโครงการถนนสามฝ่ายไทย-เมียนมาร์-อินเดีย (Thailand-Myanmar-India Trilateral Highway) ที่จะไปทำให้การพัฒนาทางด่วนอาเซียน (ASEAN Highway Network-AHN) ชัดเจนยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ หลายคนอาจจะรู้ว่า ไทยเราเชื่อมโยงกับชนเผ่าชาวไตในภาคอีสานของเขาอย่างเหนียวแน่น หลายกลุ่มใช้ภาษาเหมือนๆ กับไทย พอสื่อสารกันได้ คนอีสานของอินเดียยังนิยมสินค้าไทย ชอบเสื้อผ้าจากไทย และนิยมเดินทางมาช็อปปิ้งในไทยเพื่อซื้อสินค้าแฟชั่นทันสมัย
ในฐานะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออินเดีย อยู่ภายใต้ความดูแลของสถานทูตไทยที่นิวเดลี หากผู้สนใจท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจ Thaiindia.net ที่สถานทูตจัดทำขึ้นร่วมกับสถานกงสุลใหญ่และสำนักงานไทยอื่นๆ ในอินเดีย ได้เสมอครับ
โดย คณิน บุญญะโสภัต
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,903 วันที่ 8 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556