รัฐบาลอินเดียประกาศสร้างเมืองอัจฉริยะ 100 เมืองตลอดระเบียงเศรษฐกิจสี่เหลี่ยมทองคำ
หลังจากที่เฝ้ารอคอยกันมาสักพัก ในที่สุดรัฐบาลอินเดียชุดใหม่ภายใต้การนำของนายนเรนทร โมดี อดีตมุขมนตรีรัฐคุชราต ก็ได้แถลงนโยบายที่จะใช้นำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาตามที่ได้หาเสียงไว้ตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา
โดยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 นายอรุณ เชฏลี (Arun Jaitley) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงแผนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2557 - 58 (สิงหาคม 2557 – มีนาคม 2558) ต่อโลกสภา (สภาผู้แทนฯ) อินเดีย ซึ่งตามธรรมเนียมเป็นเหมือนการแถลงนโยบายต่อสภาฯ ในบ้านเรา
การแถลงนโยบายดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการนำผลสำรวจสถานะทางเศรษฐกิจของอินเดียในปีก่อนหน้ามาสร้างบริบทให้กับนโยบายของรัฐบาล โดยย้ำปัญหาว่า เศรษฐกิจอินเดียในช่วงที่ผ่านมาซบเซาลงมาก อัตราการเติบโต GDP ต่ำกว่า 5% เป็นปีที่สองติดต่อกัน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9% อีกทั้งยังมีปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่สูงกระทบต่อปากท้องของประชาชน
นโยบายรัฐบาลอินเดียจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องเร่งการสร้างงานให้แก่คนหนุ่มสาวชาวอินเดียที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในแต่ละปี จำนวนอย่างน้อย 10 ล้านคนต่อปี หลังจากที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อินเดียไม่มีการจ้างแรงงานเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มีคนหนุ่มสาวที่ว่างงานเป็นจำนวนมาก (ประมาณ 3.8% ในปี 2557 ตามการคาดการณ์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ – ILO ในขณะที่ไทยมีอัตราว่างงานประมาณ 0.62% เท่านั้น) รวมถึงการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งมีราคาสินค้าเกษตรเป็นตัวปัญหาดึงค่าเงินเฟ้อสูงลิ่ว
ด้วยความจำเป็นที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด รัฐบาลอินเดีย รัฐบาลอินเดียจึงให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งกับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะถือเป็นปัญหาที่ชาวอินเดียได้รับผลกระทบมากในช่วงท้ายของการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลผสม UPA นำโดยพรรคคองเกรส และเป็นสิ่งที่พรรค BJP ใช้หาเสียงจู่โจมพรรคคองเกรสโดยตลอด โดยชูคุชราตโมเด็ลเป็นต้นแบบของการพัฒนา ใช้แนวทางบริหารแบบ Minimum Government, Maximum Governance คิดนอกกรอบ พร้อมให้อินเดียกินยาขมเพื่ออนาคตที่ดีกว่า อาทิ ลดการอุดหนุน ของรัฐ (subsidies) ขณะที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาแบบยั่งยืน
ด้านการทหาร
รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับความมั่นคงของประเทศมากเป็นอันดับหนึ่ง จัดสรรงบด้านการทหารทั้งสิ้น 2.29 ล้านล้านรูปี (ประมาณ 1.28 ล้านล้านบาท) คิดเป็นประมาณ 12.8% ของงบประมาณทั้งหมด โดยจะส่งเสริมการพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมทางทหารของประเทศด้วยการเพิ่มเพดานการลงทุน FDI ในด้านการทหารจาก 26% เป็น 49% ซึ่งคาดว่าจะทำให้อินเดียก้าวไปเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้ในไม่ช้า
ด้านเศรษฐกิจ
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่านโยบายด้านเศรษฐกิจถือเป็นหัวใจขอรรัฐบาลอินเดียชุดนนี้ นายกฯ โมดีจึงได้ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านนี้เป็นพิเศษ โดยมีมาตรการที่เอกชนไทยควรจับตาและน่าจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในสาขาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุน
การลงทุนจากต่างชาติ (FDI) รัฐบาลอินเดียจะเร่งส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ โดยปรับเพิ่มเพดานการลงทุนในสาขาต่าง ๆ เช่น การทหารและการประกัน และผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการปรับปรุงระบบภาษีเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติ เช่น การใช้ระบบภาษีสินค้าและบริการระบบเดียวทั้งประเทศ (GST) และจะเพิ่มความเป็นธรรมให้กับบริษัทต่างชาติที่มีข้อพิพาทด้านภาษีกับรัฐบาล
การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลอินเดียจะดำเนินโครงการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อดึงดูนักลงทุนจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) รอบ ๆ หัวเมืองใหญ่ๆ จำนวน 100 เมือง เพื่อรองรับการขยายตัวของชนชั้นกลาง เป็นเงินกว่า 7 หมื่นล้านรูปี (ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท) โดยเมืองเหล่านี้จะอยู่ในเส้นทาง/แผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ของอินเดีย ได้แก่ Amritsar-Kolkata Industrial Master Plan, Delhi-Mumbai Industrial Corridor, และ Chennai-Bengaluru Industrial Corridor และจะจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อหาแหล่งทุนในการสนับสนุนโครงการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน ที่พักอาศัยราคาประหยัด รวมถึงการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต รัฐบาลอินเดียจะเดินหน้าพัฒนาระเบียงอุตสาหกรรมทั่วอินเดียเพิ่มจากระเบียงอุตสาหกรรมเดลี-มุมไบ (DMIC) ได้แก่ ระเบียงอมริตสาร์-กัลกัตตา บังคาลอร์-มุมไบ เจนไน-บังคาลอร์ และเจนไน-ไวแซก โดยจะจัดตั้ง National Industrial Corridors Authority ขึ้นมาดูแลโครงการทั้งหมดเพื่อให้ระบบสี่เหลี่ยมทองคำ (เดลี-มุมไบ-เจนไน-กัลกัตตา) ครบวงจร นอกจากนี้ จะพัฒนาระบบ eBiz เพื่อเป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จสำหรับการขออนุญาตดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม
การพัฒนาภาคเกษตรกรรม ด้านการเกษตร รัฐบาลก็ให้ความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นภาคที่มีผลกระทบต่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (ประมาณ 50% ของแรงงานทั้งหมดอยู่ในภาคเกษตรกรรม) โดยจะจัดตั้งกองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร (Price Stabilization Fund) ด้วยทุนตั้งต้น 5 พันล้านรูปี (ประมาณ 2.8 พันล้านบาท) การจัดตั้ง National Market และ Farmers’ Markets ในเมืองต่าง ๆ เพื่อขจัดพ่อค้าคนกลาง ปล่อยกู้สินเชื่อเพื่อเกษตรกร และพัฒนาระบบชลประทาน โดยในภาพรวมตั้งเป้าการเติบโตของภาคเกษตรกรรมที่ 4% โดยจะดึงดูดการลงทุนและจัดตั้งสถานบันวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร
ด้านสังคม
แน่นอนว่า เรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับรากหญ้า โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อย เป็นสิ่งที่ฝ่ายค้านกำลังเฝ้ารอดู เพราะดูจะเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลชุดนี้อยู่มาก รัฐบาลเองก็ตระหนักดี จึงได้เทงบประมาณไปกับโครงการเพื่อพัฒนาสังคมไม่น้อย
การพัฒนาชนบท เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ในพื้นที่ชนบทห่างไกล และจัดสรรที่อยู่อาศัยให้คนในชนบทผ่านธนาคาร National Housing Bank
การดูแลชนกลุ่มน้อยและผู้ด้อยโอกาส จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนสวัสดิการของชนกลุ่มน้อย Scheduled Castes/ Scheduled Tribes เด็กและสตรี ในส่วนชาวมุสลิมที่ถือเป็นชนกลุ่มน้อยด้วย จะได้รับงบประมาณเพื่อพัฒนาโรงเรียนสอนศาสนา (Madrasas) ให้ทันสมัย
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้ความสำคัญกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อายุ 6-14 ปี) โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ส่วนในระดับอุดมศึกษา จะจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีอินเดีย (IIT) และสถาบันการจัดการอินเดีย (IIM) เพิ่มเติมในรัฐต่าง ๆ
การพัฒนาระบบสาธารณสุข ตั้งเป้าให้ทุกครัวเรือนในอินเดียมีระบบสุขอนามัยแบบครบวงจรภายในปี 2562 (ค.ศ. 2019) ซึ่งเป็นปีแห่งการฉลองวันเกิดครบ 150 ปีของมหาตมะคานธี และจะจัดตั้งสถาบันทางการแพทย์เช่นเดียวกับ All India Institute of Medical Sciences (AIIMS) ที่กรุงนิวเดลี ในรัฐอานธรประเทศ รัฐเบงกอลตะวันตก รัฐมหาราษฏระและรัฐอุตตรประเทศ
สิริรวมแล้ว รัฐบาลอินเดียมีแผนใช้จ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 17,948,920 ล้านรูปี (ประมาณ 10 ล้านล้านบาท) เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 4.1% ของ GDP (โดยมีเป้าจะลดการขาดดุลเหลือ 3.6% และ 3% ของ GDP ในปี 2558-59 และ 2559-60 ตามลำดับ)
ภาคเอกชนไทยคงเห็นแล้วว่า รัฐบาลอินเดียชุดนี้มีความแน่วแน่แค่ไหนที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (อย่างน้อยเพื่อไม่ให้เป็นเป้าทางการเมืองของฝ่ายค้าน) เอกชนไทยจึงควรติดตามใกล้ชิดว่า นโยบายใดจะเกิดขึ้นจริงและจะมีอะไรที่ไทยจะไปสนับสนุนได้ ทั้งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ทั้งระบบ เช่น การพัฒนาระเบียงอุตสาหกรรม การสร้าง Smart Cities ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศสนใจเข้ามามีบทบาทในโครงการสร้าง 100 เมืองใหม่ของอินเดียแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป สิงคโปร์และสหรัฐฯ หรือแม้แต่การผลิตอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อป้อนตลาดผู้บริโภคชั้นกลางถึงสูงที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
กนกภรณ์ คุณวัฒน์
4 สิงหาคม 2557