ลู่ทางการทำธุรกิจในอินเดีย
ช่วงนี้มีแต่คนกล่าวถึงประเทศอินเดียในฐานะของตลาดที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะด้วยประชากรราว 1,200 ล้านคน ที่มีอายุเฉลี่ย 24-25 ปี ซึ่งกำลังเป็นวัยทำงานหนุ่นสาว อีกทั้งความมุ่งมั่นของประเทศในการพัฒนาความเจริญด้านต่างๆ เห็นได้ชัดจากโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังผุดขึ้นในหลายๆ เมืองใหญ่ ตลอดจนนโยบายสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อีก 100 เมืองทั่วประเทศ
แนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะช่วยส่งผลให้ประชากรในเขตเมืองซึ่งคิดเป็นประชากรประมาณร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด มีกำลังซื้อสูงขึ้น และมีโอกาสไขว่คว้าหาความสำเร็จในชีวิตได้มากขึ้น ส่วนประชากรอีกร้อยละ 70 ซึ่งอยู่ในชนบทจะเป็นฐานผู้บริโภคขนาดมหึมา อินเดียจึงเป็นตลาดที่มองข้ามไม่ได้ในทุกหย่อมหญ้า
ถ้าดูจากมูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดีย ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2557 มีมูลค่ารวม 4,204.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แยกเป็นการส่งออกจากไทยไปอินเดีย 2,791.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.92) และไทยนำเข้าจากอินเดีย 1,412.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่าอินเดียจะเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 10 และคู่ค้าอันดับที่ 15 ของไทยซึ่งก็ดูดีอยู่ แต่ถ้าดูลีลารุกคืบของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย จะเห็นได้ว่าอินเดียต้องมีโอกาสสำคัญมหาศาล ซึ่งการที่มาเลเซียเข้าไปจับเข่าคุยกับอินเดีย จนบรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุม (Comprehensive Economic Cooperation Agreement) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ส่งผลให้มาเลเซียตั้งเป้าการค้าไว้ที่ 1.5 หมี่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายกรอบความร่วมมือไปยังภาคเภสัชกรรม การศึกษา เทคโนโลยีชีวภาพ ไอที และการเกษตร
ขุมทองต้องออกแรงขุดฉันใด ประเทศอินเดียอันเป็นขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ ก็ต้องออกแรงขุดฉันนั้น ที่ผ่านมานักธุรกิจไทยพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ยาก” และ “ยุ่งยาก” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการไทยคงไม่ได้ตบเท้าเข้าไปทำธุรกิจในอินเดียกันหนาตาขึ้น
จากประเทศที่กีดกันบริษัทต่างชาติเข้ามาตีตลาดอย่างสุดโต่ง เมื่อ 10-15 ปีที่แล้ว วันนี้ เมื่อโลกของการสื่อสารก้าวไกล ก็ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งกระแสความนิยมในการจับจ่ายใช้สอยในวิถีสมัยใหม่ ส่งผลให้แบรนด์ระดับโลกรุกคืบเข้าอินเดียได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น แม็คโดนัลด์ ซึ่งมีมากกว่า 250 สาขาทั่วประเทศ กาแฟ Starbucks ซึ่งเข้าไปอินเดียไม่นานก็เบ่งบานไปถึง 52 สาขา เฉพาะที่มุมไบเมืองเดียวก็มีถึง 20 สาขาแล้ว ส่วน KFC ก็ตั้งเป้าจะขยายให้ได้ 500 สาขาภายในปี 2558
อินเดียได้ขยายเพดานให้ต่างชาติมาลงทุนตรง (FDI) ครั้งใหญ่ ในปี 2556 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเม็ดเงินลงทุนจากนานาชาติ มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างไทย-อินเดียมีการเดินหน้าเจรจาขยายกรอบการค้าเสรีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำประโยชน์สูงสุดมาให้กับผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่าย ส่งผลให้สินค้าบางตัวมีการขยายตัวด้านการส่งออกไปยังอินเดียอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ยางพาราส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 77.17 ด้านเคมีภัณฑ์ขยายตัวร้อยละ 32.88 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบขยายตัวร้อยละ 31.98 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 22.72
สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้วางแผนบุกอินเดีย อาจสงสัยว่าตลาดที่มีประชากร 1,200 ล้านคน ควรเริ่มต้นจากตรงไหน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ประเทศอินเดียปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐ ประกอบด้วยรัฐต่างๆ 29 รัฐ ซึ่งแต่ละรัฐก็มีศักยภาพในตัวเอง วิธีเล็งเป้าหมาย อาจเริ่มจากรัฐที่มีเที่ยวบินตรง ซึ่งส่งเสริมให้ประชาชนไทย-อินเดีย เดินทางค้าขายกันโดยสะดวก หรือเริ่มจากรัฐซึ่งตั้งอยู่ในพิกัดที่สนับสนุนความได้เปรียบของการขนส่งทางเรือ อย่างเช่น ทางฝั่งตะวันออกของอินเดีย มีรัฐทมิฬนาฑู มีท่าเรือน้ำลึกที่เมืองเจนไน รัฐอานธรประเทศกำลังยกระดับท่าเรือน้ำลึกและระบบการรองรับการขนส่งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือทางตอนเหนือของประเทศก็มีรัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งมีท่าเรือที่เมืองหลวงของรัฐคือกัลกัตตา
ส่วนฝั่งตะวันออกของประเทศอินเดีย ก็มีรัฐมหาราษฎระ ซึ่งมีเมืองมุมไบ เป็นเมืองเศรษฐกิจการค้าที่ฉายประกายเจิดจรัส มีรัฐคุชราต ซึ่งเป็น1 ใน 25 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีที่สุดในโลก ประชากรในแต่ละรัฐอย่างน้อยๆ ก็ประมาณ 40 ล้านคน เฉพาะที่รัฐทมิฬนาฑูรัฐเดียวก็มีประชากรถึง 72 ล้าน ซึ่งนำหน้าคนไทยทั้งประเทศไปแล้ว
ท่านผู้รู้แนะนำให้ผู้ประกอบการลองนำสินค้าไปขายที่อินเดียก่อน โดยเริ่มจากการหาคู่ค้าที่ไว้วางใจได้ เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายในอินเดีย เพื่อจะประเมินการตอบรับของตลาด ว่ามีความสนใจสินค้าชนิดนั้นๆ มากน้อยเพียงใด แต่เนื่องจากประเทศอินเดียมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าบ้านเรามาก ทำให้สินค้ามีราคาถูกกว่า การนำสินค้าไทยไปจำหน่าย เมื่อบวกต้นทุนการผลิต รวมอัตราภาษี ค่าขนส่ง ก็จะทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงขึ้นหลายเท่า
เอกชนไทยจึงควรพิจารณาช่องทางอื่นๆ ยกตัวอย่าง บริษัทอิตัลไทย ซึ่งได้รับงานก่อสร้างขนาดใหญ่จากอินเดียมาแล้วหลายโครงการ อาทิ อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่สนามบินนานาชาติกัลกัตตา โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำโคลแดม (Koldam) ในรัฐหิมาจัลประเทศ ทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นเขื่อนที่สูงเป็นอันดับสองของอินเดีย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อินเดียต้องการแต่ผู้รับเหมารายใหญ่ระดับโครงการหมื่นล้านเท่านั้น ยังมีโครงการก่อสร้างระดับกลาง และระดับเล็กอีกมากมาย ซึ่งอินเดียสนใจบริษัทรับเหมาก่อสร้างของคนไทย เพราะมีฝีมือ ได้มาตรฐาน ไว้วางใจได้ สอนงานให้คนอินเดียได้ ดังนั้น บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เห็นว่าตนเองมีศักยภาพอย่าได้นิ่งนอนใจ
นอกจากงานโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ แล้ว อีกช่องทางที่น่าสนใจคือ การเข้าไปตั้งโรงงานสร้างฐานการผลิตในอินเดีย โดยเริ่มจากการทำ joint venture หรือถ้าสามารถไปตั้งโรงงานผลิตได้เองไม่ต้องร่วมทุนกับคนท้องที่ อย่างเช่น เครือซีพี ซึ่งบุกเดี่ยวมา 20 ปีแล้ว
ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีมาก เพราะนอกจากจะขายสินค้าในตลาดอินเดียได้แล้ว ยังส่งออกไปยังตะวันออกกลางได้ง่าย นอกจากนี้ ประชากรอินเดียยังนิยมสินค้าไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเด็ก หรือ จาน ชาม ช้อน ส้อม ขัน เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพ ดีไซน์สวย ใช้งานได้ดี ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถ้าพูดว่ากินข้าวแล้วช้อนไม่บาดปาก คงจะพอเห็นภาพ
ตัวอย่างบริษัทไทยที่ไปประสบความสำเร็จในอินเดีย
ตอนนี้มีบริษัทไทย ได้นำร่องไปเปิดตลาดในอินเดียหลายรายนำโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตามมาด้วย อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเม้นต์ ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ พฤกษา เรียลเอสเตท ร้อกเวิธ โรงแรมในเครือดุสิต ไทยซัมมิท เดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ SCG กลุ่มบริษัทตะวันออกโปลีเมอร์ ถั่วทองการ์เด้น ยูเนี่ยนโฟรเซนส์ โปรดักส์ ผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง พรานทะเล และที่กำลังมาแรงไปทั่วทุกหัวระแหง คือ ไก่ย่างห้าดาว ภายใต้ชื่อแบรนด์อินเตอร์ Five Star Chicken
หากท่านเป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อม และเห็นความเป็นไปได้ของการทำธุรกิจในประเทศอินเดีย อย่าได้รอช้า รีบประสานงานไปที่หน่วยงานทีมประเทศไทยในอินเดียที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สำนักงานส่งเสริมการค้า สำนักงานส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ทั้งในเขตกรุงนิวเดลี เมืองมุมไบ เมืองเจนไน และเมืองกัลกัตตา (คลิกที่นี่ สำหรับข้อมูลติดต่อ)
สำนวนไทยที่ว่า “ไม่เห็นน้ำอย่าตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกอย่าโก่งหน้าไม้” หรือ “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” คงจะใช้ไม่ได้สำหรับสถานการณ์นี้จริงๆ เพราะถ้าไม่รีบเร่ง ก็จะพลาดโอกาสงามๆ ซึ่งต่อให้มีอุปสรรคบ้างระหว่างทางไปสู่ความสำเร็จ ก็ยังเป็นความคุ้มค่าที่ไม่น่าพลาดอย่างยิ่ง
***********************
รายงานโดยนางสาวสุทธิมา เสืองาม
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน