มัธยประเทศจุดหมายแห่งการลงทุน
รัฐมัธยประเทศ (Madhya Pradesh) เป็นรัฐหนึ่งของอินเดียที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงระหว่างปี 2539 – 2555 เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละร้อยละ 9.5 และในปี 2554 – 2555 (สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2555) ขยายตัวถึงร้อยละ 12 การที่เศรษฐกิจของมัธยประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็วดังกล่าวมีผลทำให้ศักยภาพในด้านการลงทุนมีเพิ่มมากขึ้นในหลากหลายสาขา ซึ่งขณะนี้ ได้มีนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ยื่นขออนุญาตการลงทุน ที่อยู่ระหว่างพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ มีมูลค่าประมาณ 104,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จุดแข็งและข้อได้เปรียบของมัธยประเทศมีหลายประการ ตั้งแต่ตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ตอนกลางของประเทศใกล้กับตลาดหลักที่สำคัญเกือบทั้งหมดของอินเดีย, พื้นที่ของรัฐประมาณ 58,562 ตารางกิโลเมตรเชื่อมโยงกับโครงการระเบียงอุตสาหกรรมเดลี-มุมไบ(Delhi-Mumbai Industrial Corridor), มีฐานผู้บริโภคใหญ่ประมาณ 70 ล้านคนและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง, มีการเชื่อมโยงทางคมนาคมที่ดีเหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมและการกระจายสินค้า, เป็นแหล่งสินแร่ที่สำคัญหลายชนิดและรัฐที่ผลิตปูนซิเมนต์ได้มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ, มีความได้เปรียบด้านต้นทุนค่าที่ดิน ค่าจ้างแรงงานและระบบโลจีสติกส์, สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรม, ภูมิอากาศเหมาะสมในการทำการเกษตรที่หลากหลายถึง 11 โซน, ไปจนถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอุตสาหกรรมที่ดี โดยมีเขตอุตสาหกรรม 229 แห่ง ศูนย์กลางการเติบโต 19 แห่ง เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) 4 แห่ง สวนอุตสาหกรรมเฉพาะผลิตภัณฑ์ 12 แห่ง, นอกจากนั้น ยังเป็นรัฐต้นๆของอินเดียที่มีความกระตือรือร้นอย่างมากในการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ และได้ออกนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนในลักษณะเชิงรุก ให้เอื้อต่อการลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดงานส่งเสริมการลงทุนของรัฐ ในชื่อ Invest Madhya Pradesh: Global Investors Summit ขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยในปีนี้ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 30 ต.ค. 2555 ที่ผ่านมา
มัธยประเทศเป็นรัฐที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมหลายด้านและมีมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ กล่าวคือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า การเกษตรและแปรรูปอาหาร สาธารณสุข(เวชภัณฑ์และไบโอเทคโนโลยี) ไอที โลจีสติกส์และคลังสินค้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า
มัธยประเทศเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าแห่งหนึ่งของอินเดีย โดยในปี 2552 – 2553 มีการส่งออกสิ่งทอมูลค่า 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในเมือง Indore มีโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปประมาณ 1,200 แห่งและมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการออกแบบเสื้อผ้า 1 แห่ง นอกจากนั้น ยังมีสวนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เมือง Indore, Chhindwara และ Jabalpur ซึ่งข้อได้เปรียบของมัธยประเทศในด้านนี้ คือ มีค่าแรงงานต่ำและมีพื้นฐานด้านการถักทอมาอย่างยาวนาน รวมทั้งมีสถาบันอบรมเฉพาะด้าน สิ่งทอ เช่น สถาบัน NIFT Bhopal และ AEPC
รัฐมัธยประเทศได้ออกมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาทิ การลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ได้รับเงินอุดหนุนร้อยละ 10 แต่ไม่เกิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้น การก่อสร้างโรงงานใหม่ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะได้รับการยกเว้นภาษีสินค้าผ่านแดน (Entry tax) เป็นระยะเวลา 7 ปี และอุดหนุนด้านดอกเบี้ยเงินกู้อีกร้อยละ 2 เป็นระยะเวลา 5 ปี แต่ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการก่อตั้งสถาบันอบรมด้านสิ่งทอจะได้รับเงินอุดหนุนร้อยละ 25 ของโครงการ แต่ไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ
2. การเกษตรและการแปรรูปอาหาร
มัธยประเทศมีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย โดยสามารถผลิตพืชผลได้มากที่สุดของอินเดียในหลายประเภท อาทิ ถั่วเหลือง (ร้อยละ 59) ถั่วเขียว (ร้อยละ 40) พืชประเภทหัว (ร้อยละ 40) เมล็ดพืชน้ำมัน (ร้อยละ 25) โดยในปี 2554 – 2555 ภาคการเกษตรของรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 18 มีพื้นที่เพื่อทำการเกษตรถึง 23 ล้านเฮกตาร์ และมีผลิตผลการเกษตรรวม 35 ล้านตัน มีบริษัทแปรรูปอาหาร 812 แห่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการใช้กำลังแรงงานร้อยละ 18 ทั้งนี้ รัฐมีสวนอุตสาหกรรมด้านอาหาร 6 แห่งและเขตอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร 185 แห่ง
รัฐมัธยประเทศได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านการเกษตร อาทิ การซื้อที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมจากรัฐฯ หรือซื้อที่ดินแปลงที่ยังไม่ได้มีการพัฒนา รัฐจะให้การอุดหนุนร้อยละ 75 ของราคาที่ดิน การก่อตั้งสวนอุตสาหกรรมอาหาร (Food Park), Horticulture Hub และ Vendor Park จะได้รับการอุดหนุน ร้อยละ 15 ส่วนการตั้งหน่วยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและปรับปรุงการแปรรูปอาหารให้ทันสมัยจะได้รับการอุดหนุนร้อยละ 15 ของมูลค่าโครงการ แต่ไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วัตถุดิบในการผลิตจะต้องจัดหาจากรัฐฯ
3. ด้านสาธารณสุข (เวชภัณฑ์และไบโอเทคโนโลยี)
มัธยประเทศมีโรงงานผลิตยากว่า 350 แห่ง ครอบคลุมหลายเขตอุตสาหกรรม อาทิ เมือง Dewas, Pithampur, Ujjain และ Govindpura และมีมหาวิทยาลัยที่ผลิตเภสัชกรระดับปริญญา 94 แห่ง และระดับประกาศนียบัตรอีก 37 แห่ง จึงมีบุคคลกรในด้านนี้อย่างพร้อมมูล
รัฐมัธยประเทศได้ออกมาตรการให้การส่งเสริมในด้านนี้ อาทิ การก่อตั้งโรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และการพยาบาล ได้รับการอุดหนุนร้อยละ 25 ของโครงการ แต่ไม่เกิน 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเมืองที่มีประชากรต่ำกว่า 1 ล้านคน และไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเมืองที่มีประชากรกว่า 1 ล้านคน รวมทั้งได้รับการอุดหนุนด้านดอกเบี้ยเงินกู้อีกสูงสุดไม่เกิน 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้น การก่อตั้งโรงพยาบาลในเขตนอกเทศบาลเพื่อรักษาคนไข้ทั่วไปหรือรักษาโรคเฉพาะทาง รัฐจะจัดหาที่ดินขนาด 5 เอเคอร์สำหรับโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง และ 10 เอเคอร์สำหรับโรงพยาบาลขนาด 500 เตียงโดยคิดค่าที่ดินเพียงร้อยละ 25 ของราคาทั่วไป และการตั้งวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ที่รับนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ 100 คนต่อปีที่มีการตั้งโรงพยาบาลขนาด 500 เตียงควบด้วยในพื้นที่นอกเขตเทศบาล รัฐฯจะจัดหาที่ดินขนาด 25 เอเคอร์ให้ในราคา 1 รูปี โดยมีเงื่อนไขต้องลงทุนอย่างน้อย 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะ 5 ปีนับตั้งแต่ได้รับการอุดหนุน
4. ด้านไอที
มัธยประเทศเริ่มเป็นศูนย์กลางด้านไอทีอีกแห่งหนึ่งของประเทศ โดยมีการส่งออกซอฟต์แวร์ปีละประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสถาบันการศึกษาด้านไอทีที่มีชื่อเสียง อาทิ Indian Institute of Information Technology and Management, สถาบัน Gwalior และ PDPM – Indian Institute of Technology, Design and Management ทั้งหมดอยู่ที่เมือง Jabalpur ทั้งนี้ รัฐฯ สามารถรับนักศึกษาด้านวิศวกรรมและ omputer application ได้ถึง 100,000 คน ซึ่งทำให้สามารถดึงดูดนักศึกษาที่มีความสามารถ ในด้านนี้เข้ามาในรัฐฯ ได้จำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมีสวนไอทีอีก 4 แห่งในเมืองหลักๆ ของรัฐ คือ ที่เมือง Indore (2 ล้านตารางฟุต) เมือง Bhopal (2 – 2.5 ล้านตารางฟุต) เมือง Jabalpur (1.5 ล้านตารางฟุต) เมือง Gwalior (1.5 ล้านตารางฟุต) อีกทั้งรัฐฯ ได้อนุมัติในหลักการให้สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านอุตสาหกรรมไอทีจำนวน 11 แห่ง ซึ่งจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของอินเดียมาลงทุน อาทิ Infosys และ Tata Consultancy Services
รัฐมัธยประเทศได้ออกมาตรการส่งเสริมในด้านนี้ อาทิ การตั้งโรงงานในที่ดินที่จัดสรรโดยรัฐฯ ที่มีสัญญาเช่า 99 ปี จะได้รับการอุดหนุนโดยคืนเงินค่าที่ดินให้ร้อยละ 75 และการตั้งโรงงานไอทีและโรงงานผลิต Electronic hardware จะได้รับการยกเว้นค่าอากรแสตมป์ ค่าลงทะเบียน ค่าภาษีสินค้าผ่านแดน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมด้านไอทีจะได้รับหลักประกันว่าจะมีไฟฟ้าใช้อย่างไม่ขาดตอนตลอด 24 ช.ม โดยรัฐฯ จะจัดตั้งเครื่องป้อนไฟฟ้าพิเศษให้ต่างหาก
5. โลจีสติกส์และคลังสินค้า
ปัจจุบันมัธยประเทศมีคลังสินค้าความจุรวมประมาณ 9.87 ล้านตัน ซึ่งทำให้รัฐมีศักยภาพ ที่จะเป็นศูนย์กลางด้านโลจีสติกส์และคลังสินค้าแห่งหนึ่งของอินเดีย โดยมีที่ตั้งที่เป็นข้อได้เปรียบ เนื่องจากอยู่ตอนกลางของประเทศและใกล้กลับตลาดหลักที่สำคัญและเมืองใหญ่ นอกจากนั้นยังได้รับการยอมรับว่ามีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว และประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เป็นศูยน์กลางในสาขา ธุรกิจการเกษตร ยานยนต์ เวชภัณฑ์ สิ่งทอ แร่ธาตุและอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
รัฐมัธยประเทศได้ออกมาตรการส่งเสริมในด้านนี้ อาทิ การก่อตั้งระบบโลจีสติกส์และคลังสินค้า ที่มีการลงทุนตั้งแต่ 200,000 ดอลลลาร์สหรัฐจะได้รับเงินอุดหนุนร้อยละ 15 ของมูลค่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโครงการ รวมถึงค่าที่ดิน และได้รับการอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้อีกร้อยละ 5 เป็นระยะเวลา 7 ปี นอกจากนั้น การขยายคลังสินค้าเดิมโดยการลงทุนอย่างน้อย 200,000 ดอลลาร์สหรัฐก็จะได้รับการอุดหนุนในลักษณะข้างต้นด้วย ทั้งนี้ มัธยประเทศได้จัดสรรที่ดินภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมไว้สำหรับการตั้งคลังสินค้าและ โรงเก็บพืชผลการเกษตร (Silos) ด้วย
6. ด้านการท่องเที่ยว
มัธยประเทศได้พัฒนาจนเริ่มเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวของชาวอินเดีย โดยในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวมาเยือน จำนวน 44.38 ล้านคน และได้รับรางวัลดีเด่นในด้านการท่องเที่ยวทั้งในระดับชาติและระดับระหว่างประเทศหลายรางวัล อาทิ Best Professional Marketing ในงาน ITB Berlin (2012), Lonely Planet Award for Best Indian Destination for Wildlife (2012), First Best Tourism State Awards (2011) และได้รับ National Tourism Awards อีก 4 รางวัล (2012) ทั้งนี้ มัธยประเทศมีสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมากถึง 382 แห่ง
รัฐมัธยประเทศได้ออกมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรมที่สร้างใหม่ในเมือง Indore และ Bhopal จะได้รับการยกเว้นภาษี luxury tax ในช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยวเป็นเวลา 5 ปี และโรงแรมใหม่ในเขตอื่นได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 8 ปี ส่วนโรงแรมประเภท New Heritage Hotels จะได้รับ การยกเว้นภาษีดังกล่าว 10 ปี นอกจากนั้น โครงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะได้รับการได้ยกเว้น entertainment tax สำหรับสิ่งก่อสร้างถาวรเป็นเวลา 10 ปี และสิ่งที่ไม่ถาวรเป็นเวลา 6 ปี
7. อุตสาหกรรมยานยนต์
การส่งเสริมให้มัธยประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์อีกแห่งหนึ่งของอินเดียได้เริ่มปรากฎความคืบหน้าที่สำคัญ โดยขณะนี้เมือง Indore ได้เริ่มเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของรัฐฯ ขณะที่เมือง Bhopal ได้เริ่มเป็นศูนย์กลางในกลุ่มวิศวกรรม (engineering cluster) โดยทั้งสองเมืองมีหน่วยการผลิตกว่า 800 หน่วย ซึ่งมีบริษัทผลิตยานยนต์ที่สำคัญ อาทิ Mahindra, Eicher, Force Motors, Hindustan Motors, TAFE และ John Deere
ปัจจุบันรัฐมัธยประเทศได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งก็ได้เริ่มปรากฏผลเป็นรูปธรรมในขณะนี้ ทั้งที่แต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่มีความยากจนและล้าหลังที่สุดรัฐหนึ่งของอินเดีย ทั้งนี้ ความก้าวหน้าในการพัฒนาของรัฐน่าจะได้แบบอย่างความสำเร็จจากรัฐคุชราตที่มีอาณาเขตติดต่อกัน นอกจากนั้น นาย Shivraj Singh Chouhan มุขมนตรีรัฐมัธยประเทศคนปัจจุบันก็มีลักษณ์ proactive ในการพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนของรัฐ อาทิ ก่อนการจัดงาน Invest Madya Pradesh: Global Investors Summit ระหว่างวันที่ 28 – 30 ต.ค. 2555 ได้เดินทางไปส่งเสริมการเข้าร่วมงานดังกล่าวที่ สิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลีและญี่ปุ่น รวมทั้งได้จัด road shows ไปที่เมืองมุมไบและเมืองปูเน่ด้วย ดังนั้น ฝ่ายไทยควรที่จะได้มีการสำรวจลู่ทางในความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับมัธยประเทศอย่างจริงจัง โดยลู่ทางลงทุนของไทยในนี้ ที่น่าจะมีโอกาสดีอยู่ในสาขาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจีสติกส์ การแปรรูปสินค้าเกษตร และยานยนต์
สำหรับ ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บทความมัธยประเทศ: อีกหนึ่งรัฐที่มาแรงของอินเดีย และ Policy 2012 Highlights
ธนวัฒน์ ไทยแก้ว
รายงานจากกรุงนิวเดลี
30 พฤศจิกายน 2555