โอกาสของภาคเอกชนไทยในรัฐมัธยประเทศ
เมื่อวันที่ 5 – 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายพิศาล มาณวพัฒน์ ทูตไทยประจำอินเดีย ได้เดินทางเยือนเมืองโภปาล รัฐมัธยประเทศ เพื่อศึกษาลู่ทางขยายโอกาสของธุรกิจไทย ในการเดินทางครั้งนี้ ท่านทูตพิศาลฯ ได้เชิญบุคคลสำคัญ 2 ท่าน คือ ท่านกงสุลใหญ่ณัฐ ภิญโญวัฒนชีพ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไม และผอ. อดุลย์ โชตินิสากรณ์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำเมืองมุมไบ ซึ่งมีเขตความรับผิดชอบดูแลรัฐมัธยประเทศโดยตรง ร่วมบุกเบิกเส้นทางด้วย
คณะทูตไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนาย พี เค ดาซ รองปลัดของรัฐมัธยประเทศ (Additional Chief Secretary) และภาคเอกชนกว่า 20 คน เกี่ยวกับโอกาสทางธรุกิจของภาคเอกชนไทย ซึ่งสาระสำคัญที่จะเป็นประโยชน์กับภาคเอกชนไทย มี ดังนี้
1. รัฐมัธยประเทศมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนแบบ one stop service เรียกว่า Madhya Pradesh Trade and Investment Facilitation Corporation Ltd. – TRIFAC งานนี้ รองปลัดดาซ ได้เน้นย้ำกับคณะทูตไทยว่า การติดต่อผ่าน TRIFAC นี้ ผู้ประกอบการต่างชาติจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการดำเนินการด้วยตัวเองอย่างแน่นอน ที่สำคัญเป็นการให้บริหารแบบ stop เดียวจริงๆ ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนภายใน
2. ในโอกาสนี้ TRIFEC ได้นำเสนอ PowerPoint ที่จัดทำเพื่อการเยือนนี้โดยเฉพาะ ต้องขอชื่นชมว่าเป็น powerpoint ที่มีการทำการบ้านศึกษาความพร้อมและลู่ทางจากแง่มุมไทยและมัธยประเทศมาเป็นอย่างดี โดยนำเสนอศักยภาพของรัฐที่มีปัจจัยจูงใจเหมือนกับรัฐคุชราต คือ มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ มีไฟฟ้าและน้ำเหลือเฟือ โดยรัฐมัธยประเทศจะกลายเป็น electricity surplus state ในปี 2014 นี้ ไม่มีปัญหาการประท้วงของคนงาน ไม่มีปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน เพราะได้จัดสรรที่ดินที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ แล้ว จำนวน 15,000 เอเคอร์ และกำหนดพื้นที่อีก 20,000 เอเคอร์ เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ นอกจากนี้ พร้อมจะให้ฝ่ายไทยเข้ามาลงทุนในลักษณะ cluster ซึ่งเป็นไปตามความประสงค์ของภาคเอกชนไทยที่เคยนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อคราวเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2555 (คลิกที่นี่เพื่อดู powerpoint)
3. สาขาธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับภาคเอกชนไทย 4 สาขา ดังนี้
ธุรกิจการเกษตรและการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะสาขาประมงน้ำจืดและแปรรูปอาหารสัตว์ ทูตไทย ได้ใช้โอกาสนี้ หยั่งเชิงรัฐมัธยประเทศในการที่จะให้ภาคเอกชนชั้นนำของไทยนำพันธุ์ปลาทับทิมมาเผยแพร่ เนื่องจากรัฐนี้มีทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ไม่ใช่แม่น้ำที่รัฐบาลมักกลัวว่าสายพันธุ์ปลาจะทำลายระบบนิเวศน์ ทั้งนี้ ผอ. อดุลย์ฯ พร้อมที่จะ ช่วยติดต่อกับบริษัท ซี.พี.ที่เมืองเจนไนต่อไป
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจที่รัฐบาลกลางในรัฐอื่นๆ ของอินเดียมักมีข้อจำกัดในการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่รองปลัดดาซ ได้กล่าวอย่างหนักแน่นว่า รัฐมัธยประเทศพร้อมจะสนับสนุนบริษัทไทยเข้ามาดำเนินธุรกิจสร้างบ้านขายในรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองโภปาลและเมืองอินดอร์ ซึ่งขณะนี้ได้มีบริษัทมาเลเซียกับสิงคโปร์มาลงทุนแล้ว
ธุรกิจร่วมทุนภาครัฐ/เอกชนเพื่อก่อสร้างถนนแล้วเก็บค่าผ่านทาง หรือ mega project ต่าง ๆ ในรัฐมัธยประเทศ ซึ่งเป็นทางผ่านของเขตอุตสาหกรรมระเบียงเศรษฐกิจเดลี/มุมไบด้วย
ธุรกิจการท่องเที่ยว (Tourism) ซึ่งรัฐมัธยประเทศต้องการเรียนรู้จากประเทศไทยและการลงทุนเพื่อสร้างสวนสนุก หรือดึงดูดนักท่องเที่ยวอื่น ๆ รัฐมัธยประเทศมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็น UNESCO World Heritage ถึง 3 แห่งด้วยกัน คือ 1. มหาสถูปพระเจ้าอโศกมหาราชเมืองสาญจี 2. รูปแกะสลักกามสูตร เมืองขชุราโห และ 3. ถ้ำบีมเบทก้า ตามตำนานของมหาภารตะ
4. รัฐมัธยประเทศได้ส่งสัญญาณทางบวกกับประเทศไทยโดยเชิญประเทศไทยร่วมเป็น Country Partner ในการจัดงาน Global Investor Summit 2014 ในวันที่ 8-10 ตุลาคม 2557 ในลักษณะเดียวกับงาน Vibrant Gujarat 2013 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐมัธยประเทศที่ทำการบ้านมาอย่างดี ได้เดินเกมส์รุกเสนอขอมีความร่วมมือกับฝ่ายไทยใน 3 ด้าน คือ (1) การลงนามสามฝ่ายเพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับรถยนต์ ระหว่างบริษัทกลุ่มรถยนต์เมืองปิธัมปุระ (Pithampur Auto Cluster Ltd - PACL) กับสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งประเทศไทย และ (2) เสนอให้มีการลงนาม MoU ระหว่างหน่วยราชการ คือ ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับ M. P. State Agro Industries Development Corporation Ltd. เพื่อความร่วมมือด้านการเกษตร และ MoU ระหว่าง TRIFAC รัฐบาลรัฐมัธยประเทศกับ BOI ไทยเพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่ง กงสุลใหญ่ณัฐฯ พร้อมที่จะประสานกับผู้แทน BOI เมืองมุมไบต่อไป
5. ในโอกาสเดียวกันนี้ ผอ. อดุลย์ฯ ได้เชิญชวนให้รัฐมัธยประเทศส่งผู้แทนเข้าร่วมงานส่งเสริมการค้าต่างๆ ที่กรมส่งเสริมการค้าฯ จัดเป็นประจำ อาทิ งาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ใน ก.ย. 56 งาน Bangkok International Gift Fair ใน ต.ค. 56 งาน Bangkok International Fashion Fair Bangkok International Leather Fair ใน มี.ค. 57 งานแสดงสินค้านานาชาติ (Trade Fair) งานแสดงสินค้าอาหาร (THAIFEX – World of Food Asia) และงานแสดงสินค้า Thailand Auto Parts and Accessory (TAPA) ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 57 และยินดีต้อนรับคณะผู้แทนรัฐมัธยประเทศเข้าร่วมงาน Bangkok International Gift Fair ใน ต.ค.นี้ เพื่อเป็นการเรียนรู้หาประสบการณ์ตรงสำหรับรัฐมัธยประเทศที่มีแผนงานจะจัด Gift Fair ในรัฐมัธยประเทศในปี 57 นี้ด้วย
ทีมงาน thaiindia.net เห็นว่าการเดินทางเยือนรัฐมัธยประเทศในครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และได้รับสาระความรู้ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับภาคเอกชนไทยเกินกว่าที่คาดหวังไว้ นอกจากนี้ การตื่นตัวและการทำการบ้านมาเป็นอย่างดีของเจ้าบ้าน เป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับคณะทูตไทย และเป็นการแสดงถึงความพร้อมของรัฐมัธยประเทศที่เตรียมเปิดประตูต้อนรับภาคเอกชนไทย
พิชญะ สนใจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
9 กรกฎาคม 2556