กรุงเทพธุรกิจ: Inside India (เมื่อทีมประเทศไทยบุกรัฐมัธยประเทศ)
เปล่าครับ...พวกเราไม่ได้บุกไปรบราฆ่าฟันกับใครที่นั่น แต่พวกเราบุกไปรัฐมัธยประเทศครั้งนี้ก็เพื่อจะไปแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุน
สำหรับภาคเอกชนของไทยที่ต้องการจะขยายธุรกิจไปต่างประเทศแต่อาจจะมองข้ามอินเดียไป ทั้งๆ ที่อินเดียยังมีโอกาสทางการค้าและการลงทุนอีกมากมายชนิดที่ต้องบอกว่า Incredible India ตามแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดียกันเลยทีเดียว
ก็ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าอินเดียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลซึ่งถ้าวัดจากพื้นที่ของประเทศแล้วก็ใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 6 เท่าและมีประชากรจำนวนมหาศาลถึงกว่า 1,200 ล้านคน มากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน ก็ประเทศใหญ่ซะขนาดนี้คนไทยก็เลยยังมองอินเดียไม่ค่อยออก เพราะไปติดภาพของอินเดียอยู่เพียงภาพเดียว คือ ภาพของอินเดียในบางพื้นที่ที่ประชาชนยังมีฐานะยากจน ถนนหนทางและสาธารณูปโภคยังไม่พัฒนา ก็เลยเหมารวมเอาเองว่าอินเดียทั้งประเทศเป็นแบบนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วอินเดียไม่ได้เป็นแบบนั้นทั้งหมด มีหลายรัฐที่ได้รับการพัฒนาจนมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจชนิดที่เราคาดไม่ถึงก็มี ซึ่งที่ผมกล่าวถึงบ่อยที่สุดก็จะเป็นรัฐคุชราต แต่ก็ยังมีรัฐอื่นอีก ได้แก่ รัฐเกรละซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศและรัฐมัธยประเทศที่พวกเราทีมประเทศไทยในอินเดียได้ยกขบวนบุกกันไปเมื่อเร็วๆ นี้
ขอย้อนความหลังนิดหนึ่งว่า ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับรัฐมัธยประเทศลงในคอลัมน์ "Inside India" มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งผมได้นำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นถึงโอกาสต่างๆ ทั้งเรื่องการค้าและการลงทุนในรัฐนี้ชนิดแจ่มแจ้งแดงแจ๋กันมาแล้ว และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ร่วมคณะไปกับทีมประเทศไทยที่ประเทศอินเดียนำโดยท่านพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เดินทางไปบุกรัฐมัธยประเทศกันที่เมืองโภปาล (Bhopal) เมืองหลวงของรัฐ ด้วยรูปแบบทีมประเทศไทย คือ เอกอัครราชทูตเป็นผู้ไปเปิดประตูให้พวกเราได้เข้าถึงเป้าหมายระดับสูง ซึ่งคณะของเราได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตลอดจนหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนอินเดียในรัฐมัธยประเทศ โดยมี Ms. Sneh Lata Kumar หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐมัธยประเทศประจำกรุงนิวเดลีเดินทางจากกรุงนิวเดลีมารอต้อนรับคณะด้วยตนเองเลยทีเดียว
การเดินทางไปเยือนเมืองโภปาลซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐมัธยประเทศในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนของไทยชัดเจนยิ่งขึ้น ใครจะคิดบ้างว่ารัฐที่ไม่มีทางออกทะเลอย่างรัฐมัธยประเทศจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราร้อยละ 12 มาสองปีต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553-54 และ 2554-55 คือเมื่อปีที่แล้ว นี่ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐมัธยประเทศนี่ก็ต้องมีดีแน่นอน ซึ่ง "มีดี" ที่ว่านี้ พวกเราก็สรุปกันได้ว่ามาจากความมีเสถียรภาพและความมีวิสัยทัศน์ของรัฐบาลของรัฐมัธยประเทศ ความอุดมสมบูรณ์ด้านการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ ความเพียงพอของกระแสไฟฟ้าและก๊าซ ตลอดจนความพร้อมด้านแรงงานโดยปราศจากปัญหาเรื่องสหภาพแรงงาน นอกจากนั้นยังไม่มีปัญหาเรื่องการจัดหาที่ดินอีกต่างหาก ฟังดูแล้วก็เป็นแนวทางในการพัฒนารัฐไปในทิศทางเดียวกับรัฐคุชราตทางฟากตะวันตกเลย
จากการพบปะหารือกับคณะของรัฐมัธยประเทศซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐและภาคเอกชนอินเดียพบว่ารัฐนี้มีความพร้อมสูงที่จะรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาในรูปบรรษัทของรัฐ คือ Madhya Pradesh Trade and Investment Facilitation Corporation Ltd. หรือเรียกสั้นๆ ว่า MP TRIFAC เพื่อให้บริการแก่นักลงทุนชนิดครบวงจรจบในจุดเดียว นอกจากความพร้อมที่จะรองรับการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว รัฐมัธยประเทศยังแสดงออกอย่างชัดเจนว่าประสงค์จะสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทย เพราะดูแล้วต้องขอบอกว่าเขาทำการบ้านมาดีมาก โดย MP TRIFAC ได้เสนอให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐมัธยประเทศกับหน่วยงานของไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมวิชาการเกษตร และสมาคมต่างๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย
นอกจากนั้น รัฐมัธยประเทศยังมีความสนใจที่จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทย คือ งานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry งานแสดงสินค้า Bangkok International Gift Fair (BIG) และงาน Thailand Auto Parts and Accessories (TAPA) ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยรัฐมัธยประเทศมีแผนที่จะจัดคณะผู้แทนเดินทางมาเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า Bangkok International Gift Fair ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2556 นี้ เพื่อจะได้เรียนรู้และรับการถ่ายทอดประสบการณ์ เนื่องจากในปีหน้ารัฐมัธยประเทศมีโครงการที่จะจัดงานแสดงสินค้าประเภทของขวัญของชำร่วยขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ดีทีเดียว ในขณะเดียวกันรัฐมัธยประเทศก็ประสงค์จะเชิญประเทศไทยให้เป็น Country Partner ในการจัดงาน Global Investor Summit 2014 ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2557 ซึ่งงานดังกล่าวเป็นงานที่เน้นเรื่องการส่งเสริมการลงทุนในรัฐมัธยประเทศ แต่ก็สามารถที่จะเป็นเวทีแสดงศักยภาพประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้เข้าร่วมงานที่มาจากประเทศต่างๆ ได้เช่นกัน
เมื่อฝ่ายอินเดียเปิดเผยท่าทีที่อยากจะร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายไทยซะขนาดนี้ ก็ยิ่งทำให้พวกเราได้เห็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนไทยหลายด้าน โดยท่านทูตพิศาลได้ฟันธงในเบื้องต้นว่าสาขาที่น่าสนใจสำหรับภาคเอกชนไทยที่สนใจจะทำการค้าหรือลงทุนในรัฐมัธยประเทศสาขาแรก คือ ธุรกิจการเกษตรและการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะสาขาประมงน้ำจืดซึ่งท่านทูตพิศาล ได้นำเสนอว่ามีบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการเกษตรของไทยที่ได้เข้าไปขยายเครือข่ายธุรกิจอยู่ในอินเดียอยู่แล้วน่าจะสนใจขยายธุรกิจด้านการเพาะเลี้ยงปลาทับทิมเข้าไปในรัฐมัธยประเทศ เนื่องจากรัฐนี้มีทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ไม่ใช่แม่น้ำที่ปรกติรัฐบาลมักจะมีข้อสงวนเพราะเกรงว่าสายพันธุ์ปลาใหม่จะไปทำลายระบบนิเวศน์ภายในรัฐ ซึ่งประเด็นเรื่องการเพาะเลี้ยงปลาทับทิมได้รับความสนใจจากฝ่ายอินเดียมาก เพราะปลาทับทิมจะเป็นแหล่งโปรตีนราคาประหยัดสำหรับประชาชนในรัฐได้ ซึ่งขณะนี้ทีมประเทศไทยได้ประสานให้ทั้งสองฝ่ายได้ติดต่อกันแล้ว และรับทราบว่าปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการขออนุญาตนำปลาทับทิมเข้าไปเพาะเลี้ยงในอินเดียอยู่ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา
สำหรับสาขาต่อมาที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรัฐมัธยประเทศ โดยท่านทูตพิศาล ได้หยั่งท่าทีของฝ่ายอินเดียโดยแจ้งว่ารัฐบาลกลางมักจะมีข้อสงวนในการที่ต่างชาติจะเข้าไปลงทุนทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่เสมอ แต่รัฐมัธยประเทศยืนยันว่าพร้อมที่จะสนับสนุนบริษัทไทยให้เข้าไปดำเนินธุรกิจสร้างบ้านจัดสรรขายในรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองโภปาลและเมืองอินดอร์ ซึ่งขณะนี้ก็มีบริษัทมาเลเซียและสิงคโปร์เริ่มเข้าไปลงทุนแล้ว
สาขาที่สามที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจร่วมทุนภาครัฐ/เอกชน (Public Private Partnership: PPP) เพื่อสร้างถนนแล้วเก็บค่าผ่านทาง หรือการร่วมทุนในโครงการที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ต่างๆ ในรัฐมัธยประเทศซึ่งเป็นทางผ่านของระเบียงอุตสาหกรรมเดลี-มุมไบ (DMIC: Delhi-Mumbai Industrial Corridor) ด้วย และสาขาสุดท้าย คือ ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งรัฐมัธยประเทศประสงค์ที่จะเรียนรู้จากประเทศไทย รวมถึงการลงทุนเพื่อสร้างสวนสนุกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ขอย้ำอีกครั้งว่ายุทธศาสตร์ที่จะเจาะตลาดอินเดียไม่ได้มีเฉพาะแค่เรื่องการส่งออกเท่านั้น การลงทุนในโครงการเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โครงการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในตลาดอินเดียก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าไปผงาดอยู่ในตลาดอินเดียได้อย่างไม่น้อยหน้าชาติอื่น ซึ่งนอกจากรัฐคุชราตกับรัฐเกรละแล้ว รัฐมัธยประเทศก็เป็นอีกรัฐหนึ่งที่ภาคเอกชนของไทยไม่ควรมองข้ามที่จะใช้เป็นฐานในการเข้าสู่ตลาดอินเดีย...ทีมประเทศไทยที่อินเดียขอฟันธง !
โดย อดุลย์ โชตินิสากรณ์
ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
(จากกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ประจำวันที่ 17 กรกฏาคม 2556)