โอริสสา...ไข่มุกแห่งอ่าวเบงกอล
ในบรรดารัฐภาคตะวันออกของสาธารณรัฐอินเดีย รัฐโอริสสา (Orissa) นับว่าเป็นรัฐลำดับต้น ๆ ที่นักลงทุนต่างชาติพากันรุมจีบ เรียกว่าหายใจรดต้นคอมากับรัฐเบงกอลตะวันตกเลยทีเดียว
นอกจากมีศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและมีทรัพยากรธรรมชาติล้นเหลือแล้ว สิ่งที่สำคัญไปกว่าข้อได้เปรียบทางกายภาพคือการที่รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภายในรัฐ มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและแปรรูปรัฐวิสาหกิจการจัดส่งกระแสไฟฟ้าเป็นรัฐแรกๆ ของอินเดีย
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลโอริสสาหลายสมัยได้ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐโดยเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแร่ธาตุต่าง ๆ โดยเฉพาะถ่านหิน ซึ่งโอริสสามีมากเป็นลำดับที่ 5 จากทุกรัฐในอินเดีย อุตสาหกรรมถ่านหินบูมจนกระทั่งเกิดปัญหาขลุกขลักด้านระเบียบซึ่งนักลงทุนต่างชาติต้องฝ่าฟันและได้ส่งผลให้โรงงานถ่านหินทั้งหมดในรัฐต้องหยุดการผลิตไปช่วงหนึ่ง กอปรกับบางกลุ่มเผชิญกับกระแสคัดค้านจากชาวโอริสสาเนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบต่อการดำรงชีพและสิ่งแวดล้อม
ถึงแม้ว่ารัฐโอริสสาจะได้เปรียบจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ แต่รัฐบาลตระหนักดีว่าการพึ่งพากลุ่มทุนต่างชาติในการตั้งฐานการผลิตโดยใช้สินแร่ต่างๆ ในรัฐอาจไม่ยั่งยืน และวันหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ก็จะร่อยหรอลง จึงได้หันมาส่งเสริมการลงทุนในภาค non-mineral based sector
เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลโอริสสาได้ประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมุ่งสนับสนุนการลงทุนด้าน IT (Information Technology) และ ESDM (Electronic System Design and Manufacturing) เพื่อให้เมืองภุบเนศวร (Bhubaneshwar) เมืองหลวงของรัฐกลายเป็นเมืองแห่ง IT ในภูมิภาค มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมีชื่อเรียกว่า Infovalley และ Infocity หลักฐานชั้นดีว่ารัฐบาลโอริสสาประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งก้าวคือการที่บริษัท IT ชั้นนำของอินเดียไม่ว่าจะเป็น Infosys Wipro TCS และ Tech Mahindra ล้วนมีฐานการผลิตและศูนย์ฝึกบุคลากรที่เมืองภุบเนศวรทั้งสิ้น
1001นอกจากนี้ รัฐโอริสสายังมีข้อได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุนภาคการท่องเที่ยวและบริการอีกด้วย เนื่องจากรัฐนี้ตั้งอยู่บนชายฝั่งอินเดียตะวันออก ความยาวชายฝั่งถึง 480 กิโลเมตร มีท่าเรือพาณิชย์ทั้งหมด 3 แห่ง (เมืองปาราดีป ธัมรา และโคปาลปุระ) แหล่งท่องเที่ยวมีทั้งเชิงธรรมชาติ น้ำตก ภูเขา ทะเล และเชิงประวัติศาสตร์ (ในอดีตกาล รัฐโอริสสาคือนครกาลิงคะซึ่งเป็นเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา เนื่องจากเป็นสนามรบสุดท้ายของพระเจ้าอโศกมหาราช ชาวกาลิงคะได้บาดเจ็บล้มตายจากสงครามนี้นับแสนคน หลังจากนั้นพระเจ้าอโศกฯ จึงได้กลับใจหันมาศึกษาพุทธศาสนาก่อนที่จะปวารณาตนเป็นอัครศาสนูปถัมภ์อย่างแท้จริง)
ผู้เขียนกล้ายืนยันได้ว่ายังมีโอกาสในภาคการท่องเที่ยวและบริการอีกมหาศาลในรัฐโอริสสา (จะว่าไปแล้ว ก็รวมถึงรัฐพิหารซึ่งเป็นที่ตั้งของพุทธคยาด้วย) ผู้บริหารโรงแรมในเครือ Taj ได้ให้ข้อมูลว่า หากเปรียบเทียบปริมาณนักท่องเที่ยวชาวภารตะและต่างชาติที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวอินเดียมากขึ้นทุกปี ภาคบริการอินเดียยังขาดผู้ประกอบการโรงแรมระดับสี่ดาวขึ้นไปอีกจำนวนมาก
ผู้เขียนขอยกมือสนับสนุนข้อมูลนี้และขอเสริมด้วยว่าทุกครั้งที่เดินทางท่องเที่ยวในอินเดีย พบว่าทางเลือกภัตตาคารมีจำกัดยิ่งกว่าที่พักเสียอีก (ไม่
แปลกใจที่กรุ๊ปทัวร์ไทยทั้งหลายขนอาหารกันมาเต็มกระเป๋า) สำหรับรัฐโอริสสา นักท่องเที่ยวอินเดียมักมาจากรัฐเพื่อนบ้านคือรัฐเบงกอลตะวันตกและอานธรประเทศ ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มาจากฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งล้วนพากันหลงเสน่ห์ธรรมชาติแบบดั้งเดิมที่ยังไม่ผ่านมือนักท่องเที่ยวจนช้ำผู้ที่สนใจสามารถศึกษาลงทุนในรัฐโอริสสาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.teamorissa.org ซึ่งรัฐบาลได้รวบรวมข้อมูลการค้าการลงทุนไว้อย่างละเอียดและอ่านได้ง่าย และผู้เขียนขอทิ้งท้ายข้อมูลที่ได้รับจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์หยั่งขาในอินเดียสำเร็จมาแล้ว ต่างให้คำแนะนำว่ากลุ่มผู้ลงทุนต้องศึกษาปัจจัยต่างๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจบุกเข้ามาจับจองพื้นที่ในอินเดีย ทั้งเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค กฎระเบียบท้องถิ่นที่มีความละเอียดและซับซ้อน ความผันผวนของค่าเงินรูปี และวัฒนธรรมเฉพาะของชาวอินเดีย
ผู้ประกอบการต้องมองภาพให้ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการประมวลและวิเคราะห์ตลาด กระบวนการทางกฎหมายในการตั้งฐานการผลิต การสรรหาวัตถุดิบ การควบคุมคุณภาพการผลิต ไปจนถึงการขนส่งสินค้า ฯลฯ เช่นเดียวกับการลงทุนหรือค้าขายต่าง ๆ ไม่ว่าจะที่ใดในโลก ปัจจัยสำคัญคือเงินทุนที่จะเป็นสายป่านให้กับธุรกิจ จะสั้นหรือยาวเป็นกิโลเมตรเพียงพอที่ธุรกิจจะผ่านร้อนผ่านหนาวจนวันที่ผลิดอกออกผลหรือไม่ และที่สำคัญการประกอบธุรกิจในอินเดียต้องเดินหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป ช้าๆ ได้พร้าเล่มงามนะจ๊ะนายจ๋า
โดย ภัทธิรา เจียมปรีชา
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,053 วันที่ 17 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558