เปิดแผนสร้างเมืองอมราวดี (Amaravathi) เมืองหลวงใหม่ของรัฐอานธรประเทศ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ ๒-๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ รัฐบาลรัฐเตลังคานา (Telangana) ได้จัดงานเฉลิมฉลองครอบรอบ ๑ ปี การสถาปนารัฐเตลังคานาที่เมืองไฮเดอราบัด ซึ่งเป็นเมืองหลวงร่วมระหว่าง รัฐเตลังคานากับรัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) เป็นเวลา ๑๐ ปี ภายหลังการสถาปนารัฐเตลังคานา เป็นรัฐที่ ๒๙ ของอินเดีย โดยแยกออกจากรัฐอานธรประเทศ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๗
คลิกภาพ เพื่อชมภาพขยาย
Photo Source: http://www.southreport.com/andhra-pradesh-capital-amaravathi-master-plan/
รัฐเตลังคานาจะมีเมืองหลวง คือ เมืองไฮเดอราบัด (Hyderabad) ซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิม ส่วนรัฐอานธรประเทศ อยู่ในข้อตกลงที่จะต้องสร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้น โดยขณะนี้ รัฐบาลรัฐอานธรประเทศได้กำหนดที่ตั้งเมืองหลวงใหม่แล้ว นั่นคือ เมืองอมราวดี (Amaravathi)
เมืองอมราวดีเป็นเมืองโบราณ เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของอาณาจักร Telugu ซึ่งมีหลายราชวงศ์ปกครองดินแดนซึ่งอยู่ในเขตรัฐอานธรประเทศและเตลังคานาในปัจจุบัน มายาวนานกว่า ๑,๘๐๐ ปี นับตั้งแต่ ศตวรรษที่ ๒ ก่อนคริสตกาลจนถึงราวศตวรรษที่ ๑๖
นอกจากนี้ ยังมีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยเชื่อว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาประทับที่เมืองอมราวดี และในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่ได้มีการเผยแพร่พระพุทธศาสนาลงมาทางตอนใต้ถึงในดินแดนแห่งนี้ ได้มีการสร้างโบราณสถานและโบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนา รวมถึงพระพุทธรูปจำนวนมาก
ความเจริญทางศิลปะวัฒนธรรมในช่วงดังกล่าวก่อให้เกิดสกุลศิลปะทางพุทธศาสนาในดินแดนนี้ ที่เรียกว่า ศิลปะแบบอมราวดีขึ้น โดยศิลปะแบบอมราวดีได้ถูกเผยแพร่มายังอาณาจักรโบราณต่างๆ ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอาณาจักรโบราณในดินแดนสุวรรณภูมิโดยกลุ่มพ่อค้าชาวอินเดีย
อย่างไรก็ดี เมืองอมราวดี ในปัจจุบันเป็นเมืองเล็ก ตั้งอยู่ในเขตอำเภอ Guntur ริมฝั่งแม่น้ำ Krishna ที่มีโบราณสถานทั้งของพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูที่บูชาศิวะเทพตั้งเรียงรายอยู่
รัฐบาลรัฐอานธรประเทศ นำโดยนาย Nara Chandrababu Naidu มุขมนตรีแห่งรัฐ ได้ประกาศที่จะเลือกเมืองอมราวดี เป็นเมืองหลวงของรัฐอานธรประเทศ โดยกำหนดให้มีการวางผังเมืองและสร้างเมืองใหม่ให้ทันภายในระยะเวลา ๙ ปีที่เหลืออยู่
เพื่อให้ทันกำหนดระยะเวลาดังกล่าว รัฐบาลอานธรประเทศได้ว่าจ้างบริษัทจากสิงคโปร์เพื่อให้จัดทำ Master Plan ของเมืองอมราวดี โดยมอบหมายให้ The Infrastructure Corporation of Andhra Pradesh ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลรัฐอานธรประเทศเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ International Enterprise Singapore ของสิงคโปร์ เพื่อให้จัดทำ Master Plan ดังกล่าว
ขณะนี้ Master Plan ของเมืองอมราวดีได้จัดทำเสร็จแล้ว โดยเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ได้เดินทางมายังเมืองไฮเดอราบัดเพื่อส่งมอบ Master Plan ดังกล่าวให้กับมุขมนตรีแห่งรัฐอานธรประเทศด้วยตนเอง
ถัดจากนี้ไป คาดว่า ฝ่ายสิงคโปร์น่าจะได้ส่งมอบแผนลงทุนสำหรับการสร้างเมืองอมราวดีให้กับรัฐบาลอานธรประเทศได้ต่อไป และการเริ่มสร้างเมืองอมราวดีตาม Master Plan ในระยะเริ่มแรกน่าจะได้เริ่มดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้
ภายใต้ Master Plan เมืองอมราวดีและอาณาเขตโดยรอบจะมีพื้นที่รวม ๗,๔๒๐ ตารางกิโลเมตร ขณะที่ตัวเมือง หรือ City ของเมืองจะมีขนาดพื้นที่รวม ๒๑๗ ตารางกิโลเมตร
เขตเมืองอมราวดีและอาณาเขตโดยรอบ หรือที่เรียกว่า capital region นี้ จะประกอบด้วยเขตระเบียงการพัฒนา หรือ development corridor ได้แก่ เขต Nandigana Corridor ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเภสัชกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และพลาสติก เขต Gudivada Corridor ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมการเกษตร เขต Gannavaram Corridor ถูกกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ อิเล็คทรอนิกส์ ยานยนต์และอวกาศ
ขณะที่เขต Guntur Corridor ถูกกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และสิ่งทอ เขต Tenali Corridor ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์ เขต Sattenapali Corridor ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการศึกษา และเขต Nuzvid Corridor ถูกกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมเกษตร
นอกจากนี้ Master Plan ยังกำหนดให้เมืองอมราวดีจะต้องมีความพร้อมทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบไฟฟ้า น้ำประปา ระบบกำจัดขยะ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงต้องมีระบบการขนส่งที่ดีที่สามารถเชื่อมโยงได้ทั้งภายในเมืองและนอกเมืองทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางรถไฟ และทางอากาศด้วย
โครงการก่อสร้างสำคัญที่อยู่ภายใต้ Master Plan ของการสร้างเมืองอมราวดีที่สำคัญ ได้แก่
- โครงการก่อสร้างถนนสี่เลนรอบตัวเมืองอมราวดีกับเมืองอื่นๆ ซึ่งกำหนดให้เป็นฮับด้านต่างๆ เช่น เมือง Gudivada ที่ถูกกำหนดให้เป็นฮับด้านการเกษตร เมือง Sattenapalli ที่ถูกกำหนดให้เป็นฮับของอุตสาหกรรมหนัก สิ่งทอ
- โครงการสร้างถนนสี่เลนเชื่อมระหว่างเมืองอมราวดี กับเมือง Machilipatnam ซึ่งถูกกำหนดให้ฮับด้านโลจิสติกส์ และเมือง Vodarevu
- โครงการสร้างถนนวงแหวนรอบนอกรอบเมืองอมราวดี ระยะทาง ๒๑๐ กิโลเมตร
- โครงการปรับปรุงท่าอากาศยาน Gannavaram เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ หรือหากจำเป็นจะต้องสร้างท่าอากาศยานใหม่ ทางรัฐอานธรประเทศอาจจะพิจารณาสร้างท่าอากาศยานที่เมือง Mangalagiri
- โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ Krishna 5 แห่ง
- โครงการพัฒนาเส้นทางน้ำเพื่อการท่องเที่ยวและขนส่ง
- โครงการสร้างทางหลวงระหว่างเมือง Vishakapatnam กับเมืองเจนไน ที่ผ่านเมืองอมราวดี และโครงการสร้างทางด่วน ๘ สาย
- โครงการสร้างรถไฟฟ้า Metro Rail ภายในเมือง และเชื่อมต่อกับเมืองใกล้เคียงและสถานที่ท่องเที่ยว ระยะทางรวม ๑๓๕ กิโลเมตร โดยมี MRT รวม ๔ สาย
- โครงการสร้างพื้นที่สีเขียวและสถานที่พักผ่อนและท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำ
เป็นต้น
คลิกภาพ เพื่อชมภาพขยาย
Photo Source: http://www.southreport.com/andhra-pradesh-capital-amaravathi-master-plan/
สำหรับงบประมาณในการสร้างเมืองหลวงใหม่ตาม Master Plan นี้ คงต้องใช้เงินมหาศาล โดยทางการรัฐอานธรประเทศ ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาลกลางมาช่วยด้วย โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้อนุมัติเงินงบประมาณสำหรับก่อสร้างเมืองหลวงของรัฐอานธรประเทศใหม่รวม ๑,๕๐๐ crore หรือประมาณ ๒๓๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ปัญหาสำคัญ คือ รัฐบาลอินเดียเองก็ยังคงประสบปัญหางบประมาณขาดดุล ดังนั้น เชื่อว่า หากจะให้โครงการสร้างเมืองอมราวดีใหม่สำเร็จก็คงต้องอาศัยการลงทุนจากภาคเอกชนเข้าช่วยด้วย
ในส่วนของการก่อสร้างโครงการต่างๆ ในอนาคตนั้น ทราบว่า ทางรัฐบาลสิงคโปร์ได้พยายามผลักดันที่จะให้บริษัทของสิงคโปร์ได้มีส่วนในการก่อสร้างโครงการตามแผน Master Plan แต่ทางรัฐอานธรประเทศก็บอกเป็นนัยๆ ว่า ในอนาคต คงต้องให้มีการคัดเลือกที่โปร่งใสต่อไป
โครงการสร้างเมืองหลวงใหม่ เมืองอมราวดีนี้ น่าจะถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในอภิมหาโปรเจ็คของอินเดียที่จะต้องมีโครงการก่อสร้างในอนาคตอีกหลายโครงการ และต้องอาศัยงบประมาณเพื่อการก่อสร้างอีกเป็นจำนวนมาก
โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสใหญ่ๆ ที่ภาคเอกชนของไทยควรติดตามศึกษาและพิจารณาว่า จะสามารถเข้ามามีส่วนในโครงการดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด
****************************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน