Resurgent Rajasthan รัฐแนวหน้าน้องใหม่ของอินเดีย
ท่ามกลางบรรยากาศการดำเนินนโยบายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอินเดียของนายนเรนทร โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน รัฐราชสถาน (Rajasthan) เป็นรัฐหนึ่งที่กำลังก้าวไปเป็นแนวหน้าของอินเดียด้านเศรษฐกิจ และเป็นอีกโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจจะไปลงทุนในอินเดีย
รัฐราชสถาน รัฐที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักในฐานะดินแดนแห่งมหาราชาท่ามกลางทะเลทราย ที่เลื่องชื่อในเรื่องความงดงามของพระราชวังเก่าแก่ในเมืองชัยปุระ (Jaipur) อุทัยปุระ (Udaipur) และโชธปุระ (Jodhpur) มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในอีกหลายด้านที่นักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก
ศักยภาพและโอกาสการลงทุนในรัฐราชสถาน
รัฐราชสถานตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย มีประชากร 68.5 ล้านคน มีอัตราการรู้หนังสือร้อยละ 66 เป็นรัฐที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในอินเดีย (342,239 ตารางกิโลเมตร) ทำเลที่ตั้งของรัฐราชสถานที่อยู่ติดกับรัฐขนาดใหญ่และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจอื่นๆ ของอินเดีย ได้แก่ รัฐปัญจาบ รัฐหรยาณา รัฐอุตตรประเทศ รัฐมัธยประเทศและรัฐคุชราต ทำให้รัฐราชสถานได้เปรียบในการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ รัฐราชสถานมีเครือข่ายทางหลวงแผ่นดิน (national highway) ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีท่าอากาศยานนานาชาติในเมืองชัยปุระ (เมืองหลวงของรัฐ) และท่าอากาศอีกหลายแห่งในเมืองใหญ่ๆ
ในช่วงปี 2556 – 2557 รัฐราชสถานมีการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 11.86 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของรัฐราชสถาน (GSDP) มีมูลค่ากว่า 80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก
ปี 2552 ซึ่งมีมูลค่า GSDP 46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ภายใต้โครงการ “Resurgent Rajasthan” ผู้นำรัฐ หรือ มุขมนตรีหญิงอย่างนางวสุนทรา ราเช (Vasundhara Raje) มีนโยบายพัฒนารัฐราชสถานให้ทันสมัย โดยมุ่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาเป็น “หุ้นส่วน” ร่วมลงทุนปรับโฉมรัฐราชสถานให้พัฒนาอย่างรอบด้านและยั่งยืน โดยออกนโยบายต่างๆ มารองรับ เช่น การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อรับรองการขยายของเมืองและอุตสาหกรรม การจัดสรรพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ มาตรการจูงใจด้านการเงินแก่นักลงทุนต่างชาติ การจัดตั้งระบบ single window system เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุนต่างชาติในการติดต่อหน่วยงานราชการออนไลน์ เป็นต้น
นอกจากนี้ การที่พื้นที่กว่าร้อยละ 60 ของรัฐราชสถานตั้งอยู่เขตที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการพัฒนาพื้นที่เขตระเบียงอุตสาหกรรมเดลี-มุมไบ (Delhi-Mumbai Industrial Corridor - DMIC) ซึ่งมีกำหนดจะเสร็จสิ้นในปี 2560 ยิ่งทำให้รัฐราชสถานกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจแห่งใหม่ที่มีศักยภาพและน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง
สาขาอุตสาหกรรมที่รัฐบาลรัฐราชสถานต้องการดึงดูการลงทุนจากต่างชาติ ได้แก่ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร ยานยนต์และวิศวกรรม การออกแบบและผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดีย (ESDM) พลังงานทดแทน เทคโนโลยีสารสนเทศและบริการที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจการแพทย์และด้านสุขภาพ แร่ธาตุและเซรามิค ธุรกิจ SME อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ในปัจจุบันมีต่างชาติเข้าไปลงทุนในรัฐราชสถานจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นญี่ป่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส หรือสเปน โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลราชสถานในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่เมืองนีมรานา 120 กม. จากเมืองหลวงนิวเดลี มีบริษัทญี่ปุ่นกว่า 50 บริษัทมาตั้งโรงงาน เช่น ไดกิ้น นิสสัน และนิปปอน มีการสร้างชุมชนชาวญี่ปุ่น มีร้านอาหารและร้านค้าญี่ปุ่นครบครับ จนได้รับฉายาว่า Mini-Nippon
โอกาสสำหรับนักลงทุนไทย
รัฐราชสถานมีศักยภาพที่จะเติบโตอีกมาก การสนับสนุนอย่างแข็งขันของรัฐบาลรัฐราชสถาน ที่ตั้งของรัฐที่อยู่ใกล้เมืองหลวงและอยู่ใจกลางระเบียงอุตสาหกรรมเดลี-มุมไบ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐราชสถานเป็นที่น่าจับตามองว่า จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาได้อย่างรัฐคุชราต รัฐบ้านเกิดที่ของนายกรัฐมนตรีโมดีหรือไม่
นักลงทุนไทยควรลองเข้าไปศึกษาลู่ทางธุรกิจในรัฐราชสถาน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน รถไฟฟ้า (ซึ่งบริษัท ITD ได้เข้าไปแล้ว) ที่อยู่อาศัย ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและรวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอีกสาขาที่มีศักยภาพอย่างมาก เช่น การสร้างหรือนำพระราชวังเก่ามาดัดแปลงเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว (heritage resort/hotel) เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในรัฐนี้ ซึ่งในปี 2556 มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาท่องเที่ยวมากกว่า 31.73 ล้านคน
ในวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2558 รัฐบาลรัฐราชสถานมีกำหนดจะจัดงาน “Resurgent Rajasthan Partnership Summit” ณ เมืองชัยปุระเพื่อเป็นโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติ นักธุรกิจท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐได้มาพบปะและหารือด้านธุรกิจกัน น่าจะเป็นโอกาสที่เอกชนไทยจะได้ไปทำความรู้จักและเปิดตัวในรัฐที่มีศักยภาพสูงนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมสามารถหาข้อมูลเพิ่มได้ที่เว็บไซต์ resurgent.rajasthan.gov.in และ www.investrajasthan.com
จิตราภรณ์ เลิศทวีวิทย์
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี