ไทย-อินเดีย-รัฐมหาราษฏระ กับความร่วมมือรูปแบบ 4.0
เมื่อมองอินเดีย คุณเห็นอะไรบ้าง?
คนไทยส่วนใหญ่อาจมองเห็นอินเดียเป็นภาพเมืองล้าหลัง ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก และด้อยพัฒนา แต่ในความจริง อินเดียในปัจจุบันมีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด และมีตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ภาครัฐสนับสนุนให้เอกชนอินเดียแสวงหาโอกาส และขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนที่ใช้นวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าสินค้า การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งล้วนเป็นยุทธศาสตร์ตามแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต “อุตสาหกรรม 4.0” หรือ “Industry 4.0” เพื่อจะนำอินเดียไปสู่การเป็น New India ในไม่ช้า
อุตสาหกรรม 4.0 ของอินเดีย และนโยบายประเทศไทย 4.0
ยุทธศาสตร์ของอินเดียในข้างต้นสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทยเป็นอย่างยิ่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างกัน สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ สาธารณรัฐอินเดีย ได้จัดโครงการ “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ 4.0 ไทย-อินเดีย” โดยร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดบรรยายสรุปเกี่ยวกับนโยบาย Thailand 4.0 โครงการ EEC และ EECi ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนอินเดีย 3 แห่งในรัฐมหาราษฏระ คือ 1) World Trade Centre (WTC) เมืองมุมไบ ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน มุ่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 2) Savitribai Phule Pune University เมืองปุเณ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองปุเณ และ 3) Mahratta Chamber of Commerce, Industries, and Agriculture (MCCIA) เมืองมุมไบ ซึ่งเป็นสมาคมการค้าเก่าแก่และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองปุเณ
การสัมมนาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากภาคเอกชนอินเดีย รวมถึงธุรกิจ Start-ups สาขานานาโนเทคโนโลยี การแพทย์ สาธารณสุข ธรณีวิทยา นักวิชาการ และนักศึกษา เข้าร่วมการเสวนา
นอกจากนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดให้ฝ่ายไทยพบหารือกับหน่วยงานภาครัฐของรัฐมหาราษฏระที่สำคัญ ซึ่งฝ่ายอินเดียยอมรับว่า ไทยและรัฐมหาราษฏระสามารถพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ 4.0 เพราะมีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกัน สามารถส่งเสริมและเกื้อหนุนกันได้ และได้เน้นย้ำว่าทางการรัฐมหาราษฏระ และสมาคมการค้าชั้นนำต่าง ๆ จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนอินเดียเห็นโอกาสในไทย
ศักยภาพการค้าการลงทุนที่รอคอยภาคธุรกิจไทย
จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนอินเดียมีความตื่นตัวที่จะขยายการค้าและการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และสาขาใหม่ ๆ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซอฟแวร์ Cloud Technology รวมทั้งสาขาบริการ ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การถ่ายทำภาพยนตร์ และ อหังสาริมทรัพย์ พร้อมกันนี้ ภาคธุรกิจอินเดียได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุน และซื้อสินค้าอินเดียมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภททุน อุปกรณ์ป้องกันประเทศ แร่ธาตุ และเคมีภัณฑ์
ขณะเดียวกัน เอกชนไทยไม่ควรมองข้ามอินเดีย โดยเฉพาะรัฐมหาราษฏระ ซึ่งถือเป็นรัฐที่มีพลวัตรทางเศรษฐกิจสูง มีเมืองมุมไบ เป็นเมืองหลวงของรัฐ และเป็นเมืองศูนย์กลางทางการเงิน และธนาคารของประเทศ ซึ่งบริษัทไทยได้เข้ามาลงทุนแล้ว อาทิ บริษัท CPF (India) และบริษัท ITD Cementation India Limited (ดูรายชื่อบริษัทไทยในอินเดียได้ที่ https://www.thaiindia.net/2014-12-25-12-33-02/companies-thailand-in-india.html) รวมทั้งมีเมืองที่มีศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนอื่น ๆ อาทิ เมืองปุเณ เมืองนาคปูร์ เมืองออรังคาบาด
สำหรับภาคเอกชนไทยที่สนใจ สามารถศึกษานโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐมหาราษฏระ ฉบับปี 2562 (Maharashtra Industrial Policy 2019) ตามลิงค์ https://www.aipma.net/Industry-Update/Maharashtra%20Industrial%20Policy%20Draft%20Modified%20on%2002.03.2019.pdf ซึ่งภายใต้นโยบายดังกล่าว รัฐบาลรัฐมหาราษฏระได้วางแผนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีมาตรการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และมีสาขาเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) อุตสาหกรรมอวกาศและป้องกันประเทศ อุตสาหกรรม 4.0 (Artificial Intelligence, Internet of Things and Robotics, Nanotechnology เป็นต้น) เวชภัณฑ์ สินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป IT ITes พลังงานสีเขียว อุปกรณ์โรงงานนิวเคลียร์ เป็นต้น
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
เมษายน 2562