ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 77)
ระบบการจัดการสินค้าเกษตรของอินเดียกับโอกาสทองของไทย
สัปดาห์นี้ทีมงาน thaiindia.net มีแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบการจัดการสินค้าเกษตรของประเทศอินเดียมาเล่าสู่กันฟัง จากประสบการณ์และการศึกษาค้นคว้าของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน ที่อยู่ในพื้นที่ทางใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าและอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเอกชนที่อยู่ในแวดวงและอาจสนใจหาช่องทางทำธุรกิจในอินเดีย
แม้การผลิตสินค้าเกษตรของอินเดียปัจจุบันถือว่ามีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับ GDP โดยคิดเป็นเพียง 20% ของ GDP แต่การที่อินเดียมีสถานะเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหาร (Food surplus country) ที่เพียงพอเลี้ยงประชากร 1.2 พันล้านคน และยังสามารถส่งออกสินค้าเกษตรในบางหมวดไปต่างประเทศได้แถมเกษตรกรรมยังเป็นแหล่งงานถึง 50% ของแรงงานทั้งประเทศ แสดงให้เห็นว่า ขนาดของอุตสาหกรรมการเกษตรของอินเดียต้องมีขนาดใหญ่พอตัว
สาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าสินค้าเกษตรยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ของประเทศ คือระบบการจัดการผลิตผลทางการเกษตรที่ยังมีอุปสรรคและความท้าทายอีกมาก มีการเปิดเผยว่าในแต่ละปีสินค้าเกษตรในอินเดียต้องเน่าเสียถึง 20- 40% ก่อนจะถึงมือผู้บริโภค อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ อาทิ การคมนาคมขนส่งที่ยังไม่ครอบคลุม ไฟฟ้าที่มีไม่เพียงพอและราคาสูง ทำให้การจัดเก็บสินค้า เช่น ระบบห้องเย็นยังมีปัญหา เป็นต้น มีการประเมินว่าในแต่ละปี ผลิตผลข้าวสาลีของอินเดียเน่าเสียถึง 21 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับผลผลิตข้าวสาลีของออสเตรเลียทั้งปี
เมื่อลองเจาะลึกระบบจัดการทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ก็จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสินค้าเกษตรสูงถึงปีละ 5 แสนล้านรูปีนั้นมีความซับซ้อนพอสมควร เริ่มตั้งแต่ระบบพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเมื่อสินค้าพ้นมือเกษตรกรมาแล้ว ยังต้องมีการขายต่อกันอีกอย่างน้อย 3- 4 ทอด ก่อนจะถึงผู้บริโภค ณ จุดหมายปลายทาง ทำให้ระยะเวลาที่สินค้าต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการคงความสด ต้องยืดยาวออกไปอีก
นอกจากนี้ สินค้าเกษตรเกือบทั้งหมดจะถูกนำไปขายในตลาดที่ควบคุมโดยรัฐบาล ซึ่งสภาพตลาดโดยทั่วไปไม่ได้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมที่จะจัดการสินค้าการเกษตรปริมาณมากๆ ได้ การขนถ่ายลำเลียงสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นธัญพืช ผัก และผลไม้ทำกันกลางแจ้งขนถ่ายลงในรถบรรทุกต่างๆ ขาดห้องเย็น ทำให้สินค้าเกษตรเน่าเสียเป็นจำนวนมาก
เหล่านี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลอินเดียกำลังเร่งหาทางแก้ไข ทั้งการเตรียมลงทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 5 ปีข้างหน้า พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน การส่งเสริมการลงทุนด้านการค้าปลีกแบบครบวงจรของต่างชาติ เพื่อถ่ายโอนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีห้องเย็น ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการสินค้าตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง รวมถึงการเข้าไปลงทุนเป็นเจ้าของกิจการแปรรูปสินค้าเกษตรและร้านค้าปลีกย่อยจำนวนหนึ่ง เช่น ผลิตภัณฑ์นมตรา Mother Dairy
สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งโอกาสทองของผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นการมาลงทุนในโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนสาขาค้าปลีกแบบครบวงจรที่แบรนด์ดังของโลกต่างกำลังจ่อคิวเข้าไปในอินเดีย หรือการลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น ห้องเย็น แต่โอกาสที่สำคัญสำหรับไทย น่าจะเป็นเรื่องการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไทยเรามีความเชี่ยวชาญ พัฒนามาจากภูมิปัญญาชาวบ้านของเราที่น่าภาคภูมิใจ
อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรของอินเดียยังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก เพราะปัจจุบันคิดเป็นเพียง 2% ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมด ภาคเอกชนผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของอินเดียบางรายได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น บริษัท FieldFresh Foods และ Tasty Bites ได้ทำสัญญาโดยตรงกับเกษตรกร คัดสินค้าเกษตรคุณภาพดี และทำธุรกิจอาหารแปรรูปส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการควบคุมรักษาคุณภาพสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร ซึ่งก็น่าจะเป็นรูปแบบที่น่าเอาเป็นตัวอย่าง
เอกชนไทยที่สนใจที่จะไปลงทุนในอินเดียในสาขาที่เกี่ยวกับการจัดการสินค้าเกษตร ควรศึกษาว่ารัฐใดบ้างที่เปิดโอกาสการลงทุนในสาขานี้ และอาจจำเป็นที่จะต้องหาพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อช่วยในการเจาะตลาดอินเดีย ซึ่งเรื่องนี้ หน่วยงานราชการไทยในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นสถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สำนักงานพาณิชย์ หรือสำนักงาน BOI จะพร้อมให้การสนับสนุนเอกชนไทยเต็มที่แน่นอน
โดย ธัชไท ถมังรักษ์สัตว์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,843 วันที่ 12-15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556