ธนาคารโลกได้ออกรายงานคาดหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียในปี 2559 ว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 7.8 และจะเติบโตในอัตราร้อยละ 7.9 ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียดังกล่าวทำให้อินเดียเป็นที่จับตาของโลก เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เศรษฐกิจยังคงเติบโต รวมทั้งมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้น พร้อมยังได้ประกาศอย่างภูมิใจว่า ต้นทุนในการทำธุรกิจในอินเดียถูกลง เนื่องจากอินเดียได้อานิสงค์จากราคาค่าน้ำมันที่ลดลงด้วย
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายในประเทศอินเดียก็ยังคงมีความกังวลอยู่ลึกๆ ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจไม่เป็นไปตามคาด เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และความอ่อนแอและอ่อนไหวของเศรษฐกิจจีน
ตัวเลขการส่งออกที่ลดลงของอินเดียถือเป็นหนึ่งสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยอินเดียส่งออกลดลงร้อยละ 5 และมูลค่าของการส่งออกในช่วงเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2558 ลดลงร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สัญญาณเตือนภัยลำดับสอง ร้องเสียงดังว่า บริษัทขนาดใหญ่ของอินเดียไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นเลย ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา อีกทั้งผลกำไรของบริษัทในตลาดหุ้นอินเดียมีเพียงร้อยละ 1 ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2558 โดยในปี 2559 นี้ คาดการณ์กันว่า ผลกำไรของบริษัทในตลาดหุ้นอินเดียอาจมีโอกาสติดลบได้
หันมามองเรื่องค่าเงินบ้าง เงินรูปีอินเดียปรากฏว่าอ่อนลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2558 และอาจมีโอกาสหลุดไปแตะที่ 70 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐได้ โดยปัจจุบัน ณ วันนี้ เงินรูปีอ่อนค่าไปอยู่ที่ 68.46 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว
ผู้ว่าการธนาคารกลางของอินเดียกล่าวว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียปี 2559 นี้ จะลดลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือปัจจัยที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รายได้ของภาคธุรกิจที่ลดลง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินรูปี การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และการอ่อนค่าเงินของเงินหยวน
เมื่อหันมามองด้านฝั่งฟากธนาคารกันบ้าง มีรายงานว่า เริ่มมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นในกลุ่มธุรกิจธนาคาร โดยสัดส่วนของหนี้เสียในเดือนมิถุนายน 2558 คิดรวมเป็นร้อยละ 14 ของสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งส่งสัญญาณไม่ค่อยดี
แม้จะมีสัญญาณอันตรายหลายๆ ตัวร้องเตือนขึ้น แต่เศรษฐกิจอินเดียยังคงมีปัจจัยบวกอื่น ที่เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจอินเดียให้เติบโต
นั่นคือหมวดการลงทุน โดยที่ผ่านมา การลงทุนในประเทศของอินเดียได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ในช่วงปี 2557-2558 และมูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2558 มีสูงถึง 31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอินเดียถือเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนทางตรงที่สำคัญของโลก ซึ่งปัจจุบันได้แซงจีนและสหรัฐฯ ไปแล้ว
อย่างไรก็ดี การลงทุนในอินเดียจากต่างประเทศจะเพิ่มมากขึ้นในอัตราที่เสถียรและยั่งยืนหรือไม่ ก็ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การปรับปรุงระบบภาษี การอำนวยความสะดวกเรื่องการลงทุนและความง่ายในการเข้าไปทำธุรกิจ ซึ่งหลายๆ ฝ่ายก็รู้อยู่ว่า ปัญหาเหล่านี้ เป็นที่หนักอกหนักใจของนักลงทุนจากต่างประเทศทั่วไป
เท่าที่หน่วยงานของอินเดียประเมิน เศรษฐกิจอินเดียน่าจะสามารถเติบโตไปโลดได้ในปีนี้ แม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยการปฎิรูประบบภาษี โดยเฉพาะเรื่องภาษีสินค้าและบริการให้เป็นระบบเดียวกัน และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจอินเดียเดินหน้าต่อไป
***************************
ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน