เรื่องที่ผู้ประกอบการไทยควรรู้เกี่ยวกับการจ่ายภาษี GST ของอินเดียในอนาคต
ภาพประกอบจาก https://www.zepo.in/blog/wp-content/uploads/2016/08/what-to-do-when-you-feel-stuck-1.png
วุฒิสภาของอินเดียได้มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ ที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับแก้ไขครั้งที่ ๑๒๒) ของอินเดีย ปี ค.ศ. ๒๐๑๔ หรือ The Constitution (One Hundred and Twenty-second Amendment) Bill, 2014 เพื่อเปิดทางให้มีการออกกฎหมายว่าด้วยภาษีสินค้าและบริการ หรือ Good and Services Tax (GST) Bill ในอนาคตได้
การที่รัฐสภาอินเดียผ่านความเห็นชอบให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถือเป็นความพยายามที่ประสบความสำเร็จในอันที่จะปรับปรุงการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการของอินเดียทั้งระบบทั่วประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานปฏิรูปทางเศรษฐกิจงานสำคัญของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีโมดี โดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พรรค BJP ได้พยายามล็อบบี้พรรคการเมืองต่างๆ อย่างหนักหน่วง
ขั้นตอนต่อไปสำหรับการคลอดกฎหมาย GST Bill ก็คือ การที่รัฐต่างๆ เกินกึ่งหนึ่งของอินเดีย คือ ๑๕ รัฐ จาก ๒๙ รัฐ จะต้องให้สัตยาบันการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว หากครบ ๑๕ รัฐเมื่อใด ก็ให้ถือว่าการแก้ไขกระบวนการทางกฎหมายหลักของประเทศเกี่ยวกับ GST Bill เสร็จสิ้น ซึ่งขณะนี้ มี ๑๒ รัฐ ได้แก่ รัฐหริยาณา (Haryana) คุชราต (Gujarat) มัธยประเทศ (Madhya Pradesh) มหาราษฎระ (Maharashtra) เตลังคานา (Telangana) ฉัตติสครห์ (Chhattisgarth) ฌาร์ขัณฑ์ (Jharkhand) มิโซรัม (Mizoram) อัสสัม (Assam) นาคาแลนด์ (Nagaland) พิหาร (Bihar) และหิมาจัลประเทศ (Himachal Pradesh) รวมทั้งนครหลวงเดลี (Delhi) ที่ได้ให้สัตยาบันรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว
จากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างกฎหมาย GST Bill ซึ่งจะประกอบด้วยการจัดทำร่างกฎหมายลูก ๓ ฉบับ ได้แก่ กฎหมาย Central Goods and Services Tax (CGST) กฎหมาย State Goods and Services Tax (SGST) และ กฎหมาย Integrated Goods and Services Tax (IGST)
โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างกฎหมาย หรือที่เรียกว่า GST Council โดยประธานาธิบดีอินเดีย และเมื่อร่างเสร็จ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและส่งผ่านไปยังกลไกรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยกฎหมาย CGST และกฎหมาย IGST จะต้องผ่านความเห็นชอบและประกาศใช้จากรัฐสภาอินเดีย และกฎหมาย SGST จะต้องผ่านความเห็นชอบและประกาศใช้จากสภานิติบัญญัติของแต่ละรัฐ
ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียเชื่อว่า การจัดเก็บระบบภาษีใหม่นี้ จะส่งผลให้อินเดียมีระบบจัดเก็บภาษีที่เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ ทำให้เห็นเสมือนว่าเป็นตลาดเดียวกันที่แจริง แทนที่จะมีการเก็บภาษีที่แตกต่างและยิบย่อยในแต่ละรัฐ ซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกิจในอินเดียมีความง่ายมากขึ้น และยุ่งยากน้อยลง อีกทั้งยังจะช่วยให้มีการลดต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนโลจิสติกส์ลงอย่างมาก และยังจะช่วยขยายการส่งออก และเพิ่ม GDP ของอินเดียอีกร้อยละ ๒ ด้วย
สำหรับผู้ประกอบการหลายท่านคงอยากจะทราบว่า แล้วการจัดเก็บ GST ในอนาคต จะมี การจัดเก็บอย่างไร? เว็บไซต์ Quora.com ภายใต้หัวข้อเรื่อง What is the difference between the current taxation and the new goods and services tax (GST) in India? What is the impact? ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า มีภาษีใดบ้างที่จะถูกรวบให้อยู่ภายใต้ระบบภาษี GST ใหม่ ซึ่งคำตอบได้แก่ ภาษี Central Excise ภาษี Service Tax ภาษี CVD (Countervailing Duty) ภาษี SAD (Special Additional Duty) ภาษี CST และภาษี VAT
ภาษีหลักๆ ในระบบภาษี GST อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น จะประกอบด้วย (๑) ภาษี Central Goods and Services Tax (CGST) จะจัดเก็บโดยรัฐบาลกลาง (๒) ภาษี State Goods and Services Tax (SGST) จะจัดเก็บโดยรัฐบาลท้องถิ่น และ (๓) ภาษี Integrated Goods and Services Tax (IGST) จะจัดเก็บโดยรัฐบาลกลาง
Ref | Tax | Levy by | Name (Levied on) | Can be set-off against | Covered by GST |
1 | Central Excise | Centre | Manufacture | 1.2 | Yes |
2 | Service Tax | Centre | Providing Services | 1.2 | Yes |
3 | Customs | Centre | Import | - | No |
4 | CVD under Customs | Centre | Additional Import duty (compensating Excise) | 1.2 | Yes |
5 | SAD under Customs | Centre | Additional Import duty (compensating Sales Tax) | 1.2 | Yes |
6 | CST | Centre | Inter-State sales | - | Yes |
7 | VAT | State | Sales within a state | 7 | Yes |
หากผู้ประกอบการค้าขายภายในรัฐเดียวกัน ก็จะเสียภาษีเฉพาะภาษี SGST และภาษี CGST ทดแทนการจัดเก็บในระบบเดิม คือ ภาษี VAT ภาษีสรรพสามิต และภาษี Service Tax
แต่หากผู้ประกอบการค้าขายข้ามรัฐ ก็จะเสียภาษีเฉพาะภาษี IGST อย่างเดียว ซึ่งจะทดแทนการจัดเก็บภาษีระบบเดิม คือ ภาษี Central Sales Tax (CST) ภาษีสรรพสามิต และภาษี Service Tax
ภาพกราฟฟิกจาก quora.com แสดงชัดเจนเกี่ยวกับการเก็บภาษีโดยรัฐบาลกลางและท้องถิ่นในกรณีต่างๆ เช่น กรณีแรก หากผู้ประกอบการค้าขายภายในรัฐเดียวกัน ก็จะช่วยลดการชำระภาษีลง เนื่องจากจะได้เครดิตทางภาษี เช่น หากบริษัท A จากมุมไบ จำหน่ายสินค้าให้บริษัท B ที่ปูเณ่ ก็จะเสียภาษี SGST และ CGST และหากบริษัท B ที่ปูเณ่ จำหน่ายสินค้าให้กับบริษัท C ที่นาคปุระ บริษัท B จะได้รับเครดิตทางภาษี จากที่ก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลท้องถิ่นได้เคยรับภาษีในระบบในสินค้าตัวเดิมดังกล่าวไว้แล้ว
ในกรณีที่สอง หากมีการจำหน่ายสินค้าทั้งในรัฐและข้ามรัฐ เช่น บริษัท A จาก Indore จำหน่ายสินค้าให้บริษัท B ที่ Bhopal บริษัท A เสียภาษี SGST และ CGST หากบริษัท B จะจำหน่ายสินค้าให้บริษัท C ที่ Lucknow จะต้องเสียภาษี IGST และบริษัท C จะได้รับเครดิตทางภาษี ทำให้ต้นทุนและราคาสินค้าถูกลงเมื่อเทียบกับระบบการจัดเก็บภาษีแบบเดิม
กฎหมาย GST กำหนดจะให้มีการบังคับใช้ให้ได้ภายในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๐ นี้ หากกระบวนการต่างๆ ไม่มีการสะดุด
อย่างไรก็ดี ในช่วงการเปลี่ยนผ่านก่อนการบังคับใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอินเดียจะต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะในเรื่องระบบโครงสร้างทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบไอที
เนื่องจากระบบภาษีใหม่จะเป็นการจัดเก็บโดยใช้ระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้รัฐบาลอินเดียจะต้องมีการวางแผนปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างด้านไอทีดังกล่าวให้ทันกับการทดลองใช้งานและเปิดระบบใช้งานจริง
โดยคาดว่า จะมีการทดลองใช้ระบบจัดเก็บภาษี GST ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๖๐
ในส่วนของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในอินเดียจำเป็นจะต้องทำความคุ้นเคยกับระบบการจัดเก็บภาษีใหม่แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะเรื่องแบบฟอร์มและการยื่นภาษี ซึ่งจะเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด
รัฐบาลอินเดียกำหนดว่า น่าจะได้มีการฝึกอบรมเรื่องเกี่ยวกับ GST IT ให้กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ นี้ เป็นต้นไป ซึ่งคงต้องติดตามกันรอฟังข่าวกันต่อไป
**************************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน