ตามดูลู่ทางการค้าในอุตสาหกรรมผลิตล้อยางของอินเดีย (ตอนที่ 1)
คณะภาครัฐและผู้ประกอบการไทยจากอุตสาหกรรมยางพาราและล้อยางพบผู้แทนสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดีย ที่เมืองเจนไน
เมื่อสามสัปดาห์ที่แล้ว ในช่วงวันที่ 12-16 กันยายน 2559 ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Road Show นำผู้ประกอบการด้านยางพาราไทยสำรวจตลาดและพบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และผลิตล้อยางในเขตระเบียงเศรษฐกิจเมืองเจนไน-เมืองบังคาลอร์ ซึ่งจัดโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้มาสำรวจตลาดและพบผู้ประกอบการผลิตล้อยางและชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดีย และรับทราบความต้องการของผู้ผลิตที่นี่ เผื่อในโอกาสข้างหน้า จะได้มีการติดต่อซื้อขายเป็นลูกค้าและผู้ขายระหว่างกันได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีกำหนดการให้ผู้เข้าร่วมโครงการจากภาครัฐซึ่งได้แก่ ดร. วีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย และคณะจาก กนอ. พร้อมด้วย ดร. บงกช
อนุโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักการตลาดเพื่อการลงทุน จาก BOI ได้นำทีมจากกรุงเทพฯ และเมืองมุมไบ มาบรรยายให้ผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมยางพาราและล้อยางของอินเดียได้รับทราบเกี่ยวกับโครงการ Rubber Cities ของไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับนักลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากกับทั้งฝ่ายไทยที่จะได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลดีๆ แก่นักลงทุนแดนภารตะ และทั้งฝ่ายอินเดีย ที่จะได้เห็นลู่ทางการค้าการลงทุนในประเทศไทย พร้อมได้รู้จักหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยด้านการค้าการลงทุน พร้อมทั้งได้พบผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพาราและผลิตยางของไทยแบบตัวเป็นๆ ซึ่งมากันหลายบริษัท เช่น บริษัท Thai Hua Rubber บริษัท Teck Bee Hang บริษัท Otani Radial และบริษัท Pacific Rubber Works
การจัด Business Seminar เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลการค้าการลงทุนของไทย และโครงการ Rubber Cities
ทางสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดให้พวกเราที่เข้าร่วมโครงการ Road Show ในครั้งนี้ ได้ไปพบกับผู้ประกอบการและศึกษาดูงาน ที่โรงงานผลิตยางของบริษัท Apollo Tyre ไปพบหารือกับ
ผู้บริหารของบริษัท MRF และไปพบกับสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดีย หรือ Automotive Component Manufacturers Association of India (ACMA)
จากการไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ได้รับทราบข้อมูลและลู่ทางการค้าการลงทุน ที่ขอเก็บมาฝากท่านผู้อ่านเป็นประเด็นๆ ไปนะคะ
เรื่องแรก คงจะเป็นเรื่องภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมล้อยางของอินเดียก่อน
ทราบว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียได้ฟื้นตัวขึ้นหลังจากก่อนหน้าไม่ค่อยโตมา 2-3 ปี โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตด้านการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 8 มีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 จาก 1,517 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2556-2557 เป็น 2,570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2557-2558
โดยการผลิตยานยนต์ประเภท passenger cars ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ยานยนต์ประเภท utility vehicles เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ขณะที่รถประเภท vans เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 แต่ยานยนต์ประเภท commercial vehicles ผลิตลดลงร้อยละ 0.3 ยานยนต์ประเภท 2 ล้อและ 3 ล้อ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8
การเติบโตดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดีย ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 38.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีขนาดใหญ่ถึงกว่าร้อยละ 40 ของภาคการผลิตทั้งหมดของอินเดีย เติบโตตามไปด้วยถึงร้อยละ 11 และมีการส่งออกเมื่อปี 2557-2558 สูงขึ้นถึงร้อยละ 29 โดยมีมูลค่า 11.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศที่อินเดียส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐ เยอรมนี ตุรกี สหราชอาณาจักร อิตาลี ไทย บราซิล จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังนำเข้าชิ้นส่วนบางประเภทจากต่างประเทศ รวมทั้งไทยด้วย โดยมีมูลค่าการนำเข้าจากต่างประเทศรวมประมาณ 13.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพระหว่างการฟังบรรยายสรุปจากผู้บริหารของบริษัท MRF ที่เมืองเจนไน
สำหรับอุตสาหกรรมล้อยางของอินเดียนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ มูลค่ารวม ปี 2558-2559 ประมาณ 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรมล้อยางของอินเดียจำกัดวงอยู่ที่มีผู้เล่นรวมประมาณ 43 บริษัท ผู้เล่นรายใหญ่ 10 บริษัท ซึ่งเป็น Top Ten ได้แก่ บริษัท MRF บริษัท Apollo Tyres บริษัท JK Tyre & Industries บริษัท CEAT บริษัท Balkrishna Industries บริษัท TVS Srichakra บริษัท Good Year บริษัท Falcon Tyres บริษัท Govind Rubber และบริษัท PTL Enterprise ถือสัดส่วนการผลิต
ล้อยางมากกว่าร้อยละ 95
ต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมล้อยางของอินเดียมีสัดส่วนของการซื้อวัตถุดิบซึ่งเป็นยาง โดยเฉพาะยางแผ่นรมควัน (natural rubber smoked sheets) และยาง TSNR หรือยางแท่ง กว่าร้อยละ 55
โดยส่วนใหญ่อุปสงค์ของล้อยางในอินเดียจะมาจากความต้องการในการเปลี่ยนล้อยางซึ่งเท่ากับประมาณร้อยละ 55 ของอุปสงค์ทั้งหมด ขณะที่อีกประมาณร้อยละ 30 มาจาก
ความต้องการจากโรงงานของผู้ประกอบการประเภท OEM ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 25 นั้นเป็นการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่บริษัทผู้ผลิตยางล้อประสบปัญหาในปัจจุบัน คือ ปัญหาเรื่องราคาและต้นทุน เนื่องจากในตลาดการเปลี่ยนยางและในวงการผู้ประกอบการประเภท OEM นั้น มีพลังในการต่อรองเรื่องราคาค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ในส่วนของเรื่องต้นทุนนั้น ก็คงต้องขึ้นกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการเจรจาต่อรองกับ suppliers ยาง และ carbon black ให้ถูกลง นอกจากนี้ ผู้ผลิตยางในอินเดียยังต้องเผชิญกับปัญหายางนำเข้าที่ราคาถูกจากประเทศจีนด้วย
ในส่วนของการผลิตยางล้อในอินเดียนั้น ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบยางพาราจากในประเทศเป็นหลัก โดยใช้ยางธรรมชาติกว่าร้อยละ 80 ส่วนยางสังเคราะห์นั้นใช้น้อยกว่ามาก คือประมาณร้อยละ 20
โดยยางธรรมชาตินั้น ส่วนใหญ่นิยมใช้ยางแผ่นรมควัน RSS-4 ซึ่งมีบ้างที่อินเดียนำเข้ายางพวกนี้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ผลผลิตในประเทศเป็นหลัก
ส่วนยางสังเคราะห์นั้น โดยมากจะใช้ยางประเภท Butadiene Rubber (PBR) และ Styrene Butadiene Rubber (SBR) เป็นหลัก โดยใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตยางเรเดียลในรถยนต์ประเภท passenger cars
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มาจากอุตสาหกรรมยางและล้อยางนั้น หากประสงค์จะส่งออกยางมาให้กับบริษัทผลิตล้อยางของอินเดียนั้น อาจจะต้องศึกษารายละเอียดประเภทของยางที่ทางอินเดียต้องการ เนื่องจากบางครั้งก็มีอุปสงค์ที่บริษัทผลิตล้อยางต้องการจากต่างประเทศ รวมทั้งไทยด้วย รวมทั้งพิจารณาเรื่องของการเสนอราคาและคุณภาพที่สามารถแข่งขันได้ แต่อุปสรรคสำคัญนั้น อาจเป็นเรื่องของกำแพงภาษีที่สูง คือ ประมาณร้อยละ 25 ในส่วนของผู้ผลิตล้อยางของไทย อาจจะลองศึกษาตลาดการเปลี่ยนล้อยางดู ซึ่งน่าจะมีศักยภาพอยู่มากพอสมควร เนื่องจากมีอุปสงค์ค่อนข้างสูงค่ะ
*********************************
รายงานโดย ดร.พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน