ความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดีย...ไม่มีทางลัด
นโยบายยกเลิกธนบัตร (Demonetization) ใบละ 500 รูปี และ 1,000 รูปี ที่ผ่านมาของรัฐบาลอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 รวมเวลากว่าหนึ่งเดือน ได้สร้างความฮือฮาและ
เสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากจากประชาชนอินเดียทั่วประเทศ
รัฐบาลอินเดียได้ประกาศว่า นโยบายดังกล่าวเป็นไปเพื่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของอินเดียให้มีความโปร่งใสมากขึ้น โดยรัฐบาลมีเป้าหมายจะเล่นงานพวกที่ได้เงินมาแบบผิดกฏหมาย (Black money) พวกเลี่ยงการเสียภาษี พวกทุจริตคอรัปชั่น และต้องการปราบปรามพวกที่ให้เงินสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย รวมทั้งมุ่งที่จะนำพาเศรษฐกิจอินเดียสู่เศรษฐกิจแบบดิจิทัลในอนาคต
ซึ่งนโยบายดังกล่าว คงเป็นธรรมถ้าจะกล่าวว่า สำเร็จไปส่วนหนึ่ง โดยมีรายงานว่า การใช้ digital payment ในอินเดียภายหลังจากนโยบาย Demonetization ได้เพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 300
โดยมียอดการใช้เงินจาก e-commerce และ point of sale รวม 1.6 ล้านครั้งต่อวัน โดยมีมูลค่ารวมเฉลี่ยประมาณ 2.36 พันล้านรูปีต่อวัน
ขณะที่เหรียญอีกด้านหนึ่งได้สะท้อนเสียงจากประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากจากนโยบายดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเงินสดที่เป็นธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นใหม่เพื่อทดแทนธนบัตรแบบเดิมในระบบเศรษฐกิจและในมือประชาชน
ประชาชนต้องเข้าคิวเพื่อถอนเงินจากตู้ ATM ซึ่งหลายตู้ไม่มีเงินให้บริการ และมีการจำกัดจำนวนที่ถอนเงินได้ไม่เกิน 4,000 รูปี
รวมถึงประชาชนยังสับสนกับนโยบายที่ไม่ชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เช่น ประชาชนจะฝากเงินเข้าบัญชีเพื่อแลกเงินอย่างไร จำนวนเท่าใด และเงินที่จะฝากจะถอนจะเสียภาษีอย่างไร และเท่าใด
เนื่องจากมีรายงานข่าวเป็นระยะว่า รัฐบาลอินเดียอาจมีนโยบายที่จะให้ผู้ฝากเงินซึ่งมียอดฝากจำนวนมากหรือร้านค้ามียอดขายสูงผิดปกติ เปิดเผยที่มาของรายได้ และชำระภาษีซึ่งอาจมีอัตราสูงถึงร้อยละ 50 ภายในเดือนมกราคม 2560
นอกจากนี้ ที่สำคัญไปกว่านั้น ก็คือ เหล่าบรรดาเกษตรกร ชาวนา และร้านค้าขนาดเล็ก เช่น ร้านขายน้ำชาข้างทางจำนวนมากยังได้รับผลกระทบจากนโยบาย Demonetization เนื่องจาก
ส่วนใหญ่ประชาชนกลุ่มนี้ ใช้เงินสดในการค้าขาย ไม่ได้มีเครื่องรูดการ์ดบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตประจำร้าน
การที่ลูกค้าไม่มีเงินสดในมือ ทำให้ประชาชนกลุ่มอาชีพเหล่านี้ขายสินค้าได้ลดลง หรือจำเป็นต้องขายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทต่างๆ แม้จะถูกกดราคาก็ตาม
ที่ผ่านมา ในรอบสองปี นับตั้งแต่รัฐบาลอินเดียเข้าบริหารประเทศ นายกรัฐมนตรีโมดี ได้แสดงผลงานหลายประการ โดยมีนโยบายสะเทือนวงการหลายๆ นโยบายออกมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะปฎิรูปเศรษฐกิจอินเดียอย่างรวดเร็ว
นโยบายดังกล่าวได้แก่ นโยบาย Make in India นโยบาย Digital India นโยบาย Skill India นโยบาย Smart Cities นโยบาย Swachh Bharat หรือ Clean India และนโยบาย Start up เป็นต้น
โดยนโยบายดังกล่าว ล้วนถือเป็นนโยบายแบบ Top-Down ทั้งสิ้น
นักวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของอินเดียท่านหนึ่ง ชื่อว่า Manoj Joshi ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ Times of India ระบุว่า ความสำเร็จในการสร้างระบบเศรษฐกิจนั้น ไม่มีทางลัด จำเป็นจะต้องใช้เวลา รัฐบาลอินเดียไม่ควรใจร้อน และจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือและพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบายด้วย
Manoj Joshi แสดงความเห็นว่า การดำเนินนโยบายแบบ Top-Down อาจส่งผลเสีย โดยยกตัวอย่างของจีน ซึ่งดำเนินนโยบายแบบ Top-Down เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในอดีตที่ผ่านมา และได้ส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประเทศ
ดังเช่น นโยบาย Great Leap Forward ในช่วงทศวรรษที่ 1950s และการปฏิวัติวัฒนธรรม ในช่วงสมัยการปกครองของเหมาเจ๋อตุง
อย่างไรก็ดี จีน ก็มีตัวอย่างที่ดีเช่นกัน โดยที่กลับตัวทัน และนำนโยบายด้านเศรษฐกิจที่มีแผนระยะยาวมาปรับใช้ ซึ่งกว่าที่จีนจะปรับตัวจากศูนย์และกลายมาเป็นประเทศที่เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้นั้น ใช้เวลาถึง ๔๐ ปี นับตั้งแต่สมัยเติ้งเสี่ยวผิง
สิ่งที่อินเดียควรเรียนรู้จากจีน คือ การปรับเปลี่ยนทางสังคมและเศรษฐกิจนั้น ไม่มีทางลัด จำเป็นต้องใช้เวลา และการวางแผนที่ดีอย่างเป็นระบบ
ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงสมัยของนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งเพียงสมัยเดียว
Manoj Joshi มองว่า นโยบายที่ดีของรัฐบาลโมดี ควรมีการวางแผนให้มีความต่อเนื่อง โดยคำนึงว่า หากนายกรัฐมนตรีโมดีจำเป็นจะต้องลงจากอำนาจในอนาคต จะดำเนินการกับนโยบายต่างๆ ต่อไปอย่างไร
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการกำจัดการคอรัปชั่น รัฐบาลอินเดียควรมีแนวทางที่มีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและรอบด้าน และมีความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบาย
ซึ่ง Manoj Joshi มองว่า รัฐบาลโมดีขาดคุณสมบัติในข้อนี้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการดำเนินนโยบาย Demonetization ในครั้งนี้
นอกเหนือจากนโยบาย Demonetization ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักแล้ว อีกหนึ่งนโยบายที่กำลังเป็นที่วิจารณ์ก็คือ นโยบาย Start-up ซึ่งล่าสุด กลุ่มนักธุรกิจในอุตสาหกรรมไอทีได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการในการสนับสนุนกลุ่ม Start-up ที่ชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า consumer internet และ telecom hardware
อีกหนึ่งเรื่องที่อาจสะเทือนต่อรัฐบาลอินเดียปัจจุบัน คือ การประกาศบังคับใช้กฎหมาย GST ซึ่งหลายฝ่ายเริ่มไม่มั่นใจว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือนเมษายน 2560 หรือไม่ เนื่องจากสภากฎหมาย GST หรือ GST Council ซึ่งมีรัฐมนตรีคลังจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเป็นสมาชิกยังไม่สามารถตกลงกันได้ในบางประเด็น ซึ่งถ้าหากมีการเมืองเข้ามาแทรก รวมถึงปัญหาสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย และผลกระทบอันเกิดจากนโยบาย Demonetization อาจทำให้การประกาศใช้กฎหมาย GST ไม่เป็นไปตามกำหนด
ซึ่งหลายฝ่ายให้ข้อมูลว่า การพิจารณาประกาศใช้กฎหมาย GST อาจมีความเป็นไปได้ที่จะต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายเดือนกันยายน 2560 หรือนานกว่านั้น
*********************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน