ปัญหาขมของอุตสาหกรรมน้ำตาลของอินเดีย
อุตสาหกรรมน้ำตาลของอินเดียถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาชนบทของอินเดีย เนื่องจากอินเดียมีเกษตรกรที่ปลูกอ้อยเพื่อเป็นวัตถุดิบส่งโรงงานน้ำตาลรวมกว่า ๕๐ ล้านคน และมีโรงงานน้ำตาลรวมกว่า ๕๐๐ โรงงาน ถือเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของอินเดีย
หากมองในภาพรวมของตลาดโลก ตลาดผู้บริโภคน้ำตาลของอินเดียมีขนาดใหญ่มากอันดับต้นๆ ของโลก และขณะเดียวกัน อินเดียก็ยังเป็นผู้ผลิตน้ำตาลมากที่สุดเป็นอันสองของโลกด้วย
น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมของรัฐบาลอินเดียเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยอินเดียมีกฎหมาย Essential Commodity Act ที่กำกับดูแลและควบคุมตั้งแต่การปลูกอ้อย ราคาอ้อย การซื้อขายอ้อย การผลิตน้ำตาล และการซื้อ-ขายน้ำตาลทั้งในตลาดอินเดียและระหว่างอินเดียกับต่างประเทศ
ในด้านการผลิตอ้อยสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลนั้น จากการศึกษาของ Madras School of Economics ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พบว่า หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ โรงงานน้ำตาลจะขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้ออ้อย จึงต้องขอให้รัฐบาลให้การช่วยเหลือ โดยยังคงมีเงินคงค้างใน การจ่ายเงินให้กับเกษตรกรไร่อ้อยจำนวนมาก และยังทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการปลูกอ้อยลดลง นอกจากนี้ อินเดียยังประสบปัญหาผลผลิตอ้อยต่อพื้นที่ต่ำด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล
แม้จะประสบปัญหาหลายประการ แต่อินเดียยังมองเห็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมทั้งการพัฒนาตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศด้วย
จากข้อมูลของ Indian Sugar Mill Association ระบุว่า ในปี ๒๕๕๘ ปริมาณการบริโภคน้ำตาลของอินเดียมีรวม ๒๔.๘ ล้านตัน เนื่องจากประชากรอินเดียเพิ่มขึ้นและเติบโตตาม GDP ของอินเดีย ขณะที่ในตลาดต่างประเทศ อินเดียทำได้ดี โดยเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่เช่นกัน โดยติดอันดับสามของโลก รองจากบราซิลและไทย
โดยในช่วงปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ อินเดียส่งออกน้ำตาลไปยังต่างประเทศ รวม ๒.๑๒ ล้านตัน และปี ๒๕๕๗-๒๕๕๘ รวม ๑.๐๑ ล้านตัน
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ตลาดน้ำตาลภายในประเทศของอินเดียประสบปัญหาสำคัญ คือ อินเดียมีการบริโภคน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นมากจนผลผลิตภายในประเทศเกือบไม่เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งยังมีปัญหาผลผลิตตกต่ำด้วย แต่ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลของอินเดีย ยังลังเลที่จะอนุญาตให้มีการนำเข้าจากต่างประเทศ
สาเหตุที่ผลผลิตน้ำตาลลดลง ก็เนื่องจากผลผลิตอ้อยในอินเดียในช่วงการผลิตของปี ๒๕๕๙-๒๕๖๐ ลดลง ซึ่งมีรายงานว่าผลผลิตน้ำตาลลดลงถึง ๒๒ ล้านตัน หรือร้อยละ ๔.๓
ซึ่งปัญหาขาดแคลนผลผลิตอ้อย เกิดเนื่องจากภัยแล้ง ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลหลายโรงต้องปิดตัวลง
และการที่ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลของอินเดียยังลังเลที่จะขอให้รัฐบาลเปิดทางให้มีการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปีนั้น ก็เนื่องจากเกรงว่า จะส่งผลกระทบเกษตรกรและโรงงานผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศโดยรวม
โดยผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลได้โอดครวญว่า ปัจจุบัน ราคาน้ำตาลที่ลดต่ำลง เหลือประมาณที่ ๓๖-๓๗ รูปีต่อกิโลกรัม ก็เกือบจะทำให้โรงงานขาดทุนอยู่แล้ว
นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้มีการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศโดยไม่คิดภาษี แต่ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลของอินเดียก็เชื่อว่า ไม่ได้จูงใจให้มีการนำเข้ามากนัก เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดอินเดียค่อนข้างต่ำมาก ทำให้แทบไม่มี margin เหลือสำหรับน้ำตาลนำเข้า และเห็นว่า ควรชะลอการอนุญาตนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ โดยรอช่วงจังหวะที่เหมาะสม
การพิจารณาการนำเข้าอาจเป็นช่วงหลังของเดือนเมษายน ๒๕๖๐ หรือรอรับทราบผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศบราซิลก่อน ซึ่งปริมาณการนำเข้าอาจมีประมาณ ๔-๕ แสนตัน โดยการนำเข้าอาจจะดำเนินการในเขตอินเดียตะวันตกหรืออินเดียใต้ ซึ่งมีปัญหาขาดแคลนน้ำตาล ไม่ใช่เขตอินเดียตอนเหนือ
ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลมองว่า ช่วงที่จะมีปัญหาว่า ผลผลิตน้ำตาลมีพอจากการผลิตและบริโภคในประเทศหรือไม่ และจำเป็นต้องนำเข้าน้ำตาลหรือไม่นั้น มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาก็ตรงที่ว่า ปริมาณคงเหลือของน้ำตาลภายหลังวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๐ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีน้ำตาลในสต็อคเหลือประมาณ ๓.๗-๔ ล้านตัน นั้น จะเพียงพอหรือไม่สำหรับปี ๒๕๖๐-๒๕๖๑
Current year 2016-17 Sugar Balance Sheet | |
Opening balance (as on 1st Oct, 2016) | 7.75 Mil tons |
Estimated sugar production (as per market reports) | 20.3 Mil tons |
Sugar availability during the season (considering market report) | 28.05 Mil tons |
Estimated sugar consumption (as per current trend) | 24.0 -24.3 Mil tons |
Closing balance (as on 30th Sep, 2017) | 3.7-4 Mil tons |
ที่มา: http://www.indiansugar.com/PDFS/Presentation_on_21.2.17.pdf
นอกจากนี้ อาจจะต้องรอดูผลผลิตอ้อยของช่วงปีนี้ด้วย
สำหรับการผลิตน้ำตาลในฤดูกาลใหม่ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ นั้น Indian Sugar Mills Association คาดว่า ผลผลิตจะลดลง จาก ๒๑.๓ ล้านตัน เป็น ๒๐.๓ ล้านตัน เนื่องจากภัยแล้งในเขตรัฐมหาราษฎระ รัฐกรณาฏกะ รัฐอานธรประเทศ และรัฐเตลังคานา ส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อย และการบริโภคของตลาดอินเดียจะลดลงจากปีที่ผ่านมาคือ ที่ ๒๔.๘ ล้านตัน เป็น ๒๓.๘ ล้านตัน
กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียได้คาดการณ์ไว้เช่นกันว่าในปี ๒๕๖๐ นี้ อุณหภูมิในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมในอินเดียจะมีอุณหภูมิสูงกว่าระดับปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรได้
แนวโน้มที่ออกมาตามที่กล่าวข้างต้น อาจทำให้มีความเคลื่อนไหวเรื่องการนำเข้าน้ำตาลในอนาคต ซึ่งคงต้องรอฟังนโยบายของอินเดียว่า จะอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศหรือไม่ ภายหลังช่วงเดือนเมษายน ๒๕๖๐ ไปแล้ว รวมถึงคงจะต้องติดตามสต็อค และผลผลิตอ้อยของช่วงฤดูกาลนี้ และที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูกาลใหม่ต่อไปอย่างใกล้ชิดว่า ส่งผลต่อการตัดสินใจนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศสู่ตลาดอินเดียหรือไม่ อย่างไร
**************************************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน