ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมไอทีของอินเดียถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลง
ขอบคุณภาพจาก Mint
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในสังคมของอินเดีย ถ้าใครได้ทำงานหรือแต่งงานกับพนักงานบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมไอทีนั้น ถือได้ว่า เป็นชนชั้นที่มีอันจะกินหรือมีสถานะทางสังคมที่ดี มีหน้ามีตา แต่ในช่วงเร็วๆ นี้ มีข่าวคราวการปลดพนักงานในอุตสาหกรรมไอทีออกจำนวนมาก ทำให้สังคมอินเดียและพนักงานในอุตสาหกรรมไอทีเริ่มรู้สึกได้ถึงความไม่มั่นคงในชีวิตเสียแล้ว แม้ว่าก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ช่วงปี 2551-2553 ซึ่งเป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง จะมีการปลดพนักงานในอุตสาหกรรมไอทีของอินเดียไปจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่ข่าวคราวการปลดพนักงานในอุตสาหกรรมไอทีล่าสุดตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน ได้สร้างภาวะสั่นสะเทือนวงการอุตสาหกรรมไอทีของอินเดียมากทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นข่าวการปลดพนักงานของบริษัท Cognizant ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติด้านดิจิทัลเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในอินเดีย บริษัท Wipro บริษัทซอฟแวร์ของอินเดีย บริษัท Infosys บริษัทข้ามชาติด้านไอทีและ outsourcing รายใหญ่ของอินเดีย
Cognizant ได้ประกาศจะลดตำแหน่งงานในอินเดียลง 6,000 ตำแหน่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวคราวว่า Cognizant ได้ขอให้พนักงานในระดับบริหารกว่า 1,000 คน เซ็นต์ใบลาออกจากตำแหน่งโดยสมัครใจไปแล้ว
Wipro เองก็มีแผนที่จะปลดพนักงานออกจากตำแหน่งร้อยละ 10 โดยมีการปลดพนักงานไปแล้ว 600 คน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
Infosys ประกาศว่า มีแผนที่จะลดพนักงานลง 1,000 คน โดยพนักงานกลุ่มแรกที่จะต้องปลดออกคือ กลุ่มพนักงานระดับ 6 หรือสูงกว่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวก Project Manager หรือสถาปนิกออกแบบโครงงาน และมีแผนจะจ้างงานคนอเมริกันมากขึ้น
ล่าสุดต้นเดือนพฤษภาคม บริษัท Tech Mahindra ซึ่งเป็นบริษัทไอทีข้ามชาติของอินเดียเตรียมที่จะปลดพนักงานประมาณ 1,500 คน หรือประมาณร้อยละ 1.2 ของพนักงานทั้งหมด หลายบริษัทที่ปลดพนักงานออกได้ออกมาบอกว่า การปลดพนักงานดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นการปลดพนักงานประจำปี
แต่ข่าวหลายกระแสกลับรายงานความเห็นส่วนใหญ่ว่า การปรับลดพนักงานของบริษัทในอินเดียลงนั้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนมาตรการการอนุญาตให้วีซ่า H-1B แก่คนต่างชาติที่จะเข้าไปทำงานในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย DonaldTrump ที่กำหนดให้บริษัทอเมริกันต้อง "จ้างคนอเมริกันก่อน" (Hire American First) และถ้าจำเป็นต้องว่าจ้างคนต่างชาติ รัฐบาลจะจัดลำดับความสำคัญตามค่าจ้าง โดยคนที่มีค่าจ้างสูงก็มีโอกาสจะได้รับการอนุมัติวีซ่ามากกว่าคนที่ได้รับค่าจ้างต่ำ ซึ่งก็เป็นการกีดกันคนต่างชาติไม่ให้เข้าไปทำงานในสหรัฐฯ เพราะส่วนใหญ่ ค่าจ้างของคนต่างชาติจะน้อยกว่าค่าจ้างของคนอเมริกันนั่นเอง
มาตรการด้านวีซ่าดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไอทีของอินเดียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากบริษัทไอทีของอินเดียส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้บริการด้านวิศวกรรมและการบริการทางเทคโนโลยีแก่บริษัทในสหรัฐฯ เช่น IBM Microsoft และ Citibank ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย H-1B ในการเข้าไปทำงานในสหรัฐฯ ของวีซ่าประเภท H-1B ซึ่งทางการสหรัฐฯ ออกให้ชาวต่างชาติรวมประมาณ 85,000 คนต่อปีนั้น เป็นการออกให้แก่คนอินเดีย
จะว่าไปแล้ว ลำพังเฉพาะนโยบายด้านวีซ่าของสหรัฐฯ ยังไม่น่าจะสร้างความสั่นสะเทือนในเรื่อง การปลดพนักงานเพียงปัจจัยเดียว เนื่องจากอุตสาหกรรมไอทีของอินเดียนั้น ยังคงมีการเติบโตอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 12-14 แต่การก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ของอุตสาหกรรมไอทีน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ
Dr. Vishal Sikka ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท Infosys ได้เคยกล่าวไว้ระหว่างการประชุม World Economic Forum เมื่อต้นปีว่า การพัฒนาเทคโนโลยีมีความจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมไอที โดยเฉพาะเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence- AI) ที่มีพัฒนาการคืบหน้าไปเป็นลำดับ Infosys นั้น สนใจเรื่อง AI มาก ถึงกับได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้โดยเฉพาะ โดยรายงานการศึกษาของ Infosys ระบุว่า องค์กรที่ได้เริ่มใช้หรือมีแผนจะเทคโนโลยี AI จะมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 ภายในปี 2563 สามารถลดต้นทุนได้ร้อยละ 37
การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไอที ก็คือ โมเดลการให้บริการการดำเนินงานทางด้านธุรกิจ (Business Process Outsourcing – BPO) จะเปลี่ยนไปโดย การปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีควบคุมอัตโนมัติ (Automation) เทคโนโลยี AI และระบบ Machine Learning มากขึ้น จากสถานการณ์ดังกล่าว คาดการณ์ว่า อินเดียอาจจะต้องมีการปลดพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 94,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2564
นาย R Chandrashekhar ประธานของบริษัท NASSCOM ซึ่งเป็นบริษัท Software ของอินเดียได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงต่อจากนี้ไป บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมไอทีจะลดขนาดลงและเป็นองค์กรแบบ Lean มากขึ้น โดยในอนาคตจะมีคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 35 ปีทำงานอยู่ในสัดส่วน 2 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมด
ดังนั้น คงหนีไม่พ้นว่า ในอนาคตบริษัทไอทีในอินเดียคงจะคงเหลือพนักงานในตำแหน่งสำคัญเอาไว้ เนื่องจากหลายตำแหน่งสามารถทำงานได้ด้วยระบบอัตโนมัติ
นอกจากนี้ ผู้ที่ทำงานในบริษัทไอทีคงต้องมีทักษะเพิ่มขึ้นในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะจะต้องสามารถทำงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนา AI การใช้งาน Big Data Automation และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย/วิเคราะห์ทางเลือก (Predictive/Prescriptive Analytics)
สงสัยว่า อุตสาหกรรมไอทีของอินเดียได้เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ในช่วงเริ่มต้นแล้วจริงๆ
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน