เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา สายการบินบางกอก แอร์เวย์ เปิดตัวเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ - บังคาลอร์ ซึ่งนับเป็นเส้นทางบินแห่งที่สองในอินเดียของบริษัท หลังจากที่มีกระแสตอบรับอย่างถล่มทลายจากมุมไบ เมืองเศรษฐกิจ เจ้าของฉายา Wall Street แห่งอินเดีย
บางกอกแอร์เวย์มีแผนจะเพิ่มความถี่ในการบินเส้นทางกรุงเทพฯ – บังคาลอร์ จาก 5 วันต่อสัปดาห์เป็นทุกวันภายในเดือนธันวาคม และยังมองโอกาสเติบโตอีกไปที่เมืองหลวงเดลี รวมทั้งเมืองศักยภาพอื่นๆ ทั่วประเทศอินเดีย
การเข้ามาของบางกอกแอร์เวย์เป็นการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างไทยและอินเดียเป็นมากกว่า 320 เที่ยวต่อสัปดาห์ พี่ใหญ่ การบินไทยดำเนินธุรกิจในอินเดียมาหลายทศวรรษอาจจะต้องทำการบ้านหนักขึ้นเมื่อมีผู้เล่นสัญชาติเดียวกันเพิ่มขึ้นมาในตลาด เพราะลูกครึ่งอย่างแอร์ เอเชีย ก็คงไม่นิ่งดูดายเช่นกัน
ในเชิงการปกครองตามภูมิศาสตร์ อินเดียมี 28 รัฐ กับ 7 ดินแดนสหภาพ ขนาดพื้นที่เท่าเดิม แต่จำนวนประชากรที่มีกำลังซื้อไม่ได้หยุดนิ่งไปด้วย จากประมาณการณ์ล่าสุดขององค์การสหประชาชาติประชากรโลกคนที่ 7 พันล้านจะลืมตามาดูโลกในวันที่ 31 ตุลาคม และประชากรโลกจะแตะ 1 หมื่นล้านภายในปี 2643 ปัจจุบันอินเดียมีประชากรราว 1.2 พันล้านคน และรัฐบาลไม่มีนโยบายคุมกำเนิด
การเข้ามาของสายการบินไทยทั้ง 3 บริษัทเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันในอินเดีย และที่สำคัญ การเพิ่มจำนวนเส้นทางและความถี่ในการบินไปยังเมืองอื่นที่ไม่ใช่เมืองไอที เมืองอุตสาหกรรม อย่างบังคาลอร์ เจนไน ไฮเดอราบัด คุชราต มุมไบ และเดลี ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า มีกำลังซื้อก่อพลังสูงขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ประกอบการไทยยังไม่รู้จะเริ่มต้นจากจุดใด การสังเกตเส้นทางการบินของสายการบินต่างๆ มาอินเดียน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในตอนต่อไป เราจะไปสำรวจกันว่าเส้นทางการบินของสายการบินต่างชาติมาอินเดียบอกอะไรเราได้บ้าง
ปิยรัตน์ เศรษฐศิริไพบูลย์