รู้จักเมืองนาสิก เบื้องหลังที่มาของ Sula ไวน์ยอดขายอันดับ 1 ในอินเดีย
เมืองนาสิก อยู่ในรัฐมหาราษฏระ ทางตะวันตกของอินเดีย เป็นเมืองที่มีลักษณะภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการปลูกองุ่นและผลิตไวน์ โดยอุณหภูมิสูงสุดในช่วงหน้าร้อนอาจสูงถึง 42 องศาเซลเซียส และเมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายนจะเป็นช่วงฤดูฝน
ในขณะที่ในหน้าหนาวอุณหภูมิอาจลดลงต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส คล้ายคลึงกับเขตภูมิอากาศแถบเมดิเตอร์เรเนียน โดยปกติจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตองุ่นในเดือน มกราคม และจะเริ่มกระบวนการผลิตทันที โดย Nashik Vintners Pvt. Ltd. ผู้ผลิตไวน์ยี่ห้อ Sula ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในอินเดีย สามารถผลิตไวน์คุณภาพปานกลางออกสู่ตลาดได้ในราวช่วงกลางปี และไวน์คุณภาพดีจะใช้เวลาในกระบวนการผลิตราว 1 ปี เช่นเดียวกับบริษัท York Winery
บริษัท Nashik ผู้ผลิตไวน์ Sula มีเคล็ดลับในการรักษามาตรฐานรสชาดของไวน์บางชนิดโดยการนำเข้าไวน์จากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ มาผสมกับไวน์ที่ผลิตได้ ทำให้ไวน์ของบริษัทมีรสชาดคงที่และปัจจุบันเป็นบริษัทที่มียอดจำหน่ายไวน์สูงที่สุดในอินเดีย โดยบริษัทสามารถผลิตไวน์ได้ถึง 4.5 ล้านขวดต่อปี (ขวด 750 มล.) แบ่งเป็นการขายในตลาดภายในประเทศ ร้อยละ 80 ที่เหลือส่งออกไปยังเอเชียใต้ และตะวันออกกลาง ในขณะที่บริษัท York สามารถผลิตได้ 6 แสน ถึง 7 แสนขวดต่อปี แต่เป็นการส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ อาทิ ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร กว่าร้อยละ 60 ของจำนวนที่ผลิตได้ทั้งหมด
ต่างรัฐ ต่างราคา มีภาษีเป็นตัวแปร
สำหรับราคาของไวน์ชนิดเดียวกันนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามภาษีที่แต่ละรัฐเรียกเก็บ โดยในปัจจุบันรัฐบาลกลางอินเดียกำหนดให้มีการเก็บภาษีไวน์ได้ไม่เกินร้อยละ 25 ทั้งนี้ในส่วนของรัฐมหาราษฏระมีการเก็บภาษีไวน์ในอัตราร้อยละ 20 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นที่เก็บภาษีถึงร้อยละ 40 ถือว่าไวน์มีข้อได้เปรียบในเรื่องภาษีมาก ทำให้เฉพาะในเมืองมุมไบ รัฐมหาราษฏระ มียอดจำหน่ายไวน์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 39 ของทั้งประเทศอินเดีย รองลงมา คือ กรุงนิวเดลีมีเก็บภาษีไวน์ในอัตราร้อยละ 20 เช่นกัน มียอดจำหน่ายไวน์ร้อยละ 23 และอันดับ 3 ที่เมืองบังคาลอร์ รัฐกรณาฏกะ มียอดจำหน่ายไวน์ร้อยละ 9 เท่ากับยอดจำหน่ายในรัฐกัว
การบริโภคไวน์ยังน้อย โอกาสโตอีกโข
การบริโภคไวน์ในประเทศอินเดียมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 77 ของโลก (ข้อมูลปี ค.ศ. 2007) แต่ยังสามารถขยายตัวได้อีกมากตามกำลังซื้อของกลุ่มคนชั้นกลางในอินเดียที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น ในด้านการผลิตมีผู้ผลิตไวน์ในอินเดียมากกว่า 54 บริษัท ทั้งนี้ 52 บริษัทมีฐานการผลิตอยู่ในรัฐมหาราษฏระ (38 บริษัทตั้งอยู่ที่เมืองนาสิก ส่วนที่เหลืออยู่ที่เมืองปูเน่ในเขตที่ติดกับนาสิก) ส่วนที่เหลืออยู่ที่รัฐกรณาฏกะ กัว ปัญจาบ ชัมมูและแคชเมียร์ และทมิฬนาฑู
3 เจ้าใหญ่ครองตลาด
ธุรกิจการผลิตไวน์ในอินเดียในปัจจุบันยอดการผลิตร้อยละ 80 มาจาก 3 บริษัทใหญ่ ได้แก่ 1) Nashik Vintners Pvt. Ltd. ผู้ผลิตไวน์ยี่ห้อ Sula มีฐานการผลิตอยู่ที่เมืองนาสิก 2) บริษัท Chateau Indage Limited ผลิตไวน์ยี่ห้อ Indage มีฐานการผลิตอยู่ที่เมืองปูเน่ และ 3) บริษัท Grover Vinyards Limited ผู้ผลิตไวน์ยี่ห้อ Grover มีฐานการผลิตอยู่ที่เมืองปูเน่ (ข้อมูลปี ค.ศ. 2008) อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตไวน์รายย่อยก็พัฒนาคุณภาพสินค้าและมียอดจำหน่ายสูงขึ้นทั้งในตลาดภายในประเทศอินเดียและตลาดต่างประเทศ และต้องมีการขยายกำลังผลิตขึ้นทุกปีดังเช่นในกรณีของบริษัท York ที่เริ่มผลิตไวน์จำหน่ายได้ครั้งแรกในปี ค.ศ 2008 จำนวน 100,000 ขวด แต่ปัจจุบันมีกำลังผลิตได้ถึง 600,000 - 700,000 ขวดต่อปี และสามารถจำหน่ายได้ทั้งหมด
การแข่งขันของผู้ผลิตไวน์ในอินเดียมีแนวโน้มจะเข้มข้นขึ้น นอกจากอินเดียจะมีตลาดในประเทศรองรับแล้ว การส่งออกไวน์ก็ยังเป็นอีกช่องทางการเติบที่ประเทศไทยไม่ควรมองข้าม
แทบทุกรัฐของอินเดียกำหนดอัตราภาษีของไวน์ที่ผลิตในประเทศต่ำกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอลชนิดอื่นพอสมควร แต่ทั้งนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการกำหนดอัตราภาษีที่เอื้อต่อธุรกิจไวน์ด้วย สำหรับด้านการส่งออกไวน์ อินเดียมีข้อได้เปรียบที่มีตลาดภายในประเทศรองรับในช่วงการเริ่มต้นของธุรกิจไวน์ ในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาคุณภาพและรสชาดขึ้นไปอีก ไวน์อินเดียน่าจะสามารถขึ้นมาเทียบชั้นกับผู้ผลิตไวน์ส่งออกหน้าใหม่ อาทิ ออสเตรเลีย ชิลี และแอฟริกาใต้ ได้อย่างไม่ยากเย็น กอปรกับการมีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมในการปลูกองุ่นพันธุ์ดีเป็นพื้นฐานอยู่ด้วย
ในขณะที่ประเทศไทยเองก็มีพื้นที่เหมาะสมที่สามารถปลูกองุ่นพันธุ์ดีหลายแห่ง และผู้ผลิตไวน์ในประเทศไทยก็มีประสบการณ์ในการผลิตไวน์มาก่อนประเทศอินเดีย หากภาครัฐต้องการสนับสนุนธุรกิจไวน์ของไทยอย่างจริงจัง ก็อาจต้องใช้มาตรการทางด้านภาษีดังเช่นที่อินเดียปฏิบัติ นอกจากนั้น อาจมีโครงการแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงานด้านการผลิตไวน์ระหว่างไทยกับอินเดียในอนาคต ซึ่งจะให้ประโยชน์แก่ผู้อยู่ในธุรกิจไวน์ทั้งสองประเทศอย่างมาก
หมายเหตุ : ข้อมูลจากสมาคมไวน์องุ่นไทย ในปี 2553 ประเทศไทยสามารถผลิตไวน์ได้ประมาณ 597,000 ขวด ยอดขายรวม 217.5 ล้านบาท ยอดขายสูงสุดที่ยี่ห้อ Silverlake
วัฒนชัย นิรันดร
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ