อภัยภูเบศรลุยอินเดีย ชิมลางงาน Destination Thailand
เชื่อว่าในประเทศไทย ไม่มีใคร ไม่รู้จักชื่อ “อภัยภูเบศร” สินค้าภูมิปัญญาไทย โดยคนไทยครองตลาดในประเทศท่ามกลางกระแสการแข่งขันจากผู้ผลิตรายอื่นทั้งในและนอกประเทศ วันนี้ “อภัยภูเบศร” กำลังมีแผนจะก้าวข้ามเขตดินแดนขวานทอง มีปลายทางที่อินเดีย ประเทศที่มีโอกาสการเติบโตมหาศาลแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยความท้าทายที่บีบหัวใจ
และในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้ อภัยภูเบศรจะยกขบวนกันมาทดลองตลาดที่อินเดีย ในงาน Destination Thailand ซึ่งจัดโดยสถานทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐเป็นอย่างดี ทั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นอกจากนี้บริษัทไทยมากมายยังขนสินค้าและบริการมาแนะนำให้ชาวอินเดียรู้จักตลอดงานที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายนนี้ ที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง Select CITY WALK ในเมืองนิวเดลี
แพทย์หญิงวายุพา วงศ์วิกรม กล่าวกับ thaiindia.net ว่า อภัยภูเบศรมองเห็นว่า ตลาดสินค้าส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของอินเดียกำลังได้รับความสนใจอย่างสูง อภัยภูเบศรจึงมีแผนจะเปิดตัวอย่างเป็นระบบ จะเตรียมผลิตภัณฑ์ที่เชื่อว่าจะไปได้ในตลาดอินเดีย และพร้อมจะเจรจากับผู้สนใจในอินเดีย ปัจจุบันได้มีการติดต่อจากระบบขายตรงบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการผูกมัด เชื่อว่าตลาดอินเดียใหญ่มาก มีโอกาสเติบโตสูง หากได้ผู้นำเข้าที่มีประสบการณ์และมีความเข้าใจตลาดอินเดีย ในปี 2553 ที่ผ่านมา อภัยภูเบศรมียอดขาย 200 ล้านบาท หรือเท่ากับเติบโต 20%
ก่อนหน้านี้อภัยภูเบศณรเคยส่งออกผลิตภัณฑ์ไปขายยังประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ 2551 แต่ยังไม่ได้ทำการตลาดส่งออกอย่างจริงจัง การมาอินเดียครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นการส่งออกสู่ตลาดโลกอย่างเป็นระบบ แพทย์หญิงวายุภากล่าว
ปัจจุบันบริษัทไทยที่มาทำธุรกิจในอินเดียมีหลายราย แต่ที่มาลงทุนจริงๆ มากกว่าการซื้อมาขายไปก็มีเพียงบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทพฤกษา เรียล เอสเตท บริษัทร้อกเวิธ บริษัทไทย ซัมมิท ออโต้ ในส่วนของการส่งสินค้ามาขายนั้นมีมากมาย ทั้งที่เป็นแบรนด์ของตัวเองอย่างแม่ประนอม พันท้ายนรสิงห์ หรือรับจ้างผลิตจากบริษัทระดับโลกที่เมืองไทย แล้วส่งมาขายที่อินเดียในตลาดไฮ-เอน ทั้งนี้ไม่นับรวมการหิ้วสินค้าไทยข้ามประเทศมาขายในอินเดียในระดับราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยสามเท่าตัว เช่นถั่วลันเตาขนาด xx ราคา 125 รูปี (ราว 75 บาท) หมากฝรั่ง dent ที่ขายในไทย xx บาท มาตั้งวางที่อินเดียในราคา 100 รูปี
อินเดียมีประชากร 1.2 พันล้านคน เป็นตลาดขนาดใหญ่ก็จริง แต่ผู้เล่นในประเทศก็มีความเข้มแข็งทีเดียว ดังนั้นการทำ market segmentation เจาะกลุ่มลูกค้าจึงต้องมีการวางแผนให้ดี เพราะถ้าทะลุทะลวงมาได้ ลูกค้าจะเพิ่มเป็นทวีคูณในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะสังคมคนอินเดียเป็นสังคมครอบครัว เครือญาติ ข่าวสารต่างๆ จะถูกกระจายต่อในเวลาอันรวดเร็ว และที่สำคัญ คนอินเดียนิยมบ่งบอกสถานะด้วยการประดับตกแต่ง ดังนั้น โอกาสมีให้เห็นอยู่ตรงหน้า แต่จะคว้าได้หรือเปล่า คงต้องทำการบ้าน ออกแรงกันพอสมควรทีเดียว
รู้จักอภัยภูเบศร
สมุนไพรอภัยภูเบศร ได้รับการสนับสนุนจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข กร ทัพพะรังสี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ ท่านมีนโยบายสนับสนุนภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย แพทย์แผนโบราณ ออกพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมแพทย์แผนไทย เพื่อปกป้องรักษาสมุนไพรไทย ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ใช้เป็นยาและอาหารเสริมทางเลือกใหม่ ผู้ที่รับงานมาดำเนินการจนเป็นผลสำเร็จ จากคุณค่าของสมุนไพรและสรรพคุณที่ดีเป็นการเดินตลาดในระยะเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน คือ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
ยาสมุนไพรตำรับแรก
ปี พ.ศ. 2529 ความรู้ที่ได้รวบรวมและสั่งสมมาจากพืชสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย ได้กลายมาเป็นยาตำรับ “กลีเซอรีนเสลดพังพอนตัวเมีย” เพื่อร่วมกับกุมารแพทย์ในการรักษาโรคเริมในปากให้กับเด็ก และนั่นนับเป็นครั้งแรกที่มีการผลิตยาสมุนไพรไทย โดยนำกรรมวิธีและสารที่ใช้ในการแพทย์แผนปัจจุบันมาผลิตเป็นยาสมุนไพรในรูปแบบใหม่ จากนั้นโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงได้ทำการผลิตยาจากสมุนไพรอื่นๆ พร้อมทั้งทำการศึกษาวิจัยผลการใช้ทางคลินิกภายใต้โครงการ GTZ ที่สนับสนุนโดยประเทศเยอรมนี ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ชุมเห็ดเทศ ปัจจุบันน่าจะเป็นสมุนไพรที่ผู้คนคุ้นหูคุ้นตา แต่การพัฒนานั้นไม่ได้มุ่งเน้นเพียงเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ แต่ยังทำการพัฒนาในเรื่องของเครื่องมือในการผลิตที่เหมาะสม ด้วยเทคโนโลยีที่เรียบง่าย และการทดสอบเอกลักษณ์ของสมุนไพรเพื่อเป็นการประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์
ก้าวแรกของยาสมุนไพรครบวงจร
ปี พ.ศ.2540-2541 เมื่อประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การพึ่งตนเองด้านการดูแลสุขภาพจึงเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รัฐบาลได้เล็งเห็นศักยภาพและมอบโอกาสแก่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรให้การสนับสนุนในการจัดทำโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างครบวงจร โดยทำการศึกษาตั้งแต่กระบวนการปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพร การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ไปจนถึงการจำหน่าย มีการเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร
จากโครงการนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้การพัฒนาสมุนไพรของโรงพยาบาลเชื่อมโยงกับชุมชนในฐานะเป็นผู้ผลิตสมุนไพร ภายใต้แนวคิด ระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยของทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนหรือกลุ่มเกษตรกรไปพร้อมกัน โดยกำหนดเงื่อนไขที่จะรับซื้อวัตถุดิบสมุนไพรจากกลุ่มหรือชุมชนเท่านั้น แทนที่จะส่งเสริมให้เอกชนรายใหญ่ที่มีทุนเป็นผู้ผลิต แต่วัตถุดิบที่ชุมชนผลิตต้องมีคุณภาพตามที่กำหนด โดยโรงพยาบาลได้เข้าไปฝึกอบรมให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้ ในขณะเดียวกันก็มีการตกลงราคาและปริมาณรับซื้อล่วงหน้า โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดราคาเพื่อให้เป็นความธรรม
กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง
ชุมชนต้นแบบที่สนใจในการพัฒนาการปลูกสมุนไพรระบบเกษตรอินทรีย์ ในการพัฒนากลุ่มสมุนไพรมีเภสัชกรของโรงพยาบาลเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้และสรรพคุณสมุนไพร และแนะนำวิธีเก็บเกี่ยวและการทำให้แห้ง เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ มีการจัดกิจกรรมโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม มีการเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับระบบนิเวศในแปลง การบำรุงดิน การพัฒนาวิธีการปลูก การจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ ด้วยการทดลองปลูกในแปลง รวมถึงการพัฒนาการแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการปลูกและปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว จากความร่วมมือในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนในปี 2545 กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบังจึงได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์โดยการตรวจสอบรับรองของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และได้รับการตรวจสอบว่ามีมาตรฐานทัดเทียมกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติหรือที่เรียกกันย่อว่าIFOAM(International Federation of Organic Agriculture Movements)
การจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ปี 2545 ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรขึ้น เพื่อให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล สามารถนำยาไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และวางจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้การบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการบริหารของมูลนิธิ โดยได้มีมติให้จัดสรรผลกำไรของมูลนิธิ โดยแบ่งกำไรร้อยละ 70 มอบให้ โรงพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นของมูลนิธิที่จะใช้ในการพัฒนาสมุนไพรและดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม
เพื่อรองรับการพัฒนาและการผลิตที่มีคุณภาพในปี 2546 มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงได้ก่อสร้างโรงงานสำหรับผลิตยา จัดซื้อเครื่องจักรสำหรับการผลิต เครื่องมือตรวจวิเคราะห์คุณภาพ รวมทั้งห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา พร้อมพัฒนากระบวนการผลิต ในปีนี้เอง โรงงานผลิตจึงได้รับการ รับรองมาตรฐานตามหลักเกณฑ์การผลิตที่ดี หรือ GMP (Good Manufacturing Practice) และได้รับการรับรองอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยที่มูลนิธิได้พยายามพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต การตรวจวิเคราะห์ทั้งในหมวดของยา อาหาร และเครื่องสำอาง ปัจจุบันมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้รับรอง GMP ในหมวดเครื่องสำอาง ยาแผนโบราณ และอาหารประเภทเครื่องดื่ม ครอบคลุมกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์และทั้งหมดได้รับการรับรองประเภท 2 ปี
จากคุณประโยชน์ของสมุนไพรหลายชนิดที่เริ่มหายไปจากความรู้ของชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีความตั้งใจที่จะมีการอนุรักษ์หรือขยายพันธุ์ แทนที่จะถอนทิ้งทำลายเพราะไม่รู้จักคุณค่า และมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ทำให้เกิดยาจากสมุนไพรในรูปแบบใหม่ ที่เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาไทยกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรในโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ทำให้ศักยภาพของสมุนไพรเป็นที่ยอมรับ และพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้ขยายไปมากกว่ามิติที่เน้นสรรพคุณด้านยา ทำให้ผู้บริโภคและคนรุ่นใหม่ยอมรับประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น การใช้เป็นเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง จึงเป็นการนำคุณค่าของสมุนไพรกลับมาสู่วิถีชีวิตในสังคมสมัยใหม่
ปิยรัตน์ เศรษฐศิริไพบูลย์