Indian School of Business วิทยาลัยบริหารธุรกิจระดับโลกที่ต่างชาติกำลังเบนเข็มเข้าหา
วันนี้ใครๆ ก็กำลังหันทิศมาที่จีนและอินเดีย
วิทยาลัยบริหารธุรกิจที่ดีที่สุดในโลกจากการจัดอันดับโดยไฟแนนเชียล ไทมส์ มีวิทยาลัยจากจีน 2 แห่ง และอินเดีย 2 แห่ง ติดใน 20 อันดับแรก หนึ่งในนั้นก็คือ อินเดียน สคูล ออฟ บิสสิเนส (Indian School of Business หรือ ISB) เจ้าของตำแหน่งวิทยาลัยบริหารธุรกิจที่ดีที่สุดในโลกอันดับที่ 13 โดยในแต่ละปีมีนักศึกษาจากทั่วโลกแข่งขันกันเพื่อเข้าเรียนที่นี่ และมีผู้บริหารหลายร้อยรายแวะเวียนมาเยี่ยมชมและเข้าคอร์สอบรมหลักสูตร แม้จะไม่มีสถาบันบริหารธุรกิจของไทยติดอันดับจากการสำรวจของไฟแนนเชียลไทม์ แต่ปัจจุบันทางศศินทร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีโครงการความร่วมมือกับ ISB
คณะกรรมการทั้ง 32 ท่านของ ISB มาจากบริษัทที่ดีที่สุดจากเกือบทุกภาคส่วนของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำด้านการสื่อสารอย่าง Bharti และ Reliance, ธนาคาร ICICI ซึ่งมีสินทรัพย์มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอินเดีย, เจ้าพ่อวงการเหล็ก Arcelor Mittal, ผู้ผลิตจักรยานยนต์ยอดขายสูงสุด 2 อันดับแรก Hero Honda และ Bajaj และบริษัทยาอย่าง Biocon และ Dr. Reddy’s Laboratories ซึ่งทั้งหมดพร้อมจะให้การสนับสนุนในด้านการส่งเสริมให้เกิดนวัตรกรรมทางความคิด
ISB นำเสนอหลักสูตรการบริหารที่ทำให้เข้าใจการทำธุรกิจในอินเดีย เป็นศูนย์กลางเครือข่ายที่นักศึกษาและผู้บริหารสามารถขยายความร่วมมือต่อไปได้ในอนาคต โดยนอกจากหลักสูตรปกติแล้ว ทาง ISB ยังจัดหลักสูตรเฉพาะสำหรับติวเข้มผู้บริหารองค์กรต่างๆ เป็นกรณีพิเศษอีกด้วย ดังนั้นหากคำนึงถึงคุณภาพ และค่าใช้จ่ายแล้ว ISB อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยนักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการไทยที่อยากจับทางอินเดีย ให้สามารถเข้าใจตลาด 1.2 พันล้านคนนี้มากขึ้น
รายชื่อคณะกรรมการ ISB ล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของอินเดีย
หลังจากที่มีการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานจีน ทางการอินเดียจึงประกาศกฎเหล็กสกัดแรงงานต่างชาติโดยกำหนดรายได้ขั้นต่ำ 25,000 เหรียญต่อปีสำหรับการออกวีซ่าการทำงานให้ลูกจ้างต่างชาติหนึ่งราย นอกจากนี้ หากบริษัทใดมีพนักงานคนไทยเกิน 20 คน ก็ต้องสมทบเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือน และไม่สามารถจะไถ่ถอนคืนได้จนกว่าพนักงานจะอายุ 58 ปี
นอกจากกฎระเบียบตามตัวอักษร การทำธุรกิจในอินเดียอาจมีอุปสรรคที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น การถูกเรียกตรวจสอบคุณภาพ การต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการนับสิบๆ รายการ
ปัญหาเรื่องการซื้อที่ดิน ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญสำหรับนักธุรกิจทุกชาติ นอกจากกฎระเบียบที่กำหนดขนาดพื้นที่ขั้นต่ำของโครงการ การกำหนดพื้นที่สีเขียว ระบบการจัดการน้ำเสีย การตกลงขายที่ดินต้องได้รับการยินยอมจากคนในครอบครัวหลายชั่วโคตร แต่ที่ปวดใจที่สุด คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากได้ที่ดินมาเรียบร้อยแล้ว ไม่เว้นแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดียเองอย่าง บริษัททาทา มอเตอร์ส ที่ต้องระงับโครงการผลิตรถนาโนมูลค่า 350 ล้านเหรียญในรัฐเวสท์ เบงกอล ทั้งๆ ที่เกือบจะพร้อมเดินเครื่องผลิตแล้ว
บรรยากาศวิทยาลัยช่วงปิดภาคเรียน บริเวณลานเชื่อมต่ออาคาร
เนื่องจากยึดถือว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย สหภาพแรงงานที่อินเดียจึงค่อนข้างมีบทบาท และมีเรื่องชวนให้เวียนหัวอยู่ได้บ่อยๆ บริษัทไทยเราบางรายก็เคยถูกนัดประท้วงหยุดงานทำให้การผลิตชะงักไปพอสมควร นักธุรกิจในอินเดียให้ความเห็นว่ารัฐที่มีปัญหาเรื่องสหภาพแรงงานน้อยที่สุดคือ รัฐคุชราต ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์แห่งใหม่ของอินเดีย ตามมาด้วยรัฐราชสถาน และรัฐปัญจาบ สำหรับบริษัทไทย ปัจจุบัน มีเพียงบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เท่านั้นที่มีแนวโน้มจะขยายธุรกิจมาที่ปัญจาบ ในส่วนของบริษัทผลิตชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ ไทย ซัมมิทพร้อมไปตั้งโรงงานขนาบผู้ผลิตรถยนต์เสมอ หากลูกค้าต้องการ
ไม่ว่าจะเป็นการลุยเดี่ยว หรือหาคู่ค้าบริษัทท้องถิ่นก็ได้ประสบการณ์ที่ต่างกันไป ต่อให้จบปริญญาโท ปริญญาเอกบริหารธุรกิจจากอเมริกา หรือยุโรป ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะเข้าใจการทำธุรกิจในอินเดีย ดังนั้น หากสนใจจะมาทำธุรกิจในอินเดียจริง ต้องมาเรียนรู้เองอย่างไม่ประมาท
ปิยรัตน์ เศรษฐศิริไพบูลย์